posttoday

อภิสิทธิ์ ถก ฮุนเซน ก้าวสำคัญฟื้นสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

06 กันยายน 2553

ความสัมพันธ์ไทย–กัมพูชา เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ภายหลัง “กัมพูชา” ปลด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไทย พ้นตำแหน่งที่ปรึกษากัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวฮุนเซน แบบไม่สน “จุดยืน” เดิมที่เคยแสดงออกชัดเจนว่าเลือกข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ

ความสัมพันธ์ไทย–กัมพูชา เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ภายหลัง “กัมพูชา” ปลด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไทย พ้นตำแหน่งที่ปรึกษากัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวฮุนเซน แบบไม่สน “จุดยืน” เดิมที่เคยแสดงออกชัดเจนว่าเลือกข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

 

อภิสิทธิ์ ถก ฮุนเซน ก้าวสำคัญฟื้นสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

ทั้งการเปิดสัมพันธ์การทูตเต็มรูปแบบ 2 ประเทศส่งเอกอัครราชทูตกลับเข้าทำหน้าที่ตามเดิม ล่าสุด ประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ จะสามารถเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้งแด่กษัตริย์กัมพูชาในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ภายใต้การประสานงานของฮุนเซน

ตามมาด้วยการรุกต่อเนื่อง ส่ง องอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ไปกระชับความสัมพันธ์กับ ฮุนเซน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น แถมผุดไอเดีย “ฮอตไลน์” ระหว่างรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเพื่อให้ติดต่อกันได้โดยตรง สามารถสร้างความเข้าใจแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

แน่นอนว่า “ปัจจัย” สำคัญที่ทำให้กัมพูชากลับลำมาญาติดีกับ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงขั้น เอ่ยปากชมว่า เป็นคนหนุ่มที่มีคุณลักษณะที่ดีมาก พร้อมส่งกำลังใจมาให้ว่าไม่ต้องไปกังวลเรื่องคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหนุ่มแล้วจะทำงานไม่ได้ เพราะฮุนเซนบอกว่าเขาเองก็เป็นนายกฯ ตั้งแต่อายุ 32 ปี

หนีไม่พ้นเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารที่ยืดเยื้อลุกลามไปสู่ปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา และล่าสุดต้องเว้นวรรคไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศบราซิล หลังจากไทยยืนยันท่าทีคัดค้านแบบหัวชนฝา จนทำให้กัมพูชาต้องเปลี่ยนท่าทีพร้อมเจรจาแก้ปัญหาข้อพิพาท ดังจะเห็นตามท่าทีที่ดีขึ้นระหว่างสองประเทศตามลำดับ

ทว่าก้าวสำคัญที่สุดในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อยู่ที่การพูดคุยกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่าง นายกฯ อภิสิทธิ์และนายกฯ ฮุนเซน เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร

หลังจากที่ปัญหาความสัมพันธ์ที่ลุกลามจนย่ำแย่ด้วยหลายปัจจัย จนไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยเฉพาะติดเงื่อนไขที่ท่าทีของผู้นำทั้งสองประเทศ ที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้พูดคุยกันอย่างจริงจัง

จนล่าสุดสัญญาณทุกอย่างพร้อม มีแนวโน้มว่าการเจรจาระหว่างนายกฯ ทั้งสองประเทศจะเกิดขึ้นระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐ ตามที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ส่งเทียบเชิญมายังผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหรัฐอาเซียน ครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ย.นี้

จากเดิมเคยกำหนดไว้ว่าจะเกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดเอเชียยุโรป (อาเซ็ม) ที่ประเทศเบลเยียม เดือน ต.ค.นี้ ซึ่งอาจดูจะไม่ทันใจทั้งสองประเทศ

ทุกอย่างดูจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจาก สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เดินทางเข้าพบกับนายกฯ ฮุนเซน และฮอนัมฮง รมต.ต่างประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการพูดคุยกว่า 2 ชั่วโมงเป็นไปอย่างไร แต่ผลลัพธ์ด้านความสัมพันธ์หลังจากนั้นดูจะดีขึ้นในแทบทุกด้าน

ทั้งการปลด พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นตำแหน่งที่ปรึกษาในวันที่ 23 ส.ค. ตามมาด้วยการฟื้นสัมพันธ์การทูตของทั้งสองประเทศกลับมาประจำการ และสุดท้ายนำมาสู่การพูดคุยระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ ซึ่งนายกฯ ฮุนเซนส่งสัญญาณพร้อมเจรจา หาทางออกร่วมกันในประเด็นข้อพิพาท

