posttoday

คลื่นการเปลี่ยนแปลง ซัดกระทบเลือกตั้งปี'60

25 พฤศจิกายน 2559

น่าสนใจไม่น้อยกับการปาฐกถาของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “ทศพิธราชธรรม นำราษฎร์-รัฐ” ในงาน THAI LAND ภูมิทัศน์ใหม่เศรษฐกิจไทย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

น่าสนใจไม่น้อยกับการปาฐกถาของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “ทศพิธราชธรรม นำราษฎร์-รัฐ” ในงาน THAI LAND ภูมิทัศน์ใหม่เศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาสาระเป็นการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2560

“ปี 2560 ประเทศไทยจะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ไม่นานเราจะเปลี่ยนแผ่นดิน เปลี่ยนรัชกาล ซึ่งเราก็ทราบดีส่วนจะมีขึ้นเมื่อใดมาถึงเมื่อใด อยู่ในพระราชวินิจฉัย การเตรียมการมีได้ แต่การจะกำหนดเวลานั้นไม่สมควร

การเปลี่ยนที่ตามมาคือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และในนั้นใส่อะไรไว้มากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก ซึ่งอย่าถามว่าจะประกาศใช้เมื่อไร แต่ให้รู้ว่าเมื่อรัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้วเป็นพระราชอำนาจ 90 วัน จากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงตามมาคือการต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดจะเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จึงได้เวลาฟรีในการร่างกฎหมายเตรียมไว้เพื่อความรวดเร็ว ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วจะสามารถประกาศสิ่งที่ร่างไว้ได้ทันที

ขั้นตอนต่อไปที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสาหัส คือ การออกกฎหมายลูก 10 ฉบับ ไม่ว่าจะมีปัญหาขนาดไหนก็ต้องทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน เมื่อดูบริบทแล้วจึงคาดว่าจะเกิดการเลือกตั้งในปี 2560 ตามขั้นตอนที่วางไว้ แต่อย่าลืมกรุณาให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เพราะมีตัวแปรต่างๆ เข้ามาแทรกได้ วันนี้อาจยังมองไม่เห็นตัวแปร แต่วันหนึ่งที่เกิดขึ้นและสามารถปรับได้ก็จะยืนในปี 2560 แต่หากปรับไม่ได้ก็ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด” สาระสำคัญคร่าวๆ ที่รองนายกฯ วิษณุได้กล่าวเอาไว้

ท่าทีที่ออกมาดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งในปี 2560 ที่เดิมคิดว่าจะมีได้ สุดท้ายอาจต้องเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลบางประการ ซึ่งในความหมายของรองนายกฯ วิษณุ คือ ตัวแปรแทรกแซง

พิเคราะห์คำว่า “ตัวแแปรแทรกแซง” ตามนัยของรองนายกฯ วิษณุ คงหนีไม่พ้นการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ

หากร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ เท่ากับว่ากระบวนการจัดทำกฎหมายลูกดังกล่าวจะเริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ โดย กรธ.ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 240 วัน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 60 วัน

หากไม่มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางการพิจารณากฎหมายลูกน่าจะทันกรอบเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีอุปสรรค ที่สำคัญให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับ คงหนีไม่พ้น ความไม่ลงรอยกันในเรื่องความคิดความอ่านทางการเมืองระหว่าง กรธ.และ สนช.

ทั้งนี้ มี สนช.บางกลุ่มต้องการให้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ดำเนินการเซตซีโรพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองทุกพรรคไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันจนเกินไปแต่กรธ.ไม่เห็นด้วย หรือความคิดเดินกันละทางในเรื่องการเซตซีโรองค์กรอิสระ

ขณะเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ออกแบบไว้นั้นไม่ได้ให้อำนาจกับ สนช.มากนักในการแก้ไขเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ

ดังจะเห็นได้จากมาตรา 267 ที่ระบุว่าหาก สนช.ดำเนินการแก้ไขในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ กรธ. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ สามารถดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อแก้ไขได้ทันที

ตามขั้นตอน ถ้า สนช.มีมติไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 จากสมาชิก สนช.ทั้งหมดที่มีอยู่ หรือ 166 เสียงจากสมาชิก สนช.ทั้งหมด 250 คน จะมีผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไป ซึ่งต้องกลับไปดำเนินการจัดทำกฎหมายฉบับใหม่ โดยจะไม่มีกรอบเวลามาบังคับอีก

หมายความว่าหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้กับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับใดฉบับหนึ่งจากทั้งหมด 4 ฉบับ เท่ากับว่าการเลือกตั้งที่เคยตั้งเป้าให้มีขึ้นในปี 2560 ต้องเลื่อนไปตามสภาพและความจำเป็นไปโดยปริยาย

แม้ในความเป็นจริง การที่ สนช.จะลงมติคว่ำกฎหมายด้วยคะแนนเสียงข้างมากชนิดพิเศษถึง 2 ใน 3 จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นเคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

มติของ สปช.ในครั้งนั้นว่ากันว่ามีใบสั่งมาจากบิ๊กคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บางคนที่ส่งตรงมายังสมาชิก สปช.ให้ทิ้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไว้กลางทาง

ดังนั้น สถานการณ์ในอนาคต คสช.เห็นว่าไม่เอื้อต่อการจัดการเลือกตั้ง มีความเป็นไปได้ที่จะให้ สนช.โหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน

ความล่าช้าของการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นเพียงความชอบธรรมเดียวเท่านั้นที่ คสช.จะอาศัยเพื่อขอชะลอการเลือกตั้งออกไปได้ เพราะมีกฎหมายรองรับ