posttoday

ปชป.เริ่มขยับวิพากษ์นโยบายนำการเมือง

10 กุมภาพันธ์ 2560

นับเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาแถลงจุดยืนต่อกระแสคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์  

นับเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์​ เมื่อ ​อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคออกมาแถลงจุดยืนต่อกระแสคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศจะหาข้อสรุปสัปดาห์หน้า

ในแง่ “จุดยืน” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เมื่อ อภิสิทธิ์ ยังคงยืนยันในจุดยืนเดิมของพรรคที่เคยเสนอให้รัฐบาล โดยสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี​ที่​ อ.เทพา จ.สงขลา

ส่วน จ.กระบี่ ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ปาล์มน้ำมัน นอกจากจะช่วยเหลือเกษตรกรแล้วยังเป็นการผลักดันพลังงานหมุนเวียน ตอบโจทย์ตรงเป้าหมาย คือ มั่นคง สะอาด

พร้อมกันนี้ยังออกตัวว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้

สำหรับ โรงไฟฟ้าเทพา กับข้อเสนอให้ใช้แอลเอ็นจี ไม่ได้ขัดแย้งเรื่องการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะ​ “แอลเอ็นจี” และ “ถ่านหิน” ล้วนแต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

อีกทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจีจะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

แต่ที่สำคัญที่สุดคือจุดยืนของประชาธิปัตย์ที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ให้เปลี่ยนเป็นแอลเอ็นจี และปาล์มน้ำมันนั้น จะทำให้แรงกดดันที่อาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะกับกลุ่มอนุรักษ์ที่เป็นห่วงเรื่องมลภาวะทั้งในเรื่องการขนส่งนำเข้าและกระบวนการผลิต​ สอดรับไปกับแนวทางยุทธศาสตร์ในอนาคตที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ​ควรเปลี่ยนไปหาพลังงานสะอาด​

เมื่อประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ซึ่งมีฐานเสียงที่เหนียวแน่นในพื้นที่ภาคใต้ไม่ใช่แค่ จ.กระบี่ เท่านั้นแต่ยังผูกขาดเก้าอี้ สส.ส่วนใหญ่มายาวนาน

การออกมาแสดงความคิดความเห็นประกาศจุดยืนต่อแนวนโยบายที่จะส่งผลกระทบไปถึงอนาคตจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในแง่ความรับผิดชอบและคะแนนนิยมในอนาคตที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที

เหตุผลที่ทาง อภิสิทธิ์ หยิบยกมาอธิบายนั้น ถือเป็นทางสายกลางที่วิน-วินด้วยกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการการใช้พลังงานในพื้นที่กับการตั้งโรงไฟฟ้า อีกด้านก็ยังตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่สร้างผลกระทบกับเมืองที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งผลิตอาหารทะเล

ข้อดีต่างๆ ถูกหยิบยกมาอธิบาย ทั้งราคาที่ถูกกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน แถมยังเป็นไปตามทิศทางโลกที่​ลดการผลิตคาร์บอน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนส่งผลดีต่อเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 

อีกด้านหนึ่งยังเป็นการออกมา “ดักคอ” ไม่ให้​ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจบุ่มบ่ามใช้อำนาจในมือผ่านกฎหมายพิเศษเดินหน้าลุยโรงไฟฟ้าถ่านหิน

​ดังจะเห็นว่า ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมาอย่างต่อเนื่องด้วยชุดข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นและความมั่นคงทางพลังงาน แต่ด้วยเสียงต้านจากในและนอกพื้นที่ ​ทำให้ทัดทานไม่ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการอะไรที่สุ่มเสี่ยงจะสร้างปัญหาในอนาคต

จนล่าสุดที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากำหนดเส้นตายเตรียมหาข้อสรุปเรื่องนี้ ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องรีบออกมาประกาศจุดยืนของตัวเอง 

ไม่ต่างจาก กรณ์ จาติกวณิช ​อดีตรองหัวหน้าพรรค ​ที่พยายามชี้แจงว่า พรรคได้ศึกษาข้อเท็จจริงก่อนที่จะสรุปข้อเสนอดังกล่าว ​ซึ่ง​โรงไฟฟ้าแอล
เอ็นจีจะใช้เวลาก่อสร้างเพียง 48 เดือน แตกต่างจากถ่านหินที่ใช้เวลา 80 เดือน และยังใช้เงินลงทุนต่ำกว่าประมาณ 50% ​

การออกมาขยับของประชาธิปัตย์รอบนี้ หลังจากเงียบหายมานานยังสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว หลังถูกสะกดโดยคำสั่ง คสช.ไม่ให้ออกมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือแสดงความคิดความเห็นที่เข้าข่ายจะกระทบความมั่นคง

โดยปรับเปลี่ยนจากการแสดงความคิดความเห็นในแง่มุมการเมืองมาเป็นเรื่องแนวนโยบาย

ด้านหนึ่งทำให้การออกมาแสดงความคิดความเห็น ​ดูชอบธรรมมีน้ำหนักในการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ​ทั้งประชาชนในพื้นที่ และผลประโยชน์ประเทศชาติ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อหวังผลทางการเมืองเสียทั้งหมด

ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ประชาธิปัตย์เคยออกมาแสดงความคิดความเห็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดยืนคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ที่ด้านหนึ่งถูกมองว่าอาจเป็นเพราะไม่ยอมรับในกฎกติกาที่เข้มงวดในการเข้าคัดกรองคนที่จะเข้าสู่การเมือง ตลอดจนบทลงโทษที่เพิ่มขึ้น

ไปจนถึงการออกมาแสดงความคิดความเห็นต่อเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง รวมถึงเรื่องปรองดองที่การออกมาขยับไม่ว่าจะแสดงความคิดความเห็นอย่างไรก็ย่อมถูกมองว่ามีผลประโยชน์ของพรรคเข้ามาเกี่ยวข้อง

การเปลี่ยนมาเคลื่อนไหวในเชิงนโยบายจึงอาจเป็นการเริ่มขยับของฝั่งการเมืองที่ถูกสกัดกั้นมานาน และยังสามารถสร้างแนวร่วมจากประชาชนในพื้นที่ได้ดีกว่าการเคลื่อนไหวจากปมการเมืองอื่นๆ