posttoday

ปิดทางประชุมพรรค ปรองดองไปไม่สุด

02 กุมภาพันธ์ 2560

ประเด็นทางการเมืองว่าด้วยการปรองดองเริ่มกลับมามีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประเด็นทางการเมืองว่าด้วยการปรองดองเริ่มกลับมามีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกครั้ง ภายหลังคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

“ที่ประชุมได้ข้อสรุปในการจัดลำดับความสำคัญวาระการปฏิรูปเร่งด่วน 27 วาระ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย การปฏิรูปกลไกภาครัฐ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปฏิรูปเครื่องมือพื้นฐานเศรษฐกิจในอนาคต และการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน

พร้อมกันนี้เตรียมตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศใน 4 ด้าน ซึ่งการทำงานทั้งหมดจะต้องมีความรวดเร็ว กระชับ และบูรณาการ ขณะที่สัปดาห์หน้าคาดว่าจะมีการเวิร์กช็อปคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองตามลำดับ” สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป.ระบุถึงผลการประชุมดังกล่าว

เมื่อพิจารณาจากคำแถลงของเลขานุการ ป.ย.ป. แล้วจะพบได้ว่าการประชุม ป.ย.ป. เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เปรียบเหมือนเป็นการขันนอตแม่น้ำ 5 สายเสียมากกว่า เพราะโครงการทำงานในลักษณะนี้เป็นภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยย้ำมาแล้วหลายครั้ง

แต่กระนั้นก็มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน กล่าวคือ การทำงานในส่วนของการสร้างความปรองดอง ซึ่งปรากฏให้เห็นในสองส่วน ประกอบด้วย 1.การเตรียมประชุมเชิงปฏิบัติการในสัปดาห์หน้า และ 2.การเตรียมเชิญพรรคการเมืองมาให้ความคิดเห็น

ก่อนหน้านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการฟอร์มทีมเพื่องานปรองดองติดหล่มอยู่พอสมควร ภายหลังยังไม่สามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมทีมอย่างเป็นทางการได้ เพราะกลุ่มภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับเทียบเชิญจาก คสช.ต่างปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ คสช.ถึงกับอึ้งไปพักใหญ่

เหตุผลที่ว่านั้น คือ ไม่ต้องการให้ทหารเป็นผู้นั่งหัวโต๊ะในการปรองดอง แต่ทหารควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น

ที่ผ่านมา คสช.พยายามประสานงานกับกลุ่มภาคประชาชนมาตลอด จนได้ข้อสรุปว่า คสช.จะยอมทำตามรายงานการศึกษาการสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เกินกว่า 50% ทำให้กลุ่มภาคประชาชนพอใจและเตรียมเข้าไปร่วมงานกับ คสช.อีกครั้ง

จึงเป็นที่มาว่าทำไมรัฐบาลและ คสช.ถึงกล้าประกาศว่าในสัปดาห์หน้าจะได้เห็นคณะกรรมการปรองดองตัวเป็นๆ พร้อมกับเตรียมเชิญพรรคการเมืองเข้ามาให้ความคิดเห็น ซึ่งถือว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการสร้างความปรองดอง โดยสะท้อนมาจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา

“รัฐบาลยังไม่ได้ทาบทามพรรคการเมืองเข้ามาพูดคุย แต่อยากให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจจะเชิญตัวแทนพรรคมาประมาณพรรคละ 10 คน

สำหรับพรรคการเมืองนั้นขอย้ำว่ายังไม่ปลดล็อก เพราะผมเห็นพรรคการเมืองหารือกันเป็นประจำ ถ้าปลดล็อกแล้วทำอะไรนอกเหนือเรื่องปรองดองใครจะรับผิดชอบ” ท่าทีจาก พล.อ.ประวิตร

สัญญาณที่ออกมานั้นเป็นความต้องการที่จะให้เห็นว่าการสร้างความปรองดองครั้งนี้ต้องให้ทหารเป็นผู้นำเท่านั้น และฝ่ายการเมืองจะต้องเดินตามเส้นที่ทหารได้ขีดเอาไว้ โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองประชุม แม้ว่าเรื่องที่จะประชุมนั้นเป็นวาระของการสร้างความปรองดองก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่าเกมการสร้างความปรองดองในครั้งนี้ คสช.จะเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่าทุกฝ่ายนั้นไม่น่าจะใช่เสียทีเดียว

ต้องยอมรับว่าการที่ คสช.ไม่ยอมให้พรรคการเมืองประชุมพรรคเพื่อหารือเรื่องการสร้างความปรองดอง ดูเหมือนจะเขี้ยวลากดินมากเกินไปหน่อย เพราะการปล่อยให้พรรคการเมืองพูดคุยได้อย่างไม่เป็นทางการ แม้ด้านหนึ่งจะเป็นการทำให้พรรคการเมืองสามารถมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรองดองออกมาได้ แต่ความคิดเห็นที่ออกมานั้นก็ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นทางการ

เมื่อผลความคิดเห็นของพรรคการเมืองที่ออกมาไม่มีลักษณะเป็นทางการ เพราะไม่สามารถประชุมพรรคเพื่อมีมติได้ ย่อมทำให้ข้อเสนอของพรรคการเมืองเป็นเพียงแค่เศษกระดาษที่ไม่มีผลผูกพัน หรือมีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดใดๆ ทั้งสิ้น

ที่สำคัญ คสช.ย่อมต้องเจอว่าข้อเสนอที่พรรคการเมืองส่งเข้ามานั้นเป็นข้อเสนอของพรรคการเมืองจริงๆ หรือเป็นแค่ความคิดเห็นของคณะบุคคลในพรรคการเมืองกันแน่ เช่นนี้เป็นเรื่องยากที่ คสช.จะได้ข้อมูลที่แท้จริงเพื่อไปทำการสังเคราะห์เพื่อนำไปสู่การดำเนินการในทางปฏิบัติ

เหนืออื่นใด การไม่ยอมปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองประชุมเรื่องปรองดอง จะส่งผลให้ภาพของการสร้างความปรองดองจะมีลักษณะของการถูกกดทับด้วยอำนาจรัฐ กระบวนการแสดงความคิดเห็นและการนำเสนอข้อมูลไม่ได้มาจากบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ที่สุดแล้ว หากปล่อยไว้เช่นนี้ บรรยากาศของการปรองดองจะถูกบั่นทอนลงไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถร่วมกันหาทางออกได้ และความขัดแย้งก็ไม่ได้รับแก้ไขในท้ายที่สุด

ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าจะแก้เกมนี้อย่างไร