posttoday

ปรับครม.บิ๊กตู่4 เร่งผลงาน-สร้างศรัทธา

09 ธันวาคม 2559

การเมืองไทยเดินมาถึงช่วงสำคัญอีกครั้ง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ กำลังตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยเดินมาถึงช่วงสำคัญอีกครั้ง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ปรากฏว่าดูท่าทีของผู้นำรัฐบาลยังสงวนท่าทีกับการปรับ ครม.ครั้งนี้อยู่พอสมควร

ไล่มาตั้งแต่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามจะบ่ายเบี่ยงไม่อยากตอบคำถามนักข่าว ด้วยการย้อนว่า “อยากเป็นหรือเปล่า” หรือแม้แต่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ เดี่ยวมือหนึ่งด้านกฎหมายของรัฐบาลก็พยายามสับขาหลอกเช่นกันว่า “ไม่ทราบ ซึ่งเรื่องปรับ ครม. นายกฯ บอกแล้วว่าเป็นอำนาจของนายกฯ ที่จะตัดสินใจ และกรุณาอย่าไปถามคนอื่นเลย ไม่มีใครตอบได้ทั้งนั้นนอกจากนายกฯ”

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว ถึงอย่างไรเสียนายกฯ ก็คงเข้าสู่โหมดการปรับ ครม.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีเหตุผลอยู่ 2 ประการ

1.การเข้าไปทำหน้าที่องคมนตรี ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ทำให้เก้าอี้ใน ครม.ว่างลง 2 ตัวทันที

2.สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองกำลังรุมเร้ารัฐบาล

เมื่อสองปัจจัยมาบรรจบกันเช่นนี้ จึงเป็นการบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจปรับ ครม.ไปโดยปริยาย แต่สถานการณ์เช่นนี้มีความเป็นไปได้สูงที่การปรับ ครม.จะไม่ได้มีแค่ 2 ตำแหน่งที่ว่างลง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้โอกาสนี้ปรับ ครม.ล็อตใหญ่ไปในตัว เพื่อให้ “ครม.ตู่4” มีหน้าตาออกมาดูดีที่สุด

การปรับ ครม.รอบนี้ เป้าหลักอยู่ที่กระทรวงเศรษฐกิจ แม้รัฐบาลจะมี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มาทำหน้าที่รองนายกฯ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพักใหญ่แล้ว แต่ปรากฏว่ารัฐบาลยังคงเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นระยะ ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงระยะหลังนี้ ส่วนใหญ่ยังคงไม่ประทับใจปัญหาการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเท่าไหรนัก

จึงอย่าได้แปลกใจว่าทำไมเริ่มมีข่าวออกมาว่ากำลังมีแนวคิดจะเอา อุตตม สาวนายน อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มานั่งเก้าอี้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนเก้าอี้กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญอีกหลายกระทรวงอย่างกระทรวงพาณิชย์กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้หน้าตาทีมเศรษฐกิจดูดีขึ้น

โดยรัฐบาลก็หวังว่าเมื่อมีการปรับ ครม.โดยเฉพาะเศรษฐกิจแล้ว จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยตื่นตัวมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังพยายามจะเร่งผลักดันในรอยต่อปี 2559-2560 ซึ่งเร็วๆ นี้รัฐบาลเตรียมจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี) ประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 1.9 แสนล้านบาททั้งนี้

รัฐบาลวางแผนไว้ว่า แหล่งเงินจะมาจาก 2 ส่วน คือ ภาษีสภาพคล่องส่วนเกิน กำไรสะสมของรัฐวิสาหกิจกับส่วนราชการอื่นๆ 27,078.3 ล้านบาท และเงินกู้โดยออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 162,921.69 ล้านบาท และจะเสนอกฎหมายเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงต้นปี 2560

นอกเหนือไปจากกระทรวงเศรษฐกิจที่อยู่ในข่ายผ่าตัดใหญ่แล้ว ยังมีกระทรวงในสายสังคมที่จำเป็นต้องรื้อเช่นกัน

กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงยุติธรรม เป็นสองกระทรวงที่ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทั้งสองคน ทั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ และ พล.อ.ไพบูลย์ ลาออกไปดำรงตำแหน่งองคมนตรี

การหารัฐมนตรีมาแทนทั้งสองคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะงานของสองกระทรวงนี้มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานใหญ่ๆ ของรัฐบาล

อย่าง พล.อ.ไพบูลย์ คือ หัวเรี่ยวหัวแรงของรัฐบาลในการเดินหน้าปราบปรามการทุจริตและการดำเนินคดีความสำคัญหลายคดี หรือในรายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ นั้นก็ได้วางแนวทางเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปการศึกษาไว้พอสมควร ดังนั้นรัฐมนตรีใหม่ที่จะมาสานงานต่อจึงต้องเป็นคนที่สามารถเล่นดนตรีเพลงเดียวกันได้

ล่าสุด เริ่มมีรายงานข่าวที่ระบุถึงบุคคลที่เป็นตัวเต็งกันมาบ้างแล้ว เช่น ในกรณีของ รมว.ยุติธรรม มีแคนดิเดตที่น่าจับตามองอย่าง พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม และเป็นหัวหน้าสำนักงานของพล.อ.ไพบูลย์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ขณะที่ เก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ มีการเสนอให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ขยับขึ้นมาเป็นแทน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละชื่อนั้นล้วนเป็นกันเองของคสช.แทบทั้งสิ้น

การปรับ ครม.ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งสำคัญที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ว่าได้ เพราะเป็นช่วงปลายอำนาจของรัฐบาลและ คสช. อีกทั้งเป็นรอยต่อสำคัญของประเทศที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560

เพราะฉะนั้น หาก ครม.ตู่ 4 สามารถสร้างผลักดันและสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ได้ โอกาสที่คสช. จะลงจากอำนาจอย่างสวยงามก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินไป แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น การจากไปของ คสช.คงไปพร้อมกับคำว่า “เสียของ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้