posttoday

เศรษฐกิจฟู่ฟ่า รากหญ้าป้อแป้

30 สิงหาคม 2553

ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย ถือเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้เป็นธงหลักในการพยายามลดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย ถือเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้เป็นธงหลักในการพยายามลดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

...ทีมข่าวการเงิน

 

เศรษฐกิจฟู่ฟ่า รากหญ้าป้อแป้

แต่ดูเหมือนว่าความพยายามที่ผ่านมาจะไม่เห็นผลมากนัก สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีที่ระดับ 10% สูงที่สุดในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา

แต่ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ของประเทศพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ยังจน” อัตคัดขัดสนชักหน้าไม่ถึงหลังเหมือนเดิม หาเงินได้แต่ละเดือนก็ยังฝืดเคือง ข้าวของเครื่องใช้แพงไปเสียทุกอย่าง

สะท้อนให้เห็นว่าความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจที่โตแบบกระทิงไล่ขวิดว่า เม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวยังกระจายออกไปไม่ถึงมือคนไทยทั่วทั้งประเทศ

กลายเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของคนรวยกลุ่มหนึ่งที่รวยเอา รวยเอา กับคนจนก็ยังเหมือนเดิม แถมคนไฮโซกับคนรากหญ้ายังเดินกันคนละทาง

จากสถิติพบว่า รายได้ระหว่างกลุ่มประชากร 20% ที่มีรายได้สูงสุดกับประชากร 20% ที่มีรายได้ต่ำสุด ยังมีความห่างกันถึง 12 เท่า ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับการกระจายรายได้รั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 50 ของโลก

หากวิเคราะห์ถึงไส้ในการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ระดับ 10% จะพบว่าผู้ส่งออกกลุ่มหนึ่งสามารถโกยรายได้มากที่สุด

โดยเฉพาะในสาขายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากไตรมาสแรกสินค้าส่งออกสำคัญคือรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวถึง 97.1%

รถยนต์นั่งขยายตัว 93.9% ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พาณิชย์ขยายตัวสูงถึง 108.2%

ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน มูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัวถึง 41.8% เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวแค่ 32% ในไตรมาสแรกปี 2553 โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ 25.7% จากที่เคยติดลบ 13.9% ในปีก่อน

ขณะที่ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 6.5% เป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพืชผลหลักเพิ่มขึ้น 27.8% โดยเฉพาะราคายางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้น 108.7% 93.8% และ 26.9% ตามลำดับ

ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 30% ประกอบกับภาวะการจ้างงานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีอัตราการว่างงาน 1.3%

จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้ส่งออก ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เอสเอ็มอีบางกลุ่มที่ผลิตสินค้าให้กับผู้ส่งออก และเกษตรกรบางกลุ่ม เช่น เกษตรกรที่ปลูกยางและมันสำปะหลังจะมีรายได้ดี

แต่ถ้าถามเกษตรกรที่ปลูกข้าวหรือผลไม้จะบอกเหมือนๆ กันว่า ปีนี้รายได้ไม่ดีนัก

นั่นสะท้อนภาพออกมาว่า แม้ส่งออกจะรวย แต่ความรวยไม่ได้กระจายตัวออกไปยังกลุ่มลูกจ้างพนักงาน พ่อค้า แม่ค้ายังมีรายได้เท่าเดิม ค้าขายยังฝืด

เพราะผู้ประกอบการส่งออกยังไม่ได้ส่งผ่านความรวยออกไปในการขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน เงินจึงอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

และคนกลุ่มนั้นมีเพียงแค่ไม่ถึง 2 หมื่นบริษัทเท่านั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีประชากรกว่า 60 ล้านคน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไม่กระจายไปทุกภาคส่วน เนื่องจากเหตุชุมนุมและการสลายการชุมนุมในช่วงเดือน เม.ย.พ.ค.ที่ผ่านมามีการประกาศเคอร์ฟิว ส่งผลให้ร้านค้าต้องปิดทำการ หรือค้าขายไม่ได้

ผลที่ตามมาทำให้ภาคค้าส่งและค้าปลีกขยายตัวได้เพียง 2.3% เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ที่ระดับ 9.1%

ถ้ามองในรายสาขาการผลิตจะพบว่ายังไม่กระจายตัวในทุกสาขา ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ ผู้ส่งออกและภาคอุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวได้ 18% ซึ่งถือว่าโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 9.1%

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 6% สะท้อนว่าคนที่รายได้มากขึ้นจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ดังนั้น โจทย์สำคัญของรัฐบาลคือ ต้องทำให้การกระจายตัวจากสาขาส่งออกไปสู่สาขาการผลิตอื่นๆ ในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุน

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องหาทางทำอย่างไรในอนาคตให้ประเทศไม่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเร่งการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนแทนการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลัก

ขณะที่ภาคเกษตรยังมีความเสี่ยง การผลิตที่ยังต่ำ และปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ แม้ราคาสินค้าจะดี แต่ต่อไปอาจมีปัญหาสินค้าราคาดี แต่ไม่มีผลผลิต หรือมีน้อย เพราะไม่มีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาแหล่งน้ำ และการจัดสรรทรัพยากรที่ดินให้เหมาะสม

รวมทั้งต้องมองที่เรื่องโครงสร้างประชากรด้วย เพราะแรงงานมี 38 ล้านคน ปัจจุบันคนเหล่านี้ยังมีรายได้คงที่ แต่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

อีกกลุ่มเป็นเกษตรกร 40% ที่บางกลุ่มอาจร่ำรวยขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ที่เพาะปลูกข้าวกลับเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เงินที่คาดว่าจะได้ดีเนื่องจากราคาข้าวปรับตัวขึ้นมาพักใหญ่ แต่ตอนนี้กลับราคาตกต่ำจนเกษตรกรชาวนาหน้าเหี่ยว

ดังนั้น จึงควรมุ่งผลประโยชน์การกระจายความเจริญไปที่กลุ่มเกษตรกร

ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งรัดเรื่องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเร่งออกมาตรการต่างๆ เช่น โครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร การลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาท เน้นที่เรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำและสาธารณูปโภคพื้นฐานให้การผลิตสินค้าเกษตรสามารถรองรับความต้องการตลาดโลกได้

ขณะเดียวกันยังต้องเร่งเรื่องการสร้างบรรยากาศกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทดแทนการลงทุนจากภาครัฐ

เนื่องจากคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยความเสี่ยงจากต่างประเทศ ทั้งจากสหรัฐในเรื่องของปัญหาการว่างงาน และปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อลดช่องว่างความรวยจน ยังเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลนี้จะจัดการได้อย่างเห็นผลในเร็วๆ นี้ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถจัดการด้านการพัฒนาทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเรื่องคน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มั่งคั่งทัดเทียมนานาประเทศ

ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาสูง

การเมืองยังขาดเสถียรภาพ ที่ผ่านมาสะท้อนแล้วว่าการเมืองเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจลงได้อย่างน่าใจหาย หลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นในการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนลดฮวบ

อีกทั้งยังมีการทุจริตกันอย่างกว้างขวางในทุกวงการ ขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมานาน ส่งผลให้ต้นทุนทางด้านการขนส่งยังสูงถึง 20% ของรายได้ประชาชาติ

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ยังถูกพ่อค้า ผู้ประกอบการกดราคาค่าจ้าง โดยอ้างว่ามีต้นทุนแพง

หากรัฐบาลยังไม่เร่งจัดการกับปัญหาเหล่านี้ เชื่อแน่ว่าคนที่จนก็ยังต้องจนต่อไป ส่วนใครจะรวยเท่าไรก็ปล่อยให้รวยเสียให้เข็ด