posttoday

คำถวายสัตย์ 3 นายกฯ เครื่องเตือนใจรัฐบาล

29 พฤศจิกายน 2559

การถวายสัตย์ปฏิญาณของประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นประเพณีปฏิบัติที่อยู่ในกฎหมายและไม่ได้อยู่ในกฎหมาย ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติที่สำคัญที่ดำเนินการสืบเนื่องมาเป็นเวลานาน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การถวายสัตย์ปฏิญาณของประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นประเพณีปฏิบัติที่อยู่ในกฎหมายและไม่ได้อยู่ในกฎหมาย ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติที่สำคัญที่ดำเนินการสืบเนื่องมาเป็นเวลานาน

กล่าวคือการถวายสัตย์ปฏิญาณตามกฎหมายนั้นมักจะใช้กับกรณีที่บุคคลเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมไปถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะกำหนดให้ สส.และรัฐมนตรีจะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ โดยมีข้อความดังนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ส่วนการถวายสัตย์ปฏิญาณนอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวาระสำคัญ อย่างเช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่งได้กล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 22 พ.ย.

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า พล.อ.ประยุทธ์ ขอนำประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า และทุกภาคส่วนซึ่งชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ถวายสัตย์ปฏิญาณเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช...

...แม้บัดนี้จะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่ยังทรงสถิตอยู่ในใจของปวงประชาชนชาวไทยด้วยความวิปโยคอาลัยอย่างไม่มีวันลืมเลือน ณ วาระนี้ ซึ่งปกติเคยเปล่งสัจวาจาถวายพระพรชัยมงคลเสมอมา จึงขอตั้งสัตยาธิษฐานถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเครื่องบูชาพระมหากรุณาธิคุณแทนด้วยข้อความดังต่อไปนี้

“จะซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ข้าพระพุทธเจ้า จะปฏิบัติหน้าที่พลเมือง เคารพกฎหมาย รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศ อย่างสมดุลและยั่งยืน”

“ทั้งจะร่วมกันปฏิรูปประเทศ และสนับสนุนให้มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ปกครองประเทศ ด้วยหลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชนชาวไทย จะเป็นคนดี มีคุณธรรม ร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน สงบสุข สันติสุข จะรู้รักสามัคคี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนตลอดไป น้อมนำพระราชดำรัสดำเนินตามพระราชกรณียกิจ แนวทางการดำรงชีวิต ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์ เพื่อสืบสานพระบรมราชปณิธาน” นายกฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่นายกฯ นำประชาชนกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณในวาระสำคัญก็เป็นหนึ่งในประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตลอดทุกรัฐบาล

ย้อนกลับไปในปี 2554 ซึ่งเป็นปีแรกของการเป็นนายกฯ ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นอกจากจะเป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่แล้ว ในโอกาสพิเศษเมื่อครั้งวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครบ 7 รอบ ยิ่งลักษณ์ก็ได้เป็นประธานพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณด้วย

“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำบรรดาข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและเป็นพลังของแผ่นดิน สนองพระมหากรุณาธิคุณดังต่อไปนี้”

“ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะประพฤติปฏิบัติตนเป็นข้าราชการที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท และมุ่งมั่นแน่วแน่แก้ไขปัญหาของประเทศชาติและของประชาชน สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่แผ่นดิน และดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนแห่งศาสนา และตามแนวทางในพระบรมราโชวาทตลอดไป ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

เช่นเดียวกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อครั้งเป็นนายกฯ เมื่อปี 2553 ได้นำข้าราชการและประชาชนถวายสัตย์ปฏิญาณ เนื่องในพิธีถวายเครื่องราชสักการะ จุดเทียนชัยถวายพระพร และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ โดยคำถวายสัตย์ปฏิญาณมีสาระสำคัญ ดังนี้

“เนื่องในมหามงคลสมัยคล้ายวันพระบรมราชสมภพ วันที่ 5 ธันวาคม ศกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าในนามของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล โปรดอภิบาลประทานชัยมงคลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย พระชนมพรรษายิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทรงเป็นฉัตรแก้วร่มเกล้าของเหล่าพสกนิกรตราบกาลนิรันดร”

“ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพสกนิกร กราบบังคมทูลถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยน้อมนำพระราชดำรัสเกี่ยวกับคุณธรรม 4 ประการ ซึ่งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระกรุณาพระราชทานไว้ ในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 มายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ดังนี้”

“ข้าพระพุทธเจ้าจะคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดีมุ่งเจริญต่อกันจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันประสานงาน ประสานประโยชน์กันให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ จะประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกาและในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน และจะทำความคิดเห็นของตน ให้ถูกต้องเที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจะยึดถือคุณธรรมที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระราชทานไว้ เป็นหลักประจำกายและใจ และปลูกฝังให้อนุชนประพฤติปฏิบัติตามตลอดไป”

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ทุกรัฐบาลต่างยืนยันว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติผ่านการถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่ความเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่ประชาชนรอการพิสูจน์ต่อไป