โดยเฉพาะหลังจากคำยืนยันของแหล่งข่าวระหว่างสองประเทศว่า กรณีพิพาทด้านพรมแดนไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินกว่าจะควบคุมได้ แม้ประเด็นนี้จะกลายมาเป็น “ตัวประกันทางการเมือง” ก็ตาม

ทั้งนี้ ในความพยายามแก้ไขสถานการณ์ นายกฯ ฮุนเซนได้หยิบยกเรื่องพื้นที่หลายร้อยกิโลเมตรในบริเวณชายแดนระหว่างสองประเทศยังไม่ได้มีการสำรวจหรือไม่มีการแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน อีกทั้งความพยายามแก้ไขปัญหาชายแดนที่ล้มเหลวเพราะยังขาดความเชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม ในกรอบการเจรจาระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศเพื่อหาทางออกในประเด็นปัญหาจะประกอบด้วย

เรื่องแรก ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับความจริงพื้นฐานที่ว่า ไม่มีพรมแดนที่กำหนดไว้ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันเดินหน้ากำหนดเขตแดน

เรื่องที่สอง ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการยับยั้งการเคลื่อนไหวของกองทัพ และเลี่ยงการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่จะนำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือท่าทีใดๆ ก็ตามที่เป็นการเพิ่มแรงกดดันบริเวณพรมแดนของทั้งสองประเทศ

เรื่องที่สาม อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทางเทคนิคค้นหากระบวนการในการเดินหน้าแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นการเดินหน้า เมื่อเป็นความพึงพอใจภายใต้กรอบข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ ซึ่งความเห็นชอบนี้จะทำให้กระบวนการสู่ความคลี่คลายเริ่มต้นขึ้นได้

เรื่องที่สี่ ทั้งสองฝ่ายควรตกลงที่จะแลกเปลี่ยนทูตระหว่างกัน ซึ่งตามปกติแล้วกรณีพิพาทจะเต็มไปด้วยอารมณ์ของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นการแลกเปลี่ยนผู้คนระหว่างสองฝ่ายควรจะได้รับการส่งเสริม

โดยประเด็นทั้งหมดนี้ แหล่งข่าวจากทางพนมเปญระบุว่า นายกฯ ฮุนเซนเต็มใจยอมรับประเด็นเหล่านี้ และเต็มใจที่จะพบกับนายกฯ อภิสิทธิ์ เพื่อหารือในประเด็นเหล่านี้ด้วย

สอดรับกับท่าทีก่อนหน้านี้ของทาง “กัมพูชา” ต่อกรณีความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ ฮุนเซน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่แม้นายกฯ ฮุนเซนจะยืนยันว่า “เขาไม่สามารถทิ้งทักษิณได้”

แต่ท่าทีหลังจากแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษากัมพูชา กลับพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้เดินทางมายังกัมพูชา หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาแต่อย่างใด และตามรายงานข่าวจากทางกัมพูชาที่อ้างคำพูดนายกฯ ฮุนเซน ยังพบว่าช่วงที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในไทยช่วงเดือน พ.ค.นั้น พ.ต.ท.ทักษิณได้ร้องขอที่จะเดินทางเข้ามายังกัมพูชา แต่นายกฯ ฮุนเซนได้ร้องขอไม่ให้อดีตนายกฯ เดินทางเข้ามายังกัมพูชา

รวมไปถึงเรื่องที่รับรู้กันทั่วไปว่ามีคำสั่งไม่ให้มีการเคลื่อนไหวกำลังพลในพื้นที่ชายแดนในช่วงที่เกิดความวุ่นวายในเดือน พ.ค. เพราะอาจเป็นการสร้างความเข้าใจผิดได้ และอีกทั้งแจ้งเตือนไปยังชาวกัมพูชาที่พำนักอยู่ในไทยไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องในการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง

ที่สำคัญการออกมายืนยันจากทางนายกฯฮุนเซนว่าไม่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับทางนายกฯ อภิสิทธิ์ พร้อมพูดคุยแก้ปัญหาข้อพิพาท จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีกับก้าวสำคัญที่ทั้งสองประเทศจะได้ฟื้นคืนความสัมพันธ์ให้กลับคืนมา