posttoday

'ทรัมป์'เอาจริงฉุดธุรกิจโลกเสี่ยง

13 มกราคม 2560

ภาคธุรกิจทั้งในและนอกสหรัฐเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น หลัง ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังคงส่งสัญญาณเก็บภาษีนำเข้าสินค้า ทำให้เอกชนต้องปรับการลงทุนใหม่และเตรียมแผนรับมือ

 โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ภาคธุรกิจทั้งในและนอกสหรัฐเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังคงส่งสัญญาณเก็บภาษีนำเข้าสินค้า ส่งผลให้เอกชนต้องปรับการลงทุนใหม่และเตรียมแผนรับมือ

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังคงส่งสัญญาณจะเก็บภาษีนำเข้าต่อบริษัทที่ตั้งโรงงานในเม็กซิโกซึ่งมีค่าแรงถูกกว่า พร้อมใช้ทวิตเตอร์กล่าวโจมตีผู้ผลิตต่างๆ ที่มีแผนลงทุนในเม็กซิโก ไม่เว้นแม้แต่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า มอเตอร์ ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ และทำให้ทรัมป์กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อภาคธุรกิจ

รอยเตอร์สรายงานอ้างบรรดา นายธนาคารรายใหญ่ในวอลสตรีท ว่าบรรดาเอกชนสหรัฐบางแห่งกำลังพิจารณาระงับการควบรวมกิจการที่อาจส่งผลให้เกิดการปรับลดพนักงานในสหรัฐ หรือลดการผลิตในสหรัฐและเพิ่มกำลังผลิตในต่างประเทศ เนื่องจากกังวลต่อการโจมตีจากทรัมป์ ขณะที่บริษัทบางแห่งซึ่งมีฐานการผลิตใน ต่างประเทศ เคยเลย์ออฟพนักงาน หรือขึ้นราคาสินค้าในสหรัฐ ต่างก็วิตกว่าตนเองอาจตกเป็นเป้าหมายต่อไปของว่าที่ผู้นำสหรัฐ

การโจมตีผ่านทวิตเตอร์ของทรัมป์ไม่ได้สร้างความหวั่นเกรงให้กับภาคการผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคส่วน อื่นๆ ด้วย โดยรอยเตอร์ส ระบุว่า ไวท์ เมาท์เทนส์ อินซัวรันส์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการการเงินซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐ นิวแฮมป์เชอร์ ของสหรัฐ กำลังพิจารณาจะขายกิจการเพื่อเลี่ยงภาษี แต่เมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา การควบรวมกิจการดังกล่าวเป็นอันล้มเหลวไป

รอยเตอร์ส ระบุว่า ยังมีบริษัทประกันอีกสองแห่งที่ต้องล้มเลิกการควบรวมกิจการไปด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกัน

ขณะที่บางบริษัทจำเป็นต้องรีบเตรียมแผนสำรองโดยด่วนจากนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับจีนนัก โดยทรัมป์มุ่งจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ส่งผล ให้ภาคธุรกิจต้องชะงักการดำเนินการ เช่น เจมส์ ปาร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟิตบิต อิงค์ ผู้ผลิตอุปกรณ์สวมใส่ทางกีฬา เปิดเผยว่า ได้สั่งให้การผลิตที่สำคัญทุกส่วน ซึ่งมีปฏิบัติการอยู่ในจีนให้เตรียมแผนสำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

"ไม่ว่าจะเจอต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือเตรียมการเพื่อย้ายฐานการผลิตออกจากจีน บริษัทกำลังพิจารณาสิ่งเหล่านั้นอยู่" ปาร์ก กล่าว

ธุรกิจปรับแผนเอาใจผู้นำ

นับตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ทรัมป์ได้ใช้ทวิตเตอร์วิพากษ์วิจารณ์ผู้ผลิตรถยนต์ เช่น ฟอร์ด มอเตอร์ และเจนเนอรัล มอเตอร์ส ผู้ผลิตรถยนต์จากสหรัฐ รวมถึงโตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น หรือผู้ผลิตอื่นๆ เช่น เร็กซ์นอร์ด และยูไนเต็ด เทค เจ้าของผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแคเรียร์ ที่มีแผนลงทุนการผลิตในเม็กซิโก หรือแม้กระทั่งโจมตี โบอิง คอร์ป ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ในเรื่องการลงทุนโครงการอาวุธ

การเปิดเผยของทรัมป์นำมาสู่การปรับแผนการลงทุนเพื่อรับกับนโยบาย เช่น ฟอร์ด มอเตอร์ ที่ยกเลิกแผนการสร้างโรงงานที่เม็กซิโกมูลค่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.7 หมื่นล้านบาท) หรือแคเรียร์ที่ตกลงจะไม่เลิก จ้างงานที่สหรัฐ 2,100 อัตรา

รอยเตอร์สอ้างที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์กับรัฐบาลว่าได้รับโทรศัพท์หลายสายจากภาคเอกชน โดยภาคเอกชนต่างต้องการความช่วยเหลือให้ช่วยตรวจสอบประเด็นที่ทรัมป์อาจจะไม่พอใจ เพื่อเลี่ยงการโดนว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐโจมตี ซึ่งมีหลายเรื่องที่สุ่มเสี่ยง เช่น การจ้างเอาต์ซอร์สเพื่อการผลิต หรือการขึ้นราคาสินค้า

"พวกซีอีโอต่างกำลังคุยกับบอร์ดเพื่อทำความเข้าใจกันว่า บริษัทจะต้องมีภาพลักษณ์ที่เข้าข้างสหรัฐ ถ้าหากมีอะไรที่หลุดกรอบ เช่น แผนการเลย์ออฟ หรือการย้ายฐานการผลิต พวกเขาจะต้องไม่ปล่อยให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้น" หนึ่งในผู้บริหารซึ่งติดในรายชื่อ 500 ผู้บริหารเด่นของนิตยสารฟอร์จูนเปิดเผยกับรอยเตอร์ส

ต่างชาติตบเท้าหาทรัมป์

บริษัท เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ (เอฟซีเอ) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอิตาลี-สหรัฐ เตรียมลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.57 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างงาน  2,000 อัตรา ขณะที่ อาลีบาบา อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีนให้สัญญาช่วยสนับสนุนธุรกิจรายย่อยของสหรัฐเพื่อสร้างงานให้ได้ 1 ล้านอัตราใน 5 ปี หลัง แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาพบปะกับทรัมป์

ด้านโตโยต้าประกาศแผนลงทุน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.57 แสนล้านบาท) ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพียงไม่กี่วันหลังจากทรัมป์โจมตีโตโยต้า ซึ่งวางแผนจะเพิ่มการผลิตโรงงานในเม็กซิโก และขู่จะขึ้นภาษีนำเข้า ก่อนที่ อาคิโอะ โตโยดะ ประธานของโตโยต้า เดินทางไปพบกับ ไมค์ เพนซ์ ว่าที่รองประธานาธิบดีของทรัมป์ ทั้งนี้ ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการพูดคุยระหว่างโตโยดะกับเพนซ์ และโตโยดะยังไม่มีแผนจะพบกับว่าที่ประธานาธิบดี

"คุณไม่อยากเผชิญกับประธานาธิบดีคนนี้หรอก โดยเฉพาะกับคนที่ร้องป่าวตลอดเวลา" หนึ่งในผู้บริหารซึ่งติดในรายชื่อ 500 ผู้บริหารเด่นของนิตยสารฟอร์จูน กล่าว