posttoday

ถอยโรงไฟฟ้าถ่านหิน ลดแรงต้าน เลี่ยงศึกสองด้าน

21 กุมภาพันธ์ 2560

สุดท้ายการเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ก็มีอันต้องสะดุดและกลับไปเริ่มต้นกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สุดท้ายการเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ก็มีอันต้องสะดุดและกลับไปเริ่มต้นกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) กันใหม่อีกรอบ เมื่อรัฐบาลเตรียมประกาศยกเลิกรายงานในวันที่ 21 ก.พ.นี้

เรียกได้ว่าเป็นการถอยกลับไปตั้งหลักกันใหม่อีกรอบหลังแนวต้านเปิดเกมรุกหนัก จนทำให้ความพยายามผลักดันรอบนี้ต้องเป็นหมัน ไม่อาจเดินหน้าไปสู่เป้าหมายอย่างที่ตั้งใจได้สำเร็จ

จับสัญญาณจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ ​17 ก.พ.ที่ผ่านมาจะมีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 800 เมกะวัตต์ สะท้อนให้เห็นว่ารอบนี้ดูจะเอาจริงกว่าทุกครั้ง

​เพราะก่อนหน้านี้ช่วงที่มีเสียงค้านรุนแรง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เคยมีมติ​​เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จ.กระบี่ ออกไปก่อนเพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ ​

การเดินหน้ารอบนี้จึงมีความ​พยายามชูข้อมูลเรื่องที่ชุมชนในพื้นที่ให้การยอมรับ และปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

อีกด้านยังสะท้อนสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ล่าสุดที่พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2559 อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ ขณะที่ผลิตไฟฟ้าได้ 3,089.5 เมกะวัตต์ โดยภาคใต้มีอัตราเติบโตของการใช้ไฟฟ้าถึง 4.7% ต่อปี หากยังเป็นเช่นนี้ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนไฟฟ้าในอนาคต

ปัญหาอยู่ที่กลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จ.กระบี่ ในนามเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ออกมาเคลื่อนไหวพร้อมนัดรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล และมีแนวร่วมออกมาเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อย ถึงขั้นทำให้รัฐบาลไม่กล้าผลีผลามฝ่าเสียงต้านที่แข็งข้อขึ้นเรื่อยๆ

เหตุผลสำคัญคือเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีหลักประกันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างนั้นมีมาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านครบถ้วนที่จะไม่สร้างปัญหาในอนาคตหรือไม่

ยิ่งพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งอาหารทางทะเลที่สำคัญ หากเกิดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในอนาคตย่อมสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ที่จะเป็นการได้ไม่คุ้มเสียกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีเสียงเรียกร้องให้ไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ​

พิจารณาจากแนวร่วมคัดค้านรอบนี้ ไม่ใช่ขาประจำที่คัดค้านรัฐบาลไปเสียทุกเรื่อง แต่เป็นกลุ่มที่ติดตามการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ​การออกมาส่งสัญญาณคัดค้านจริงจังจึงทำให้พลังต่อต้านมีน้ำหนักมากขึ้น

ด้วยแนวร่วมที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังแกนนำเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ทั้ง ประสิทธิ์ชัย หนูนวล อัครเดช ฉากจินดา​ ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร ยิ่งทำให้รัฐบาลดูเสียรังวัดกับการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ จนต้องรีบออกมาพักยกแผนการก่อสร้างอีกรอบ

“รัฐบาลมีหน้าที่หาแหล่งพลังงาน ส่วนแหล่งพลังงานจะสร้างได้หรือไม่อยู่ที่พี่น้องประชาชน เมื่อจะทำ EIA กันใหม่ จะเป็นจากถ่านหินหรืออะไรนั้น เป็นเรื่องที่พวกท่านไปหารือกัน” พล.ท. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ออกมาชี้แจงหลังรัฐบาลส่งสัญญาณยอมถอย​ และผู้ชุมนุมได้สลายตัวในทันทีทำให้​บรรยากาศความตึงเครียดได้คลี่คลายลงไป

วิเคราะห์แล้วสาเหตุที่รัฐบาลยอมถอยรอบนี้ประเด็นแรกเพราะต้องการลดแรงเสียดทานที่มากขึ้นเรื่อยๆ และบางส่วนยังเคยเป็นกลุ่มที่สนับสนุน คสช. ในช่วงแรก ​การต้องผลักมิตรไปเป็นศัตรู ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในสถานการณ์ ที่กำลังสุ่มเสี่ยงและเปราะบาง

แถมคะแนนนิยม คสช.เวลานี้เริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ทั้งจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ไม่สามารถปราบได้อย่างจริงจัง ทั้งการปฏิรูปและปรองดองที่ยังไม่เห็นความชัดเจน ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าหนักขึ้นเรื่อยๆ การมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากระทบกับรัฐบาล คสช.ย่อมไม่ใช่เรื่องดี

สำคัญที่สุดเวลานี้รัฐบาลกำลังลุยงานใหญ่เดินหน้าเตรียมปิดเกม บุกค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อติดตามตัวพระ​ธัมมชโยมาดำเนินคดี จนทำให้เครือข่ายศิษยานุศิษย์เปิดหน้า​ออกมาตอบโต้ ที่ชวนให้คิดว่ากำลังจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ถล่มใส่รัฐบาล

เมื่อจำนวนลูกศิษย์ลูกหาวัดพระธรรมกายเองก็มีอยู่ไม่น้อย การเข้าไปดำเนินการใดๆ ย่อมนำไปสู่แรงกระเพื่อมที่จะย้อนกลับมาเขย่าเสถียรภาพของ คสช.ได้อย่างรุนแรงหากปล่อยปละให้เกิดความหละหลวมหรือนำไปสู่การกระทบกระทั่งจนควบคุมไม่อยู่ ​

ลำพังแค่ต้องไล่ติดตามควานหาตัวพระธัมมชโยท่ามกลางความคาดหวังของสังคมก็เป็นแรงกดดันที่ทาง คสช.​ต้องแบกรับแล้ว หากยังเกิดแรงกระเพื่อมจากความรุนแรงที่จะตามมาอีกย่อมมีแต่จะสร้างความเสียหายรุนแรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

การยอมถอยปมร้อนอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปก่อนในช่วงเวลานี้จึงถือเป็นการลดแรงเสียดทานเพื่อไม่ให้รัฐบาล คสช.ต้องมาเผชิญกับศึกสองด้าน ซึ่งมีแต่จะเพิ่มแรงกดดันและทำให้การรับมือแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก