posttoday

ภาษีสหรัฐสะท้านเอเชีย

03 กุมภาพันธ์ 2560

สหรัฐเสนอแผนจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ 20% หวังกระตุ้นการผลิตในประเทศ คาดส่งผลกระทบโดยตรงต่อเม็กซิโกและหลายประเทศเอเชีย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

พรรครีพับลิกันซึ่งครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรส เสนอแผนการจัด เก็บภาษีพรมแดนจำแนกตามถิ่นที่มา (Border Tax Adjustment) โดยจะเก็บภาษีกับบริษัทสหรัฐที่นำเข้าสินค้าหรือวัสดุจากต่างชาติมาผลิตหรือขาย แต่จะไม่เก็บภาษีหากส่งออกสินค้าหรือ วัสดุใดๆ เปรียบเทียบโดยง่ายเหมือนสินค้าที่มาจากต่างประเทศต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอีก เพื่อเป็นการช่วยให้เอกชนสหรัฐนำเข้าสินค้าต่างชาติน้อยลงและหันมาผลิตในประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีของทรัมป์จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศในเอเชีย

โรบิน วินเกลอร์ และจอร์จ ซาราเวลอส นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารดอยช์แบงก์ คาดการณ์ว่า หากมีการใช้ภาษีดังกล่าวจริง โดยมีการเก็บภาษีนำเข้า 20% นอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดต่อเม็กซิโก ตามมาด้วยแคนาดาแล้ว ประเทศผู้ผลิตเอเชียอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย และไทย ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย หลังสินค้าจากต่างชาติจะมีราคาแพงขึ้นตามภาษี ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่ผู้บริโภคอ่อนไหวต่อการขึ้นราคา ได้รับผลกระทบหนัก
 
รายงานระบุว่า ผลกระทบต่อการค้าสุทธิเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของเม็กซิโกจะสูงถึง 6.5% ตามมาด้วยเวียดนามและแคนาดาที่ราว 4.5% ส่วนมาเลเซียได้รับผลกระทบมากกว่า 2.5% ขณะที่ไทยและไต้หวันจะได้รับผลกระทบราว 1.5%

"ในมุมมองของเรา ผลกระทบจากการขึ้นภาษีจะรุนแรงมาก พวกเราคาดว่าภาษีปรับตามถิ่นที่อยู่จะเป็นหนึ่ง ในความเสี่ยงให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นในช่วงปีหน้า" วินเกลอร์และ ซาราเวลอส ระบุในรายงาน โดยแม้ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งออกของประเทศที่ได้รับผลกระทบและลดข้อได้เปรียบของผู้ส่งออกสหรัฐ แต่มาตรการดังกล่าวจะกระทบกับความสัมพันธ์ทางการค้าแบบทวิภาคีได้

ความเสี่ยงเอเชียสะพัด

แม้จากการคำนวณของดอยช์แบงก์ สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบต่อการค้าสุทธิน้อยกว่า 1.5% แต่จากการประเมินของธนาคารโนมูระแล้ว สิงคโปร์กลับเผชิญปัจจัยเสี่ยงสูงมากที่สุดในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ถึง 5 ประการ อาทิ 1.นโยบายเศรษฐกิจทรัมป์ในด้านการปกป้องการค้า เช่น การขึ้นภาษี 2.การให้แรงจูงใจให้บริษัทสหรัฐส่งเงินกลับประเทศมากขึ้น 3.นโยบายกระตุ้นทางการคลังของทรัมป์ ซึ่งเพิ่มแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
 
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังทำให้สิงคโปร์เสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เหรียญสหรัฐมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ 4 โดยโนมูระคาดการณ์ว่า ค่าเงินเหรียญสหรัฐจะแข็งค่าขึ้นถึง 130 เยน/เหรียญสหรัฐ จาก ระดับ 112 เยน/เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน และอยู่ที่ 0.95 ยูโร/เหรียญสหรัฐ ภายในสิ้นปี 2017 ขณะที่สิงคโปร์ยังเสี่ยง ในด้านการเผชิญหน้าทางนโยบาย ต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ไทยและอินเดียเป็นประเทศที่เผชิญปัจจัยเสี่ยงสูงน้อยที่สุดในเอเชีย โดยไทยเผชิญความเสี่ยงสูงในด้านเดียว คือ นโยบายปกป้องการค้าและสงครามการค้า ขณะที่อินเดียเผชิญกับความเสี่ยงในด้านการเข้มงวดนโยบายผู้อพยพ โดยชาวอินเดียมีการใช้วีซ่าแรงงานมีทักษะ H-1B ซึ่งทรัมป์ต้องการปราบปราม การเข้าทำงานในสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด 70%

ด้านจีนเผชิญความเสี่ยงด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ การแข็งค่าขึ้นของเหรียญสหรัฐ นโยบายปกป้องการค้าและสงครามการค้า รวมถึงการเผชิญหน้าด้านนโยบายต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์

ไอเอ็มเอฟเตือนความผันผวน

มิตซึฮิโระ ฟุรุซาวะ รองกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจเอเชียในระยะสั้นจะยังคงแนวโน้มความแข็งแกร่งไว้ได้ แต่เศรษฐกิจเอเชียก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยงหลายประการ โดยความไม่แน่นอนด้านนโยบายของทรัมป์จะก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
       
ทั้งนี้ นักลงทุนเริ่มแสดงความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ โดยดัชนีค่าเงินเหรียญสหรัฐปรับลงไปแตะจุดต่ำสุดตั้งแต่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างการซื้อขายของเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลดลงจากระดับ 20,000 จุด ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังทรัมป์มีคำสั่งพิเศษคุมเข้มผู้อพยพและผู้ลี้ภัย
   
ขณะเดียวกัน แม้ไอเอ็มเอฟจะปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในรายงานประจำเดือน ม.ค.จาก 2.2% เป็น 2.3% สำหรับปี 2017 นี้ และปรับขึ้นของปี 2018 จาก 2.1% เป็น 2.5% แต่ฟุรุซาวะ ระบุว่า ความไม่แน่นอนด้านนโยบายของทรัมป์ส่งผลให้แนวโน้มดังกล่าวผันผวนตามไปด้วย