posttoday

ขยาด กฎหมายลูก ลดอำนาจพรรคการเมือง

07 ธันวาคม 2559

บรรยากาศการเมืองส่อเค้ากลับมาวุ่นวายอีกรอบ เมื่อบรรดาสมาชิกพรรคการเมืองเริ่มขยับออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

บรรยากาศการเมืองส่อเค้ากลับมาวุ่นวายอีกรอบ เมื่อบรรดาสมาชิกพรรคการเมืองเริ่มขยับออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)​ กำลังจัดทำ​

หลายเสียงออกมาสะท้อนปัญหาและความเป็นห่วงเนื้อหาที่เข้มงวดในกฎหมายลูกหลายฉบับ

โดยเฉพาะกับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่เริ่มปรากฏเนื้อหารายละเอียดไปแล้วบางส่วน ซึ่งพบว่ามีความแตกต่างจากกฎหมายพรรคการเมืองในอดีตหลายประเด็น

เริ่มตั้งแต่ประเด็นเรื่องการจัดตั้งพรรค เงินทุนประเดิม การจ่ายเงินอุดหนุนพรรคการเมือง เรื่อยไปจนถึงกระบวนการตรวจสอบการทำงานของกรรมการบริหารพรรคที่เข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น ยังไม่รวมกับประเด็นจำนวนสมาชิกพรรคที่กระทบถึงพรรคเล็กในปัจจุบันหลายสิบพรรค

​จนนำมาสู่การตบเท้าออกมาดักคอแสดงความเป็นห่วงในหลายแง่หลายมุมจากคนการเมือง

​ทั้ง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่เปรียบเทียบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนอวัยวะต่างๆ ที่จะทำให้ร่างกายสมบูรณ์ ดูดีไม่พิกลพิการ ขอให้ กรธ.ทำกฎหมายลูกออกมาให้ดี คิดให้รอบคอบ อย่าเอาแขนขาเทียมที่ทำขึ้นมาจากวัสดุที่ด้อยคุณภาพมาทำเป็นอวัยวะ แล้วในที่สุดก็ต้องมานั่งซ่อมแซม ยิ่งเจอทีมช่างที่เอาของไม่ดีมาทำเป็นอะไหล่มาหลอกใช้ในการซ่อมแซมก็ยิ่งแย่กันไปใหญ่

“ขอให้การยกร่างกฎหมายประกอบต่างๆ อย่าให้มีบทบัญญัติที่เป็นการบีบบังคับ แข็งกร้าว เอาเปรียบจนทำอะไรแทบไม่ได้”

ไม่ต่างจาก สมคิด เชื้อคง อดีต สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ที่มองว่า พ.ร.บ.พรรคการเมืองจะสร้างความยุ่งยากกับพรรคการเมือง โดยกำหนดกฎเกณฑ์มากมาย โดยเฉพาะพรรคการเมืองเก่าที่จดทะเบียนไว้แล้ว หรือพรรคการเมืองใหม่ที่จะเริ่มต้นล้วนแต่สร้างภาระให้พรรคการเมืองทั้งสิ้น

แม้กระทั่งการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ต้องจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค ซึ่งผิดธรรมชาติการรวมตัวของประชาชนที่จะทำกิจกรรมทางการเมือง พ.ร.บ.พรรคการเมืองควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ให้ประชาชนรวมตัวกันได้โดยง่าย ไม่ควรมีกติกาที่หยุมหยิมจนเกินเลย เพราะพรรคการเมืองเติบโตได้ด้วยความเชื่อมั่นและความศรัทธาของประชาชน มิใช่กติกาที่บังคับ

คล้ายกับ อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย  ที่แสดงความเป็นห่วง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีความพยายามบั่นทอนให้พรรคและการเมืองไทยอ่อนแอ สร้างข้อจำกัด วางกฎระเบียบมากมายที่เต็มไปด้วยอคติต่อฝ่ายการเมือง

“เชื่อว่าหากดื้อดึงออกมาในลักษณะที่ว่านี้จะสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นก่อนถึงการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เพราะมีการควบคุมพรรคการเมืองมากกว่า”

​แม้ทาง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยในเนื้อหา แต่ก็แสดงความเป็นห่วงเรื่องการปรับเปลี่ยนจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ค่อนข้างรุนแรง อาจทำให้พรรคการเมืองใหม่หรือพรรคที่ไม่เคยทำตามแนวทางอย่างนี้ก็อาจจะปรับตัวไม่ค่อยทัน

แน่นอนว่าเป้าหมายของ กรธ.นั้นอยู่ที่ต้องการแก้ปัญหาการเมืองในอดีต ทั้งพรรคการเมืองถูกครอบงำโดยนายทุน ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง จนนำมาสู่การจัดวางระบบพรรคการเมืองใหม่

แต่อีกด้านในมุมของคนการเมืองกลับมองว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยเกินไป อันจะกลายเป็นอุปสรรค​ต่อการบริหารของพรรคการเมืองในอนาคต​ เหมือนถูกตัดแขนตัดขา จนทำให้พรรคการเมืองอ่อนแรงยากจะขยับทำสิ่งต่างๆ

สอดรับกับข้อกังขาในอดีตเรื่องความการลดบทบาท สลายขั้วอำนาจพรรคการเมืองในอดีตเพื่อกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ ​แม้จะไม่มีการ “เซตซีโร่” อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่การตีกรอบกติกากำกับดูแลพรรคการเมืองใหม่นี้ ย่อมทำให้พรรคการเมืองกลับมาเร่ิมต้นนับหนึ่งกันใหม่หมด

แถมยังเอื้อให้การเกิดการสลายขั้ว หรือปรับเปลี่ยนโยกย้ายหรือตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่หวังว่าจะเป็นปัจจัยช่วยลดความขัดแย้งในอดีต แม้บางฝ่ายจะมองว่านี่จะทำให้กลไกพรรคการเมืองอ่อนแอกว่าเดิม

ปัญหานี้ทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่ขั้วอำนาจเก่าออกเริ่มออกมาเรียกร้องให้ กรธ.ทบทวนเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ประกอบพรรคการเมือง ไม่ให้มีรายละเอียดเข้าไปควบคุมพรรคการเมืองมากเกินไป

นับจากนี้แรงกดดันจากพรรคการเมืองที่ออกมาเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองคงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจะถึงขั้นมีน้ำหนักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้หรือไม่ ยังอาจอยู่ที่กระแสสังคมว่าจะคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรต่อไป