posttoday

คุมสื่อเบ็ดเสร็จ ปูทางยาว คสช.

01 กุมภาพันธ์ 2560

กลายเป็นประเด็นร้อนถึงขั้นทำให้ 30 องค์กรวิชาชีพสื่อ นัดออกมารวมพลังแถลงคัดค้านการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนถึงขั้นทำให้ 30 องค์กรวิชาชีพสื่อ นัดออกมารวมพลังแถลงคัดค้านการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ภายใต้ความพยายามผลักดันของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชนที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร  เป็นประธาน ผ่านการเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... 

ทว่า เสียงคัดค้านดูจะไม่เป็นผลเพราะล่าสุดทาง พล.อ.อ.คณิต นำ คณะ กมธ. ออกมายืนยันจุดยืนเดิมเตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ (สปท.) เพื่อขอความเห็นชอบแบบรวดเร็ว ก่อนส่งต่อไปยังรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงที่กำลังขยายวงมากขึ้น

ตอกย้ำสัญญาณพิเศษที่ชวนให้คิดว่ามีใบสั่งจากผู้มีอำนาจสั่งลุย ​ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน​

ไม่แปลกที่จะเห็นท่าทีแข็งขันของ พล.อ.อ.คณิต​และคณะ ที่ออกมายืนยันว่า​ก่อนออก พ.ร.บ.นี้ มีการหารือกับตัวแทนสื่อมวลชน รวมทั้งได้ผ่านการหารือและการทำประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง แถมมีข้อมูลสนับสนุนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ทั้งที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาแสดงความเป็นห่วงในหลายประเด็นของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนจนขาดความเป็นอิสระอย่างที่ควรจะเป็น

จุดใหญ่อยู่ที่ “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่กำหนดสัดส่วนในช่วง 2 ปีแรก จะประกอบด้วยกรรมการ 13 คน เป็นตัวแทนสื่อ 5 คน จากปลัดกระทรวงจำนวน 4 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งตัวแทนวิชาชีพจากองค์กรต่างๆ อีก 4 คน

ความสำคัญอยู่ตรง “อำนาจหน้าที่” ของกรรมการชุดนี้ที่กำหนดให้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชนได้ ดังนั้น ​เมื่อมีสัดส่วนจากปลัด 4 กระทรวงมานั่งเป็นกรรมการ ย่อมอาจส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนให้ไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบทั้ง 4 กระทรวงหรือรวมไปถึงรัฐบาลทั้งหมดเพราะมีส่วนในการชี้เป็นชี้ตายให้ใบอนุญาตสื่อมวลชน  

ในทางปฏิบัติคงเป็นเรื่องยากที่​ “ผู้ตรวจสอบ” จะมีความเป็นอิสระในการตรวจสอบการทำงานของผู้คุมกฎ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเข้ามาแทรกแซงสั่งการไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

บทเรียนในอดีตชวนให้คิดต่อไปถึงกรณีที่ฝั่งการเมืองรุกคืบเข้าแทรกแซงผ่านทาง 4 กระทรวงเพื่อกดดันการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการหรือป้องกันการเข้าไปขุดคุ้ยเรื่องฉาวในกระทรวง

​​แถมชวนให้นึกถึงกรณีการใช้กลไกโฆษณาจากภาครัฐเข้ามาบีบการทำงานของสื่อมวลชนในอดีต

เรื่องเหล่านี้มีแนวโน้มจะกลับมาสร้างปัญหาที่รุนแรงกว่าในอดีตผ่านกลไก “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” หากยังกำหนดสัดส่วนกรรมการไว้เช่นนี้ ​

คำชี้แจงเรื่องจากฝั่งกรรมาธิการพยายามสะท้อนว่าเป็นเหรียญสองด้านที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ด้านหนึ่งอาจเป็นอย่างที่เป็นห่วงแต่ความตั้งใจของฝั่งกรรมาธิการคือการสร้างความเชื่อมโยงของหน่วยงานรัฐที่จะเชื่อมโยง​และสนับสนุนการทำงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน

ท่าทียืนกรานแสดงจุดยืนที่จะตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนตามกลไกนี้ให้ได้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามเข้ามาควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน ป้องกันไม่ให้เส้นทางตามโรดแมปนับจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งมีเหตุให้ต้องสะดุด ด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น

อีกทั้งยังมองกันว่าการจัดระเบียบสื่อมวลชนรอบนี้อาจหวังผลยาวไปถึงหลังการเลือกตั้ง ซึ่งหากวันนั้นพรรคการเมืองไม่สามารถจับมือกันตั้งรัฐบาลได้ แนวทางการผลักดันคนจาก คสช.เข้ามานั่งเป็นนายกฯ คนนอกอย่างที่เคยมีการคาดการณ์ก็อาจจะเป็นได้มากขึ้น

สอดรับไปกับการทำงานของ​คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)​ ที่วางแนวทางการทำงานไว้ต่อเนื่องเรื่อยไปถึงหลังเลือกตั้ง

ชั่งน้ำหนักแล้วแม้จะสุ่มเสี่ยงจะเสียแนวร่วมจากสื่อมวลชนแล้ว แต่หากพิจารณาผลลัพธ์ที่จะตามมานั้นการคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จนั้นอาจเป็นทางเลือกที่ คสช.​ต้องยอมแลก ในวันที่กระแสสังคมยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.​

นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรก ​ก่อนหน้านี้ คสช.เคยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง เรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะในส่วนของวิทยุ

ขยายระยะเวลาแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ปี 2555 ทำให้การส่งคืนคลื่นวิทยุเพื่อให้ กสทช.นำไปจัดสรรใหม่มีอันต้องเลื่อนออกไป อีก 5 ปี จากเดิมที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ปี 2555 กำหนดให้คลื่นความถี่วิทยุของหน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานรัฐต้องส่งคืน กสทช. ภายในเดือน เม.ย. 2560

ตอกย้ำเส้นทางความพยายามเข้ามาควบคุมสื่อมวลชนแบบเบ็ดเสร็จ แถมยังชวนให้คิดว่านี่อาจเป็นการปูทางอยู่ยาวของ คสช.​