posttoday

พลิกแฟ้ม 10 องคมนตรี ผสมผสาน ‘ทหาร-พลเรือน’

07 ธันวาคม 2559

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง 10 องคมนตรี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่คณะองคมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตําแหน่ง องคมนตรี และทรงพระราชดําริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรี อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบกับมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี จำนวน 10 คน ดังนี้

1.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2468 ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตข้าราชการ คือ ผู้บัญชาการทหารบก ภายหลังเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2546 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งในปี 2549 เพื่อไปทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เมื่อสิ้นสุดการทำหน้าที่นายกฯ ก็ได้กลับมาดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกครั้ง

2.นพ.เกษม วัฒนชัย เกิดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2484 เคยดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ในช่วง พ.ศ. 2544 แต่ทำงานในตำแหน่งดังกล่าวได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งก็ได้ตัดสินลาออก ก่อนจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรีในปีเดียวกัน ทั้งนี้ นพ.เกษม มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการสร้างแพทย์ชนบทขึ้นในประเทศไทย

3.พลากร สุวรรณรัฐ เกิดเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2491 จบการศึกษาปริญญาโท M.A.I.A.(International Affairs, Southeast Asian Studies) จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ชีวิตราชการผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญมามากมายเช่น รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2544

4.อรรถนิติ ดิษฐอํานาจ เกิดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2487 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย (สอบได้อันดับที่ 3 ของสมัยที่ 18) ปี 2508 และปริญญาโทด้านกฎหมาย จาก Harvard Law School ประเทศสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการ คือ ประธานศาลฎีกา และภายหลังเกษียณอายุราชการได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2550

5.ศุภชัย ภู่งาม เกิดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2488 จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย ชีวิตราชการเติบโตมาจากการเป็นผู้พิพากษาและผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ รองอธิบดีศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยในปี 2547 ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาต่อจากอรรถนิติและเกษียณอายุราชการในปี 2548 จากนั้นปี 2551 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี

พลิกแฟ้ม 10 องคมนตรี ผสมผสาน ‘ทหาร-พลเรือน’

6.ชาญชัย ลิขิตจิตถะ เกิดเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2498 จบการศึกษาคณะนิติศาสตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย โดยได้ทำหน้าที่ผู้พิพากษามาอย่างมากมาย เช่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา หัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลฎีกา ต่อมาปี 2549 ได้เข้ามาทำหน้าที่ รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ ภายหลังสิ้นสุดการทำหน้าที่รัฐมนตรีก็กลับมารับราชการเป็นผู้พิพากษาอาวุโส และหลังจากเกษียณอายุราชการได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี ในปี 2551

7.พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก เกิดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2491 จบการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 6 โรงเรียนนายเรืออากาศ รุ่นที่ 13 ชีวิตการรับราชการในกองทัพอากาศได้ขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดอย่างผู้บัญชาการทหารอากาศ ในปี 2549 ทำหน้าที่รองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หลังจากเกษียณอายุราชการ พล.อ.อ.ชลิต ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี เมื่อปี 2554

8.พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2496 จบการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 63 ตำแหน่งสำคัญที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้ทำหน้าที่ คือ เสนาธิการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารบก ขณะเดียวกันได้เข้ามาร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ รมว.ศึกษาธิการ

9.พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เกิดเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2498 จบการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25 รับราชการในกองทัพมาอย่างยาวนานและดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นรองเสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากเกษียณอายุราชการได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

10.พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เกิดเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2498 โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 15 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 26 เคยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. ต่อมาเข้ามาทำหน้าที่เป็น รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งนี้ ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 บัญญัติให้ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”