posttoday

แก้น้ำท่วมภาคใต้ ศึกวัดฝีมือ ‘บิ๊กตู่’

11 มกราคม 2560

เปิดปีใหม่มายังไม่ทันไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจอศึกหนักรอบด้าน เรียกได้ว่าไม่มีเวลาฉลองปีใหม่แต่อย่างใด

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เปิดปีใหม่มายังไม่ทันไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจอศึกหนักรอบด้าน เรียกได้ว่าไม่มีเวลาฉลองปีใหม่แต่อย่างใด

อย่างเรื่องการเมืองที่ทีแรกเหมือนจะสงบยาวๆ แต่กลับกลายเป็นว่าต้องมาเจอกับกระแสกดดัน ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในปี 2560 เพราะจำเป็นต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายอื่นๆ จำนวนมาก ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนไปเป็นกลางปี 2561 แทน

บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาทวงสัญญาลูกผู้ชายและเหตุผลจาก คสช.กันอย่างพร้อมเพรียง เล่นเอาพล.อ.ประยุทธ์ ต้องตบโต๊ะว่าโรดแมปของ คสช.ยังเป็นไปตามเดิมทุกประการ ก่อนที่เหตุการณ์จะสงบลงแบบที่ คสช.ต้องเป่าปากถอนหายใจหอบใหญ่

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องการเมืองที่เป็นปัญหาหนักอกของ คสช.เท่านั้น ทว่าปัจจุบันกำลังเผชิญกับแรงเสียดทานในเรื่องการบริหารเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติด้วย หลังจากหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ประสบกับปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 111 อำเภอ 663 ตำบล 4,993 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 369,680 ครัวเรือน จำนวน 1,105,731 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย สูญหาย 2 ราย มีสถานที่ราชการเสียหาย 5 แห่ง ถนน 218 จุด คอสะพาน 59 แห่ง

สถานการณ์ที่เกิดในเวลานี้ ต้องยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ละม้ายคล้ายกับที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยเผชิญเมื่อครั้งยิ่งลักษณ์เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2554 เพราะเวลานั้นก็เกิดเหตุการณ์อุทกภัยสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับตอนบนของประเทศและ กทม. อันนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพในการแก้ไขสถานการณ์ภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ จนนำมาสู่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

เพียงแต่สถานการณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ ต่างกับยิ่งลักษณ์ตรงที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน จะมีเพียงฝ่ายการเมืองที่ออกมาให้ความเห็นประปรายเท่านั้น จึงช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องห่วงถึงสถานะทางการเมือง

แต่กระนั้น ศึกน้ำท่วมภาคใต้หนนี้เป็นงานสำคัญที่กำลังรอพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศได้มีการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณมาแล้วถึง 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1.แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามปีงบประมาณ 2560  จำนวน 55,820.7 ล้านบาท 2.แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามปีงบประมาณ 2559 จำนวน 79,165.4 ล้านบาท และ 3.แผนงานส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการตามปีงบประมาณ 2558 จำนวน 69,310.2 ล้านบาท

แม้ภัยธรรมชาติในพื้นที่ด้ามขวานครั้งนี้ เป็นปัจจัยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ แต่กับงบประมาณที่มีการอนุมัติไปจากสภาจำนวน 3 ครั้งรวมแล้วมากกว่าแสนล้านบาท กำลังเป็นคำถามว่าเหตุใดถึงไม่สามารถบรรเทาความเสียหายจากหนักกลายเป็นเบาได้

เม็ดเงินงบประมาณกว่าแสนล้านบาท ทำไมถึงไม่สามารถกลายเป็นระบบการระบายน้ำเพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินได้เมื่อเทียบกับจำนวนเงินมหาศาลที่รัฐบาลเทลงไป

อย่างไรก็ดี ยังโชคดีที่กระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าดีอยู่พอสมควร ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากบางสำนักที่ระบุว่าประชาชนพอใจกับการแก้ไขสถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์

คะแนนที่ออกมาในวันนี้ก็ไม่เป็นการการันตีว่าความมั่นคงในทางความนิยมให้กับรัฐบาลในอนาคต เพราะหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีก แน่นอนว่าคำถามตัวใหญ่ตัวใหญ่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของรัฐบาลย่อมพุ่งตรงมาที่นายกฯ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น นับจากนี้ไปรัฐบาลต้องเจอกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้านและที่สำคัญเหลือเวลาให้แก้ตัวไม่มาก จึงเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของ คสช.