posttoday

วัดใจอัยการ สั่งฟ้อง'ธัมมชโย'

23 พฤศจิกายน 2559

งวดแล้วงวดเล่าคดีของ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

งวดแล้วงวดเล่าคดีของพระเทพญาณมหามุนี หรือ ไชยบูลย์ ธมฺมชโย หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร

หลังพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตรวจเส้นทางการเงินคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น พบว่า “พระธัมมชโย” มีส่วนพัวพันรับเช็คบริจาคหลายฉบับ มูลค่ากว่า 316 ล้านบาท  จาก ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ผู้ต้องหาร่วมกันฉ้อโกงเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ เสียหายนับหมื่นล้านบาท

ต่อมาศาลจังหวัดเลยอนุมัติหมายจับพระธัมมชโย กรณีร่วมกันบุกรุกป่าสวนป่าหิมวันต์ ภูเรือ จ.เลย และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสีคิ้วได้อนุมัติหมายจับพระธัมมชโยจากกรณีบุกรุกพื้นที่ป่า ในการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

สำหรับคดีร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจรนั้น แม้จะใช้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและนักกฎหมายมือฉมังส่งหลักฐานชนิดว่าดิ้นไม่หลุดให้กับอัยการดำเนินการสั่งฟ้อง แต่หนทางจะนำตัว “พระธัมมชโย” ซึ่งมีหมายจับเป็นชนักติดหลังถึง 3 หมาย เข้าสู่สายธารกระบวนการยุติธรรมยังไร้วี่แวว หลังอัยการเลื่อนสั่งคดีมา5 ครั้ง

เริ่มจากครั้งแรกที่อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 13 มิ.ย. 2559 เลื่อนมาเป็น 11 ส.ค. ครั้งที่ 2 เลื่อนจากวันที่ 11 ส.ค. เป็น30 ส.ค. ครั้งที่ 3 เลื่อนจากวันที่ 30 ส.ค. เป็น 6 ต.ค. ครั้งที่ 4 เลื่อนจากวันที่ 6 ต.ค. เป็น 7 พ.ย.  และครั้งที่ 5 เลื่อนจากวันที่ 7 พ.ย. เป็น 30 พ.ย. โดยอัยการให้เหตุผลเหมือนกันทุกครั้งคือ “รอข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ”

นั่นจึงทำให้สังคมเกิดฉงนใจตามมา “ว่าทำไมอัยการจึงยังไม่ดำเนินคดีกับพระรูปนี้” หากเทียบเคียงถ้าเป็น เจ้าอาวาสวัดธรรมดาทั่วไปคงถูกดำเนินคดีทางอาญาและทางธรรมไปนานแล้ว  กระนั้นก็ตามต้องยอมรับวัดพระธรรมกายถือเป็นวัดใหญ่โต มีทุน มีลูกศิษย์มากมายอยู่ทุกวงการ เรื่องกำลังภายในต่อสู้ทางคดีย่อมขัดขืนกันเป็นธรรมดา 

ส่วนสถานะแห่งความเป็นสงฆ์ของ “พระธัมมชโย” ที่ถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งวัดพระธรรมกาย ในชั่วโมงยามนี้ทุกอย่างยังคลุมเครือไม่ประจักษ์ชัดเจน…

ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ออกมาบอกชัดเจนว่าสำนวนที่ส่งไปให้อัยการเรียบร้อยแล้ว มีเพียงบางประเด็นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่านั้น ส่วนประเด็นใหญ่ส่งไปหมดแล้ว

ตอนนี้จึงดูเหมือนเป็นการโยนเรื่องกันไปมาระหว่างดีเอสไอกับอัยการ  ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าวันที่ 30 พ.ย.นี้ จะเลื่อนออกไปอีกหรือไม่

ในช่วงที่หลายฝ่ายกำลังสาละวนกับเรื่องฟ้องไม่ฟ้อง โยนกันไปมาว่าคดีติดขัดตรงไหน ทำไมเส้นเลือดคดีนี้ถึงดูอุดตันไม่ไหลลื่น ทำให้ สมชาย มีบางยาง ทนายความ “พระธัมมชโย” รุกเดินเกมพยายามสู้จนหลังชนฝ่ายื่นเรื่องขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาประเด็นว่า

“เลื่อนเวลาพิจารณาคดีโดยการตรวจสอบพยานหลักฐานให้ครบถ้วน ก่อน การที่พนักงานสอบสวนเร่งรัดตั้งข้อกล่าวหากับพระธัมมชโย ฐานร่วมกันฟอกเงินและรับของโจรจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และยังมีพยานปากสำคัญอีกนับสิบที่ยังไม่สอบปากคำ ถือว่าการสอบสวนยังไม่สมบูรณ์” นั่นเป็นข้อโต้แย้งจากฝ่ายวัดพระธรรมกาย

เช่นเดียวกับ ธรรมนูญ อัตโชติ ตัวแทนผู้เสียหายสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ พร้อมเหยื่อรายอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น ได้บุกดีเอสไอเพื่อร้องขอดีเอสไอเร่งจับกุม “พระธัมมชโย” พร้อมกับตัดพ้อคดีล่าช้าเกินไป

เท่านั้นยังไม่พอเหยื่อสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ ยังบุกไปยื่นเรื่องสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อกดดันและทวงถามความล่าช้าของคดี ทั้งที่ดีเอสไอส่งสำนวนและผลสอบเพิ่มมาให้อัยการหมดแล้ว…

สำทับด้วยหลายฝ่ายกังวลว่าจะมีการถอนฟ้องเหมือนปี 2549 คดียักยอกทรัพย์ของวัดพระธรรมกาย ทำให้ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เห็นว่าสังคมสามารถมองเรื่องนี้ได้ จึงโยนคำถามเรื่องนี้ไปว่า ต้องถามทางอัยการสูงสุด เพราะเป็นการใช้อำนาจเฉพาะตัวของอัยการฯ แต่ส่วนตัวของ พล.อ.ไพบูลย์ เชื่อว่าครั้งนี้อัยการจะสั่งฟ้องอย่างแน่นอน

จึงเป็นความเคลื่อนไหวจากฝ่ายธรรมกาย ผู้เสียหายสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ และรัฐออกมาขย่มคดีให้เห็นว่าความจริงคืออะไร??? แต่สัญญาณชัดเจนจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะ คสช. ต้องการหาข้อยุติเรื่องของวัดพระธรรมกายภายในรัฐบาลนี้  เพราะเชื่อว่าหากพ้นรัฐบาลปัจจุบันไปอาจจบแบบสังคมกังขา

ทั้งหมดทำให้แรงกดดันถาโถมมายังฝั่งอัยการ ทั้งจากผู้เสียหายวัดพระธรรมกาย และท่าทีจากของรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ไพบูลย์ ขึงขังจริงจังประกาศชัดจะจับกุมตัว “พระธัมมชโย” ทันทีหากอัยการสั่งฟ้องดำเนินคดี

ปัญหาอยู่ที่หากอัยการยังเลือกแนวทางยื้อเวลาต่อไปอีก โดยเลื่อนการสั่งฟ้องออกไปเป็นครั้งที่ 6  แรงกดดันทั้งหมดที่ถาโถมมายังอัยการย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกทั้งยังอาจลุกลามส่งผลเสียหายต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง

ดังนั้น ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ จึงต้องวัดใจอัยการจะทัดทานแรงสังคมได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในคดีนี้ได้ นี่จะเป็นอีกระเบิดเวลาลูกสำคัญที่รัฐบาล คสช.ต้องเผชิญอย่างแน่นอน