posttoday

วิวาทะ คสช.-กปปส.สัญญาณแนวร่วมแตกคอ

08 กุมภาพันธ์ 2560

แรงกระเพื่อมเริ่มก่อตัวหลัง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดประเด็นมีอดีตนักการเมืองใน จ.สงขลา พยายามเป็นแกนนำชักชวนเกษตรกรในพื้นที่ให้รวมตัวกันกดดันรัฐบาล

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

แรงกระเพื่อมเริ่มก่อตัวหลัง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดประเด็นมีอดีตนักการเมืองใน จ.สงขลา พยายามเป็นแกนนำชักชวนเกษตรกรในพื้นที่ให้รวมตัวกันกดดันรัฐบาล เพื่อให้ช่วยเหลือด้านเมล็ดพันธุ์ภายหลังน้ำท่วมคลี่คลายแล้ว โดยมีนัยทางการเมืองแอบแฝง

“การเป็นแกนนำสร้างกระแสเรียกร้องรัฐบาล เพื่อแสดงบทบาทให้ประชาชนเห็นว่า ตัวเองมีความสำคัญและกลุ่มการเมืองยังรักและเป็นห่วงประชาชนอยู่นั้น เป็นพฤติกรรมอันเคยชินเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ทราบดีว่ารัฐบาลให้ความช่วยเหลือในระดับหนึ่งแล้ว”

ร้อนจน อดีต สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เรียงหน้าออกมาชี้แจงตอบโต้แบบดุเดือด พร้อมโต้กลับถึงความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้ชาวนาของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลายเป็นวิวาทะที่ตอกย้ำสถานภาพความสัมพันธ์ระหว่าง คสช. และ กปปส.

เริ่มตั้งแต่ ถาวร เสนเนียม อดีต สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของ กปปส.ที่ออกมาตอบโต้ว่าสาเหตุที่ชาวนาต้องมาร้องเรียนกับอดีตนักการเมืองอย่างพวกตนเองนั้น เป็นเพราะเคยไปร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยเหลือก็ไม่มีความคืบหน้า

“การที่ตัวแทนกลุ่มชาวนามาร้องเรียนอดีตนักการเมืองอย่างผม ที่เปิดให้คนเดือดร้อนพบ เพราะเขาไปร้องส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาหมดแล้ว แต่ไม่คืบหน้า ดังนั้นขออย่ามองพวกผมเป็นศัตรู ทั้งที่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้รัฐบาลด้วยซ้ำ ส่วนจะนั่งครองเมืองไปอีกนานเท่าไหร่ ก็เชิญตามสบาย ขอถามว่าได้ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขพี่น้องประชาชนได้ดีมากน้อยแค่ไหนเพียงใด”

ถัดมา ชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แต่เป็นเรื่องปากท้องของชาวบ้านที่เดือดร้อนจริง ตัวแทนเกษตรกรจึงไปยื่นหนังสือร้องทุกข์กับ ผวจ.สงขลา เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ให้รัฐบาลช่วยหาเมล็ดพันธุ์ข้าวมาให้ประมาณ 5,000 กว่ารายที่ได้รับผลกระทบ

ต่อเนื่องที่ เจือ ราชสีห์ ประเด็นนี้ พล.ท.สรรเสริญ อาจจะได้ข้อมูลมาไม่ตรง เพราะข้อมูลตรงคือชาวบ้านมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรให้ได้พันธุ์ข้าวมา ซึ่งรัฐบาลก็ต้องอธิบายว่าจะช่วยอย่างไร

ย้อนดูที่มาที่ไปของเรื่องนี้ ​การที่ชาวนากว่า 3,000 คน จ.สงขลา ที่ออกมารวมตัวเมื่อวันที่ 2 ก.พ.นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะชาวนากลุ่มนี้เดือดร้อนต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อครั้งภัยแล้งช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้น้ำในทะเลสาบเป็นน้ำเค็มเมื่อสูบเข้านาทำให้นาล่ม

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดหลังจากชาวนาไปกู้หนี้ยืมสินซื้อพันธุ์ข้าวมาเพาะปลูก ในช่วงเดือน ส.ค. 2559 แต่ยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยวก็ต้องพบกับอุทกภัย​จนหลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ​

​การออกมาเคลื่อนไหวของอดีต สส.สงขลา เรียกร้องให้ทางการเข้าช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะด้วยสถานภาพปัจจุบันที่ไม่ใช่นักการเมือง การติดต่อสื่อสารกับภาครัฐจึงไม่สะดวกเหมือนก่อน

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้แรงกระเพื่อมก่อตัวหนักขึ้นจึงอยู่ที่ พล.ท.สรรเสริญ ออกมาทิ้งระเบิดว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังม็อบชาวนาแทนที่จะไปแก้ไขต้นตอความเดือดร้อนของชาวนา ที่จะทำให้ทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แถมยังได้หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนสภาพความไม่ไว้วางใจกันเองระหว่าง กปปส. และ คสช. 

ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ กปปส.ถือเป็นแนวร่วมที่สำคัญคอยสนับสนุนการทำงานของ คสช. เรื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร ด้วยเหตุผลที่หยิบยกมาอธิบายสังคมว่าเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายตรงกันคือต้องการเห็นการปฏิรูป เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปและก้าวพ้นวังวนความขัดแย้ง

หลายต่อหลายครั้งในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานที่สุ่มเสี่ยงจะกระทบกระเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล คสช. ก็จะเห็น สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ขี่ม้าขาวออกมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์

ทั้งช่วงราคายางตกต่ำแต่มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐยังล่าช้าและไม่ตรงจุด ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางออกมาขู่เตรียมชุมนุมปิดถนนประท้วงจน
สุเทพต้องออกมาส่งสัญญาณปรามช่วยคลี่คลายความตึงเครียด

ต่อมาช่วงก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถล่มเนื้อหาในหลายจุด สุเทพ ก็เปิดหน้าออกมาแถลงจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ทว่าบรรยากาศเวลานี้รัฐบาล คสช.เอง ถือว่ามีเสถียรภาพพอสมควร เสียงสนับสนุนจากประชาชนโดยเฉพาะความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนผ่านผลโพลหลายสำนักยิ่งทำให้เวลานี้ คสช.เองอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งแนวร่วมแบบแนบแน่นเหมือนช่วงแรก

ทางด้าน แกนนำ กปปส. ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอดีต สส.ประชาธิปัตย์ ​อีกด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องสลัดภาพไม่ให้สนิทแนบแน่นกับทาง คสช.จนเกินไป จนอาจกระทบไปถึงภาพลักษณ์และผลการเลือกตั้งที่ใกล้จะเกิดขึ้น

วิวาทะระหว่าง​​ คสช.และ กปปส.​จึงสะท้อนให้เห็นรอยร้าวของคนกันเองที่กำลังขยายวงมากขึ้น ไม่แปลกที่สัญญาณเหล่านี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ทาง คสช.กำลังติดเครื่องลุยงานด้านปรองดองท่ามกลางการจับตาของสังคมว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร