posttoday

‘เฟด’ สะเทือนโลก มุ่งขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า 3 ครั้ง

16 ธันวาคม 2559

เฟด ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.25-0.50% เป็น 0.50-0.75% ตามคาดหมาย และยังปรับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2017

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.25-0.50% เป็น 0.50-0.75% ตามคาดหมาย และยังปรับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2017 โดยค่ากลางคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (เอฟโอเอ็มซี) อยู่ที่ระหว่าง 1.25-1.50% ปรับขึ้นจากคาดการณ์เดือน ก.ย.ที่ 0.50-0.75% หรือหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จะมีการขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 3 ครั้งในปีหน้า

นอกจากนี้ เฟดยังขึ้นคาดการณ์สำหรับปี 2018 และ 2019 เช่นกัน โดยค่ากลางแนวโน้มจากเอฟโอเอ็มซีอยู่ที่ 2-2.25% ในปี 2018 หรือหมายถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จำนวน 3 ครั้ง ขณะที่ของปี 2019 อยู่ที่ 2.75-3% ซึ่งหมายถึงการขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้ง

เจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการเฟด เปิดเผยว่า การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวรองรับเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งและการจ้างงานที่กลับมาอยู่ในระดับก่อนเศรษฐกิจถดถอยในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นให้การจ้างงานกลับมาเต็มอัตรา

การเปิดเผยดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์ว่า นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เช่น การปรับลดภาษีและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นมาตรการทางการคลัง จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐปรับสูงขึ้น

“ฉันไม่อยากคาดการณ์ไปก่อนจนกว่าจะได้รับข้อมูลที่ชัดเจน และจนกว่าจะมีแนวโน้มที่สิ่งเหล่านั้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจ” เยลเลน กล่าว

เยลเลน ระบุว่า แม้สมาชิกเอฟโอเอ็มซีบางส่วนจะเห็นด้วยต่อการนำมาตรการดังกล่าวมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ แต่เฟดไม่ได้มีการปรับขึ้นคาดการณ์เงินเฟ้อหลัก ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน โดยยังคงไว้อยู่ที่ 1.8% ในปี 2017 และ 2% ในปี 2018 โดยการลงทุนจากภาครัฐถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเล็กๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทำให้เฟดต้องขึ้นคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ย

ภายหลังการเปิดเผยของเฟด ราคาทองคำปรับลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ 3 ก.พ. ขณะที่เมื่อวานนี้ ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นเทียบสกุลเงินหลักในตะกร้าค่าเงินใกล้จุดสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยแตะ 117 เยน/เหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน และยังแตะระดับ 1.0468 เหรียญสหรัฐ/ยูโร เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2015 ซึ่งหลายฝ่ายกำลังจับตาว่าค่าเงินยูโรอาจอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 1 เหรียญสหรัฐ/ยูโร เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2002

ด้านตลาดหุ้นเอเชีย นอกจากตลาดหุ้นโตเกียวที่ปิดบวกได้ 0.10% จากปัจจัยค่าเงินเยนแล้ว ตลาดหุ้นสำคัญๆ ส่วนใหญ่ในเอเชียต่างปิดตลาดในแดนลบ โดยดัชนีเอ็มเอสซีไอเอเชีย-แปซิฟิก นอกญี่ปุ่นปรับลดลง 1.2% ตามหลังดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ที่ปิดตัวแดนลบ เนื่องจากตลาดประหลาดใจต่อคาดการณ์ดอกเบี้ยปีหน้าของเฟดที่จะปรับขึ้น 3 ครั้ง 


แบงก์ชาติโลกตั้งรับเฟด

หลังการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพียงไม่กี่นาที ประเทศที่มีการผูกค่าเงินเอาไว้กับเหรียญสหรัฐ อย่างประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลาง 0.25% เป็น 0.75% ด้านคูเวตขึ้นในอัตราเท่ากันเป็น 2.50% เช่นเดียวกับบาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และกาตาร์ ที่มีความเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว ขณะที่ประเทศอื่น เช่น โอมาน อาจมีความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันตามมาภายหลัง

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการเงินฮ่องกง (เอชเคเอ็มเอ) ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1% ตามหลังเฟดเช่นเดียวกัน โดยนอร์แมน ฉาน ทัค-ลัม ประธานบริหารเอชเคเอ็มเอ ออกโรงเตือนว่า การขึ้นดอกเบี้ยที่จะตามมาอีกหลายครั้งในปีหน้า จะส่งผลให้เกิดภาวะทุนไหลออกจากฮ่องกง หลังได้รับเงินทุนไหลเข้ามาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ราว 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.5 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงปิดการซื้อขายเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

ด้านธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ตั้งค่ากลางเงินหยวนเอาไว้ที่ 6.9289 หยวน/เหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2008 หลังค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ขณะที่ตลาดหุ้นจีนปิดการซื้อขายต่ำสุดในรอบ 1 เดือน

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานอ้างเทรดเดอร์จากธนาคารในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า ธนาคารรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีน ต่างเทขายค่าเงินเหรียญสหรัฐที่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนออนชอร์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อช่วยพยุงค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่าลงมากเกินไปนัก หลังก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ธนาคารรัฐวิสาหกิจจีนมีการนำเสนอสภาพคล่องในสกุลเหรียญสหรัฐในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงไปแล้วมากกว่า 7% ในรอบ 1 ปี

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (บีโอเค) คงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25% เพื่อช่วยเศรษฐกิจที่เผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะกดดันการใช้นโยบายของรัฐบาลและการลงทุนของภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า บีโอเคไม่สามารถตัดสินใจได้ระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก กับการคงหรือลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม อีจูยอล ผู้ว่าการบีโอเค ระบุว่า เฟดไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่บีโอเคใช้ในการตัดสินใจ แต่จะต้องดูเศรษฐกิจภาพรวมด้วย