posttoday

รีดลงทุนรัฐวิสาหกิจ-อปท. ท่อยังตันดันจีดีพีโตยาก

17 กุมภาพันธ์ 2560

เศรษฐกิจปี 2560 ยังฝากความหวังไว้กับการลงทุนภาครัฐเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าจะขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 4-5% ตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

เศรษฐกิจปี 2560 ยังฝากความหวังไว้กับการลงทุนภาครัฐเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าจะขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 4-5% ตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่

แม้ว่ากระทรวงการคลังจะคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ขยายตัวได้ 3.1-4.1% ดีกว่าปี 2559 ที่โต 3.2% เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกเริ่มฟื้นตัว แต่ภาครัฐก็ยังฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเต็มที่ โดยปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลตั้งงบขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท เป็นงบลงทุนสูงถึง 5.4 แสนล้านบาท และทำงบกลางปีเพิ่มอีก 1.9 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงทุนอีก 1.6 แสนล้านบาท ผ่านโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดทั่วประเทศเป็นสำคัญ

สอดคล้องกับการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นั่งเป็นประธานประชุมล่าสุด ที่มีการประเมินว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือโครงการที่จะเพิ่มเข้ามาในปีนี้ 28 โครงการ มูลค่ารวม 8 แสนล้านบาท จะเบิกจ่ายได้ 10% คิดเป็น 8 หมื่นล้านบาท และโครงการต่อเนื่องจากปี 2559 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท จำนวน 20 โครงการ ที่ยังเบิกจ่ายไม่หมด โดยคาดว่าปีนี้จะเบิกจ่ายได้อีก 1.6 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งที่ผ่านมายังมีปัญหาการเบิกจ่าย ทำให้รัฐบาลต้องเร่งปิดจุดอ่อน โดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจเร่งร่วมมือกันลงทุนเหมือนปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน และภาคเอกชนไทยยังไม่กล้าเริ่มลงทุนใหม่

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า รัฐบาลสั่งให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน โดยต้องเบิกให้ได้ 95% ของงบลงทุนทั้งปี และให้เลื่อนการลงทุนให้เร็วขึ้น (Front Load) รวมถึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

ทั้งนี้ งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ปี 2560 มีจำนวน 3.71 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 20% จากมาตรการของรัฐบาลที่ให้เร่งโครงการลงทุนใน 1-2 ปีข้างหน้าให้เร็วขึ้น หรือ Front Load โดยปี 2559 รัฐวิสาหกิจมีวงเงินลงทุน 2.97 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2.37 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.04% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจปี 2559 ขยายตัวได้ 3.2%

นอกจากการเร่งลงทุนรัฐวิสาหกิจแล้ว รัฐบาลยังเร่งการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีเม็ดเงินลงทุนอยู่จำนวนมากที่ยังไม่เบิกจ่าย โดยการเร่งลงทุนของ อปท.จะได้ทั้งพยุงเศรษฐกิจฐานรากและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ล่าสุด กรมบัญชีกลาง ได้ประชุมคณะกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการคลังท้องถิ่น เพื่อหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการคลังท้องถิ่นและแผนการปฏิบัติงาน ในปีงบประมาณ 2560-2564 และร่างแบบประเมินประสิทธิภาพการคลังท้องถิ่น ผ่านคณะกรรมการผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของ อปท. เพราะได้รับจัดสรรงบจำนวนมาก และในการจัดทำงบกลางปี 2560 เพิ่มอีก 1.9 แสนล้านบาท ก็มีงบกลุ่มจังหวัดอีก 1 แสนล้านบาท ที่บางส่วนเป็นโครงการลงทุนผ่าน อปท.

หากดูงบการเงินของ อปท. พบว่า สิ้นปีงบประมาณ 2559 อปท.มีเงินฝากรวม 4.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีงบประมาณที่แล้ว 3.6% ประกอบด้วยเงินฝากคลัง 316 ล้านบาท และเงินฝากในธนาคารอีก 4.32 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นเงินสดที่กองไว้เฉยๆ ทั้งที่เม็ดเงินเท่ากับงบลงทุนของประเทศ 1 ปี หากนำมาเร่งใช้จ่ายเพื่อลงทุนจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกมาก

ขณะที่ ดุลการคลังของ อปท. ปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา อปท.มีรายได้ 6.02 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 5,712 ล้านบาท หรือ 0.9% โดยรายได้จากเงินอุดหนุนลดลง 5.2% และรายได้ที่จัดเก็บเองลดลง 2.2% ขณะที่รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้เพิ่มขึ้น 3.6%

แสดงให้เห็นว่า อปท.ยังต้องพึ่งเงินอุดหนุนจากภาครัฐเป็นหลัก รัฐบาลจึงเร่งวิธีหารายได้เพิ่มให้ อปท. เช่น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในปีนี้ เพื่อบังคับใช้ในปี 2561 จะทำให้รายได้ของ อปท.เพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นล้านบาทในระยะสั้น และเพิ่มขึ้นมากเป็นแสนล้านบาทในระยะยาว ส่งผลให้รัฐบาลลดการให้เงินอุดหนุนลง สามารถนำงบไปลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐและรัฐวิสาหกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเร่งลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และ อปท.ก็ยังติดปัญหาเดิมๆ การเบิกจ่ายล่าช้า การจัดซื้อจัดจ้างยังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น มีการฮั้วของนายทุนและข้าราชการทำให้การใช้เม็ดเงินไม่คุ้มค่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้กลางปีนี้ ซึ่งจะควบคุมดูแลการจัดซื้อจัดจ้างให้ทุจริตลดลง มีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามดูว่าจะทำให้การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจ และ อปท.ล่าช้าจนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้หรือไม่