posttoday

แนวทางปรองดอง สู่การปฏิรูปประเทศ

13 มกราคม 2560

เริ่มต้นคิกออฟนัดแรกสำหรับการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการปฏิรูปและปรองดอง

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เริ่มต้นคิกออฟนัดแรกสำหรับการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการปฏิรูปและปรองดอง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จตามคำมั่นสัญญาต่อประชาชน

การดำเนินการเรื่องนี้ถือเป็นการจับตาของทุกฝ่ายว่ารัฐบาลจะหยิบยกแนวทางปรองดองซึ่งได้มีการศึกษาก่อนหน้านี้ ทั้งของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ คณิต ณ นคร ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มาใช้ดำเนินการหรือไม่ 

หากย้อนดูรายงานฉบับเอนก ได้สรุป 6 ประเด็นสำคัญเพื่อสร้างความปรองดอง อาทิ 1.สร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุแห่งความขัดแย้งในอดีต โดยจัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงจากกลุ่มบุคคลเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการกำหนดและเสนอแนะแนวทางการคลี่คลายและป้องกันความขัดแย้งในอนาคต

2.แสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อการสร้างความเข้าใจร่วมกันของสังคม และนำมาสรุปบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศต้องประสบกับวิกฤตการณ์นี้อีก 3.อำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดและการให้อภัย โดยใช้หลัก (Transitional Justice) และกระบวนทัศน์แบบความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)

และ 4.เยียวยาและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง โดยมีมาตรการในส่วนที่เป็นเงินและไม่ใช่ตัวเงิน รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ฐานการคิดคำนวณอัตราในการชดเชยความเสียหายและการเยียวยา โดยเลือกปฏิบัติ ปัญหา และเงื่อนไขของความขัดแย้งต่อเนื่อง

ขณะที่รายงาน คอป.ได้จัดทำข้อเสนอแนะ อาทิ กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการ
กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ควรให้มีการแก้ไข เพราะเกรงว่าจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง อีกทั้งไม่เป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง

นอกจากนี้ ยังพบว่าการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความแตกแยก และทำให้ความขัดแย้งในสังคมยกระดับเป็นความรุนแรง โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลและการใช้ภาษาที่มีการปลุกเร้าและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech)

“สื่อทุกแขนงต้องมีความระมัดระวังและมีความรับผิดชอบในการเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชน โดยเฉพาะสื่อของรัฐต้องมีความเป็นกลางและให้โอกาสทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน ทุกฝ่ายต้องหยุดใช้สื่อเพื่อปลุกระดมยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะสื่อวิทยุชุมชน และหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์และนำเสนอข่าวลักษณะของการท้าทาย เนื่องจากจะเป็นการทำลายบรรยากาศของการสร้างความปรองดอง”

รัฐบาลควรฟื้นฟูเยียวยาสื่อมวลชนผ่านการปฏิบัติงานในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิตและความปลอดภัย ทั้งจิตใจและร่างกาย โดยเฉพาะสื่อที่ได้รับบาดเจ็บ หรือครอบครัวของสื่อมวลชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ต้องได้รับสวัสดิการ เยียวยา และการเชิดชูเกียรติ ทั้งจากองค์กรต้นสังกัด องค์กรวิชาชีพ ภาครัฐ และสังคมทั่วไป

สำหรับการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพและทหารโดยเฉพาะการรัฐประหาร ส่งผลให้สังคมไทยขาดโอกาสเรียนรู้จะจัดการวิกฤตการณ์การเมืองตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตย และสร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มคนที่เห็นว่าอำนาจอธิปไตย สิทธิ และผลประโยชน์ของตนถูกคุกคามจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีความสลับซับซ้อนและบานปลายยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีการตั้งกรรมาธิการการเมือง จัดทำรายงานความปรองดองพร้อมกับแนบร่าง พ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุทางการเมือง เสนอต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ไปแล้ว

สาระสำคัญกำหนดให้ตั้งกรรมการคณะหนึ่งมาจากหลากหลาย มีหน้าที่ในการจำแนกคดี กำหนดหลักเกณฑ์เยียวยาเหตุชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-2557 ที่น่าสนใจกว่านั้น คือการตรากฎหมายรับรองคณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจเสนอข้อมูลไปยังอัยการและศาล ซึ่งอัยการและศาลต้องรับข้อเสนอของกรรมการชุดนี้ไปพิจารณาลดหย่อนบรรเทาโทษด้วย

ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเดินหน้าตัดสินใจเลือกทางเดินแบบไหน เพื่อให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากวิกฤตที่เคยเป็นมา