posttoday

อิทธิฤทธิ์ มาตรา 44 ปี'60เร่งสร้างผลงานก่อนลงหลังเสือ

28 ธันวาคม 2559

2 ปีเศษในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

2 ปีเศษในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้งัดมาตรา 44 ออกมาใช้จำนวนมาก หลักการคือเน้นแก้ปัญหาบ้านเมืองที่จำเป็นเร่งด่วน หวังดับไฟเสียแต่ต้นลม แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาที่ยุ่งยากไม่ให้เกิดความล่าช้าเหมือนอดีตที่ผ่านมา

ขณะที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่ามาตรา 44 เป็นการเร่งเครื่องการใช้อำนาจพิเศษด้วยการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จและ ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อหวังต่อท่ออำนาจตัวเองให้อยู่ยาว

นโยบายแรกๆ ในการใช้มาตรา 44 พุ่งเป้าไปที่นโยบายด้านความมั่นคงที่ คสช.ให้ความสำคัญ คือการบังคับใช้กฎหมายและจัดระเบียบสังคม โดยเฉพาะนโยบายการขจัดกลุ่มผู้มีอิทธิพล บ่อนการพนัน อาวุธสงคราม สินค้าผิดกฎหมาย เพราะเห็นว่ามีผลกระทบต่อสุจริตชน โดยให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เร่งขจัดสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรา 44  เพิ่มอำนาจทหารคุมการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า โดยออกมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น ป้องกันการบุกรุกที่สาธารณะ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะกีดขวางทางจราจร จนกลายเป็นที่มาของยุทธการทวงคืนพื้นที่ป่านับหมื่นไร่ มาแจกประชาชนที่ยากจนไร้ที่ดินทำกินตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของ พล.อ.ประยุทธ์

อีกหนึ่งปัญหาสังคม คือ เด็กแว้น ที่หมักหมมมานาน คสช.ต้องการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเป็นระบบ จึงใช้มาตรา 44 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2558 ออกคำสั่งเรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์

อีกปัญหาที่คาราคาซังมานานไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาจนต้องยอมแพ้ นั่นคือการดำเนินการกับกลุ่มผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา จนในที่สุดมีคำสั่งมาตรา 44 วันที่ 1 พ.ค. 2558 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแต่งตั้ง “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้เป็นประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

สาระสำคัญของมาตรการดังกล่าว คือ ใช้ไม้แข็งลงโทษหนักกับผู้ค้าสลากเกินราคา พร้อมจูงใจการออกรางวัลเลขหน้า 3 ตัว ที่สำคัญ “บิ๊กแดง” สั่งล้างบาง 5 เสือ หรือผู้ค้าสลากรายใหญ่ที่ผูกขาดโควตามายาวนาน พร้อมกับนำระบบจัดสรรใหม่มาใช้จนสามารถกระจายสลากได้อย่างทั่วถึง

ขณะเดียวกันตลอดช่วง 2 ปีเศษ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจมาตรา 44 แต่งตั้งโยกย้ายแบบสายฟ้าแลบมาแล้วเกือบพันตำแหน่ง ไล่ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี ไปจนถึงข้าราชการหางแถว แต่ตำแหน่งที่สร้างความฮือฮาทางการเมืองมากที่สุด คือมาตรา 44 ปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ถูกปลดในขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง

สาเหตุที่หัวหน้า คสช.ถึงกับต้องงัดมาตรา 44 เพราะได้รับรายงานจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่าโครงการประดับไฟตกแต่งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของ กทม. บริเวณลานคนเมืองวงเงิน 39.5 ล้านบาท ไม่โปร่งใส คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รับลูกสอบสวนต่อเพื่อเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังออกคำสั่งมาตรา 44 เอาจริงเอาจังในการปราบปรามการทุจริตโดยเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยการสั่งพักงานชั่วคราว

ล็อตแรกช่วงเดือน พ.ค. 2558 สั่งพักงานข้าราชการจำนวน 45 คน ซึ่งมีมูลเหตุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ ถัดมาเดือน มิ.ย. 2558 จำนวน 60 ตำแหน่ง รวมทั้งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต่อมาเดือน ม.ค. 2559 ล็อต 3 สั่งพักงานผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการพลเรือน ผู้บริหาร และข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวม 59 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ จากนั้นก็มีคำสั่งมาตรา 44 สั่งพักงานทยอยออกมาเรื่อยๆ จนล่าสุดเข้าสู่ล็อตที่ 8 แล้ว

แม้รัฐบาล คสช.จะประสบความสำเร็จในการบริหารความสงบเรียบร้อยการเมืองภายในประเทศได้อย่างราบรื่น แต่ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศก็ยังเป็นมรสุมรุมเร้า

โดยเฉพาะปัญหาความปลอดภัยทางการบิน ซึ่งกรมการบินพลเรือนของไทยสอบตกตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) จนวันที่ 11 ก.ย. 2558 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งมาตรา 44 แก้ปัญหาการกํากับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย โดยสาระสำคัญคือให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” หรือ ศบปพ. เป็นศูนย์เฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาการบินพลเรือนโดยตรง

ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2558 หรือ TIP Report ปรากฏว่าไทยยังอยู่อันดับต่ำสุด หรือเทียร์ 3 สิ่งที่น่ากลัวกว่าเทียร์ 3 คือไอยูยู หรือการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน หรือไร้การควบคุม หลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้ให้ใบเหลืองเตือนไทยในการแก้ปัญหาไอยูยู จนวันที่ 29 เม.ย. 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย” (ศปมผ.) เป็นศูนย์เฉพาะกิจ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ยิ่งช่วงโค้งสุดท้ายของโรดแมป คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งมาตรา 44 ต่อลมหายใจผู้ประกอบการด้วยการช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ (ทีวีดิจิทัล) จำนวน 22 ช่อง ที่ให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล

รวมถึงการเร่งงานปฏิรูปตามโรดแมประยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพราะเห็นว่าองค์กรเหล่านี้มีปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน กับหน่วยงานที่มีอยู่เดิม

ในปี 2560 จากนี้น่าจับตาการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 จะทยอยปั๊มออกมาอีกมากน้อยแค่ไหน เพื่อหวังสร้างผลงาน และกระชับอำนาจก่อนจะลงจากหลังเสืออย่างสง่างามตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ สัญญาไว้