posttoday

ทางออก 10 ปี กับการปฏิรูป ‘สื่อมวลชน’

25 พฤศจิกายน 2559

การสื่อสารในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนยุคใหม่ที่เพิ่มขึ้นจนต้องมีการแข่งขันช่วงชิงความเร็ว ความแปลกใหม่ นำไปสู่การเกิดข้อผิดพลาด สร้างความขัดแย้งขึ้นในสังคม

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

การสื่อสารในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนยุคใหม่ที่เพิ่มขึ้นจนต้องมีการแข่งขันช่วงชิงความเร็ว ความแปลกใหม่ นำไปสู่การเกิดข้อผิดพลาด สร้างความขัดแย้งขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นการลดความน่าเชื่อถือของอาชีพสื่อมวลชนจากประชาชนลงไป

นี่จึงเป็นประเด็นที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “ปฏิรูปสื่อ : ทางออกสังคมไทย?” เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมาเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการสื่อว่าควรหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า สื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเสนอข่าวสิ่งที่เกิดขึ้น และความคิดเห็นที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน แต่ปัจจุบันความคิดเห็นกับข่าว สื่อมักไม่แยกออกจากกัน บางคนรายงานข่าวก็ใส่ความคิดเห็นลงไป

จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดก่อให้เกิดปัญหาต่อคนที่เป็นข่าวและสังคม ฉะนั้นถ้าเป็นความคิดบนพื้นฐานความไม่จริง จงใจเพื่อนำไปวิจารณ์ต่อ ส่วนตัวถือว่าไม่ใช่สื่อ เพราะมีการบิดเบือนความจริงซึ่งเจอมาหลายครั้งแล้ว ฉะนั้นสื่อที่ดีควรรวมตัวกันเพื่อช่วยประคองสถาบันสื่อให้ดีขึ้น เพราะหากไม่มีการปรับปรุงพัฒนา แม้ปฏิรูปเพียงใดก็ยากที่จะแก้

“สื่อยุคก่อนไม่ได้มีมากเช่นนี้ และไม่เคยถูกสอนเรื่องหลักการเรียนวิชาในคณะวารสารศาสตร์ แต่ทุกคนก็ถูกสอนให้สู้เรื่องจรรยาบรรณต่อสังคม แต่สิ่งเหล่านี้นับวันค่อยเลือนหายไป เพราะธุรกิจกับการเมืองในกิจการสื่อมวลชนที่มีค่าหลักร้อยล้านพันล้าน และเมื่อนักการเมืองรู้อิทธิฤทธิ์ของสื่อในการชี้นำไปในทางที่ต้องการได้ พร้อมกับเจ้าของสื่อยอมเข้าไปในฝ่ายการเมืองเพื่อผลประโยชน์ จึงทำให้สื่อที่เป็นกลางและวิจารณ์ได้ทุกฝ่ายเลือนหายไป”

ประธาน กรธ. เปิดเผยว่า การปฏิรูปสื่อต้องเริ่มพัฒนาผ่านระบบมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นองค์กรที่ผลิตบุคลากรสื่อรุ่นใหม่ ให้พอโต้แย้งกับคนรุ่นเก่า หากสั่งให้ทำอะไรไม่ดี ส่วนสื่ออาวุโสต้องคุยกันเพื่อร่วมกันสร้างความน่าเชื่อถือ จริยธรรมเพื่อศักดิ์ศรี และควรใช้ความอาวุโสวิจารณ์กันเอง ท้วงติงหาทางที่ดีที่สุดเพื่อทำให้สถานการณ์ของสื่อดีขึ้น

ขณะที่การปฏิรูปสื่อกับเจตนารัฐในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มี 270 มาตรามีการพูดถึงสื่อมวลชน 3 มาตรา คือ มาตรา 35 การรับรองเรื่องเสรีภาพโดยห้ามไม่ให้รัฐสนับสนุนสื่อ แต่หากต้องการลงโฆษณาหรือทำกิจกรรมอะไร ต้องรายงายให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และเปิดเผยข้อมูลให้สังคมรับทราบเพื่อร่วมตรวจสอบ ขณะที่ในมาตรา 98 กำหนดคุณสมบัติคนที่จะเข้ามาในการเมืองต้องไม่เป็นเจ้าของกิจการสื่อ และในมาตรา 184 ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขัดขวางแทรกแซงการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

มีชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะประชาชนอยากให้สื่อทำหน้าที่สมความภาคภูมิของความเป็นสื่อ อย่าเอียงหนักไปในทางธุรกิจหรือการเมืองจนลืมความเป็นสื่อ ควรให้ข้อมูลที่ครบถ้วนต่อประชาชน ส่วนประชาชนก็ต้องมีเครื่องมือดูแลสื่อ 3 อย่าง คือ 1.ใช้สิทธิทางกฎหมายหากถูกละเมิด 2.เลือกเสพสื่อที่น่าเชื่อถือ3.ทุกวันนี้ประชาชนทำสื่อกันเองมากขึ้น ซึ่งเหตุผลนี้ถ้าสื่อไม่ปรับตัวปฏิรูปให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมก็จะลำบาก

รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่องการปฏิรูปสื่อมากว่า 10 ปี สาเหตุที่ปฏิรูปไม่ได้ผล เพราะที่ผ่านมามักปฏิรูปเฉพาะโครงสร้าง แต่ไม่เคยลงลึกไปถึงบุคลากรซึ่งเป็นจุดที่มีปัญหา ฉะนั้นควรต้องทำสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ควรตั้งสมาคมผู้ประกอบการสื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อได้เข้าใจและตระหนักว่าหากทำไม่ถูกต้องควรถูกตรวจสอบ

ภัทระ คำพิทักษ์ อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อมวลชนนั้นพูดกันมานานหลายปี แต่ที่ผ่านมามักหาว่าใครเป็นจำเลย แต่ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ควรตั้งสติให้ดีเพราะที่ผ่านมาที่มีการทำโครงการต่างๆ มากมาย แต่ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคทฤษฎีเปลี่ยนไปทุกอย่างแต่การทำงานยังทำไม่ทัน เพราะทุกคนพยายามแข่งขันทางธุรกิจและพัฒนาตนเอง

“คิดว่าการปฏิรูปสื่อมาถึงจุดนี้กลายเป็นระบบที่มีชีวิตในตนเอง และการที่จะกลับไปคิดแบบเก่าว่าปฏิรูปที่ตัวสื่อ เจ้าของ รวมถึงรัฐนั้น ผิดหมด เพราะระบบที่กินตนเองก็มีชีวิตขึ้นมาในตัวของตนเอง ถ้ารอรัฐปฏิรูปก็อาจเจ๊ง”

ฉะนั้น หลักใหญ่ในรัฐธรรมนูญควรให้สื่อควบคุมกันเองโดยที่รัฐไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนในกองบรรณาธิการควรมีมุมมองวิธีคิดที่แตกต่างเพื่อทำให้ขายได้ พร้อมเสนอว่าทุกกองบรรณาธิการควรมีคณะบรรณาธิการไว้คอยประสานพูดคุยกับเจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้น เพื่อคงหลักการทำงานไว้ ส่วนการศึกษาในมหาวิทยาลัยควรมีการพัฒนาองค์ความรู้วิชาใหม่ขึ้นมา

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เชื่อว่า ระบบการกำกับดูแลกันเองจะทำให้การทำงานของสื่อเดินไปได้ เพราะกระบวนการปฏิรูปสื่อไม่ใช่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นในช่วงที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กำลังปรับแก้กฎหมายเพื่อควบคุมกำกับดูแลสื่อวันนี้ทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจึงนำร่างที่ สปท.เสนอมาพิจารณาแก้ไขร่าง และเตรียมประกาศแถลงการณ์ร่างกฎหมายของสื่อมวลชนในวันที่ 17 ม.ค. 2560 ก่อนเสนอกลับไปยัง สปท.เพื่อพิจารณา

จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ระบุว่า กระบวนการปฏิรูปสื่อไม่เคยเกิดขึ้น และมองว่ากรอบความคิดที่จะนำกฎหมายมาบังคับ รวมถึงแนวคิดที่สื่อต้องมีใบประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นถือเรื่องใหญ่ เพราะในประเทศเสรีบนโลกนี้ไม่มีประเทศใดมีใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามามีอำนาจดูแลควบคุมสื่อมวลชน และถ้ามีวิธีการนี้ส่วนตัวจะสู้เต็มที่