posttoday

ปฏิบัติการแฮ็กเว็บรัฐ จุดไม่ติด แนวร่วมหาย

26 ธันวาคม 2559

แนวร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เริ่มเปิดหน้าออกมาเคลื่อนไหว​​ทั้ง “บนดิน” และ “ใต้ดิน”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แนวร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เริ่มเปิดหน้าออกมาเคลื่อนไหว​​ทั้ง “บนดิน” และ “ใต้ดิน” ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 168 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ให้ความเห็นชอบในวาระ 3 รอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

เริ่มตั้งแต่กลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในนาม FIST คือ Free Internet Society of Thailand ที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เรียกได้ว่าเป็นพลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และประชาชนคนรุ่นใหม่ที่เปิดหน้าออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.แบบชัดเจน ด้วยรูปแบบที่ยังพอแสดงออกได้ ท่ามกลางกฎระเบียบและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาสะกดการเคลื่อนไหวไม่ให้บานปลาย

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้จึงไม่ใช่เป็นการรวมตัวระดมมวลชนเป็นกลุ่มใหญ่​ที่เน้นมวลชน แต่เป็นการเแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หรือสะท้อนความคิดไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คอมพ์​​ ทั้งการใช้นกพิราบที่พับเขียนข้อความแสดงถึงร่างกฎหมายนี้ ทำให้ถูกคุมและสูญเสียอิสระการสื่อสาร

ร่วมกับการยืนแสดงป้ายข้อความคัดค้านต่างๆ ​ทั้ง  “Free Internet”, “Invasion of privacy”, “We say No to internet censorship”

อีกด้านหนึ่งยังมีประชาชนร่วม 3.6 แสนคน ที่ออกมาร่วมลงรายชื่อไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.คอมพ์ที่ถือเป็นจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดความเห็นตรงกันไม่ยอมรับ พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับนี้

ท่ามกลางบรรยากาศและกฎระเบียบที่คุมเข้ม ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับนี้ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่

การจุดกระแสคัดค้าน พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับนี้ จึงไม่สามารถจุดติดในวงกว้างหรือปรากฏความเคลื่อนไหวในสื่อกระแสหลักอย่างเต็มที่เหมือนในสภาวะปกติ

รูปแบบการเคลื่อนไหวคัดค้าน หรือการออกมาแสดงเหตุผลไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ส่วนใหญ่จึงออกมาในรูปแบบของการเคลื่อนไหวรณรงค์ในอินเทอร์เน็ต​

ทว่าด้วยพลังของแนวร่วมที่เคลื่อนไหวเป็นหลักในอินเทอร์เน็ต ต่อให้มีพลเมืองเน็ตออกมาคัดค้านมากแค่ไหนก็ไม่อาจสั่นคลอนหรือมีพลังที่จะทัดทานความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.คอมพ์จากฝั่ง คสช.

สุดท้าย พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ด้วยคะแนนเอกฉันท์

ดังจะเห็นว่ากระแสเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณา หรือถอนร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ออกไปจากระบบตั้งแต่แรก ก็ดูจะไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ทางฝั่ง สนช.รับฟัง

ขณะที่กระแสสังคมยังไม่มีทีท่าจะขานรับหรือตื่นตัวไปกับกระแสคัดค้านเนื้อหา พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับนี้เสียเท่าไร แถมมีบางส่วนที่ดูจะขวางหูขวางตาไปกับการเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บคอมพ์ด้วยซ้ำ​

นอกจากกระแสคัดค้านที่ยังจุดไม่ติด มวลชนคนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นปัญหากับทั้งส่วนตัวหรือกับทั้งสังคมโดยรวมแล้ว การเคลื่อนไหวของกลุ่มต้านในหลายกรณียังทำให้แนวร่วมที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกันมาอาจต้องหล่นหายไประหว่างทาง

ด้านหนึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบในวาระ 3 เรียบร้อย ไม่อาจดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้นอกจากรอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ไม่อาจถอนหรือชะลอการบังคับใช้ต่อไปได้ ต่อให้คัดค้านไปอย่างไร ผลสุดท้ายก็ไม่อาจทัดทานการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้

ขั้นตอนที่พอจะเป็นไปได้สำหรับการคัดค้านกฎหมายนี้คือ ต้องรอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จากนั้นจึงใช้ขั้นตอนร่วมลงรายชื่อเพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.คอมพ์ตามระบบต่อไป

การจุดกระแสคัดค้านเวลานี้จึงเหมือนเป็นเพียงความพยายามปลุกให้มวลชนออกมาตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะตามมาหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้

แต่ปัญหาอยู่ตรงที่การเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.คอมพ์รอบนี้ ดูจะบานปลายไปถึงมีกลุ่มออกมาโต้กลับด้วยการแฮ็กเว็บไซต์ภาครัฐหลายเว็บ

ไล่มาตั้งแต่​เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th สํานักนายกรัฐมนตรี www.opm.go.th. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ www.nsc.go.th

ต่อเนื่องมาที่เว็บไซต์กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และการประกาศตัวของกลุ่ม Anonymous อ้างว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลระดับ Adminstration ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

การเคลื่อนไหวตรงนี้นอกจากจะไม่ทำให้ภาครัฐสะทกสะท้านแล้ว กลุ่มที่เคลื่อนไหวแนวนี้ยังถูกไล่ติดตามจับกุมตัวตามฐานความผิดที่ออกมา

ที่สำคัญการกระทำที่ดูเหมือนจะเกินเลยเหล่านี้ ทำให้แนวร่วมที่เคยออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.คอมพ์ต้องเฟดตัวออกไป ​

สุดท้ายย่อมทำให้พลังการเคลื่อนไหวมีแต่อ่อนแรงลงไป