posttoday

ปฏิรูประบบราชการ ปิดกั้นคอร์รัปชั่น

23 ธันวาคม 2559

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จะมีการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง “การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบข้าราชการไทยให้เป็นรูปธรรม”

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จะมีการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง “การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบข้าราชการไทยให้เป็นรูปธรรม” ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม พิจารณาแล้วเสร็จ ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ ระบบราชการถือเป็นเสาหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ นอกเหนือจากภาคการเมือง ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน โดยระบบราชการมีบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ จำนวนกว่า 2 ล้านคน เป็นพลังสำคัญในการปฏิรูป

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ได้มีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ โดยมีมาตรการพัฒนากลไกและกระบวนการในการสร้างคุณธรรมในระบบราชการ เพื่อขจัดปัญหาจากระบบอุปถัมภ์ให้หมดสิ้นไป จึงมีการกำหนดเป็นสาระสำคัญในการใช้ระบบคุณธรรมเพื่อบริหารงานบุคคลภาครัฐ

ซึ่งเอาไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 42 เพื่อให้หน่วยงานราชการยึดถือปฏิบัติ แต่ปรากฏว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้มีอำนาจในระบบราชการกลับไม่ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ อย่างจริงจังเคร่งครัด

“ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการและประเทศชาติโดยรวม อีกทั้งยังส่งผลต่อขวัญกำลังใจและประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการของข้าราชการภาคส่วนต่างๆ มาโดยตลอด”

จากข้อมูลดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index) ตามที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้จัดทำขึ้น พบว่าปี 2555-2557 มีการประเมินไทยให้ได้คะแนน 37, 35 และ 38 ตามลำดับ จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และในปี 2558 ไทยได้ 38 คะแนน อยู่ในอันดับ 76 จากการจัดอันดับทั่วโลกทั้งหมด 168 ประเทศ จากคะแนนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ด้านการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยยังคงน่าเป็นห่วง

ลักษณะระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย

ความสัมพันธ์ทางสังคมของไทยมีลักษณะแบบผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์ แยกออกเป็น 4 รูปแบบ คือ 1.ระบบอุปถัมภ์ในหมู่ญาติ นับว่าเป็นระบบที่เก่าแก่ในสังคมไทยตามวัฒนธรรมความสัมพันธ์ระหว่างญาติอาวุโส (พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย) กับญาติผู้น้อย (น้อง ลูก หลาน เหลน) เป็นความสัมพันธ์อุปถัมภ์ชัดเจน

2.ระบบอุปถัมภ์ในหมู่มิตรสหาย ซึ่งปรากฏได้หลายรูปแบบ อาทิ เพื่อนเล่น เพื่อนร่วมรุ่น เป็นต้น ซึ่งความคาดหวังระหว่างเพื่อนมีความลึกซึ้งและมากกว่าบางสังคม 3.ระบบอุปถัมภ์ในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอกชนก็ตาม มักจะถูกมองในแง่ลบว่าระบบอุปถัมภ์ทำให้ระบบบริหารขาดประสิทธิภาพ ซึ่งมีส่วนจริงอยู่บ้าง และ 4.ระบบอุปถัมภ์ระหว่างอาชีพ เป็นระบบที่น่าจะมีลักษณะคงทนน้อยกว่าระบบแบบอื่นๆ

โดยระบบนี้อาจจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มข้าราชการ พ่อค้ากับกลุ่มการเมือง ชาวไร่ ชาวนา การอุปถัมภ์ระหว่างข้าราชการและพ่อค้าเป็นไปในรูปแบบของการแลกเปลี่ยน
ผลประโยชน์ทางด้านวัตถุระหว่างกันมากกว่า คือ ฝ่ายราชการจะอำนวยสิทธิประโยชน์ให้แก่พ่อค้า นักธุรกิจ ซึ่งจะเป็นฝ่ายทดแทนบุญคุณหรือตอบแทนด้วยการให้เงินทองหรือทรัพย์สินมีค่าอย่างอื่น

ข้อเสนอแนะการดำเนินการบริหาร

รัฐบาลให้ความสำคัญในทางปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม ด้วยการที่ผู้นำระดับสูงทุกภาคส่วนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างและถือปฏิบัติตามระบบคุณธรรม ใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักในการบริหารบ้านเมืองให้เป็นนโยบาย

หรือวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมมือร่วมใจกันและการกำหนดเป็นแนวคิดที่ต้องปฏิบัติไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการมีประมวลจริยธรรมที่ต้องสำนึกและปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น การห้ามรับของขวัญ รับเลี้ยง รับสินบน หรือเล่นกอล์ฟกับผู้ที่มีส่วนได้ประโยชน์ หรือการห้ามราชการเกษียณอายุราชการแล้วเข้าไปรับทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคธุรกิจเอกชนที่ข้าราชการผู้นั้นเคยมีอำนาจอยู่ในหน่วยราชการนั้นๆ ในระยะเวลาอย่างน้อย2 ปี หลังจากเกษียณอายุราชการ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรสำคัญที่มีผลต่อการบริหารงานบุคคลของส่วนราชการ เช่น 1.การจัดตั้งองค์กรกลางการบริหารงานบุคคลเพื่อเป็นกลไกในการควบคุม และกำกับดูแลการบริหารงานบุคคลภาครัฐให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน มีความเป็นกลาง

2.การจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมแห่งชาติ โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ และคุ้มครองระบบคุณธรรม ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ 3.การสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของข้าราชการในรูปแบบต่างๆ เช่น ชมรม สมาคม สหภาพที่มีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครอง เป็นกลไกที่จะสร้างความสมดุลให้เกิดความเป็นธรรมจากกระบวนการบริหารงานบุคคล

และ 4.การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาของส่วนราชการตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถเข้าไปตรวจสอบ อันเป็นการควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยภาคประชาชนอีกทางหนึ่ง