posttoday

เพื่อไทย ปี’60 ตั้งรับหนัก-เหนื่อยสาหัส

09 มกราคม 2560

ปี 2560 ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปีสำคัญในทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปี 2560 ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปีสำคัญในทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศแล้วว่าจะเป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศ

“ปี 2560 เป็นปีแห่งการเตรียมการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และเพื่อให้ปีนี้เป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศ การสร้างความปรองดองและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในระยะแรก

ได้ตั้งกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองขึ้นในการขับเคลื่อน มี 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการปรองดอง และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ โดยตั้งสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา

เรียกว่าเป็นการประกาศย้ำชัดถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลและ คสช.ตลอดทั้งปีนี้

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกความเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกส่วนที่ต้องให้ความสนใจไม่แพ้กัน คือ อนาคตของพรรคเพื่อไทยและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

เริ่มกันที่พรรคเพื่อไทย เป็นอีกครั้งที่กำลังถูกจับตาว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไร ภายหลังมีแรงเสียดทานรอบด้าน ทั้งในส่วนของคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมไปถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ส่วนที่เกี่ยวกับคดีความนั้นมีคดีที่น่าสนใจ คือ กรณีที่ยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวม 34 ราย ถูกตั้งข้อหาว่าจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองโดยมิชอบ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเองโดยอนุมัติจ่ายเงินเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548-2553

ทั้งนี้ มีการคาดว่าภายในปีนี้ ป.ป.ช.จะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จสิ้น และหาก ป.ป.ช.ส่งคดีไปให้อัยการฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แกนนำของพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐมนตรีในเวลานั้นอาจถูกตัดตอนไม่ให้กลับมาลงสนามเลือกตั้งอีกครั้ง

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นอีกเรื่องที่พรรคเพื่อไทยกำลังผวาเช่นกัน ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เปิดเผยเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาทั้งหมด

พรรคเพื่อไทยมองว่ามีหลายประเด็นที่เป็นการบีบให้พรรคการเมืองไม่สามารถทำกิจกรรมในทางการเมืองได้สะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดโทษประหารชีวิตในกรณีของการซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง เพราะอาจเป็นช่องให้บางฝ่ายสามารถใส่ร้ายป้ายสีพรรคเพื่อไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่วิบากกรรมของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อยู่ที่คดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้สืบพยานไปหลายปากแล้ว โดยคาดว่าภายในปีนี้หรืออย่างน้อยต้นปี 2561 น่าจะมีคำพิพากษาที่เป็นการชี้ชะตาออกมา

สำหรับยิ่งลักษณ์แล้วคดีนี้ถือว่ามีเดิมพันค่อนข้างสูงพอสมควร เพราะถ้าศาลพิพากษาให้มีความผิด ไม่เพียงแต่จะสิ้นอิสรภาพในกรณีที่ไม่รอลงอาญาแล้ว ยังรวมไปถึงการสิ้นอนาคตทางการเมืองด้วย

ต้องไม่ลืมว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกำหนดข้อห้ามไม่ให้บุคคลที่ถูกลงโทษกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก ซึ่งนั่นหมายความว่ายิ่งลักษณ์จะถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

ดังนั้น ภายในสถานการณ์เช่นนี้หากพรรคเพื่อไทยเสียแม่ทัพและขุนพลไปหลายคนในคราวเดียวกัน ย่อมส่งผลให้พรรคอยู่ในสภาพเสียศูนย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้