posttoday

ญี่ปุ่นช้ำหนักเศรษฐกิจยิ่งแย่-การเมืองยิ่งรุมเร้า

27 สิงหาคม 2553

ภายหลังจากถูกยักษ์ใหญ่อย่างจีนโค่นตำแหน่งเบอร์ 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลกไปหมาดๆ

ภายหลังจากถูกยักษ์ใหญ่อย่างจีนโค่นตำแหน่งเบอร์ 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลกไปหมาดๆ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ภายหลังจากถูกยักษ์ใหญ่อย่างจีนโค่นตำแหน่งเบอร์ 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลกไปหมาดๆ ดูเหมือนว่าจนถึงวันนี้ญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้สัมผัสกับข่าวคราวที่น่าชื่นชมยินดีนัก
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์ และข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำของพรรครัฐบาล ยังเพิ่มพิษบาดแผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อ่อนแอและฝืดเคืองป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต้องตกอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยค่าเงินเยนเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 15 ปี และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินยูโรทำสถิติสูงสุดในรอบ9 ปี

ญี่ปุ่นช้ำหนักเศรษฐกิจยิ่งแย่-การเมืองยิ่งรุมเร้า

แน่นอนว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนจนสร้างสถิติแบบนี้ไม่ใช่เรื่องดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นแน่

ดัชนีนิกเกอิในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ถอยร่วงลงไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 9,000 จุด เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักธุรกิจและนักลงทุนต่อปัญหาเงินเยนแข็งค่าได้อย่างกระจ่างชัด

ค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นไม่เพียงแต่จะทำให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นแพงขึ้นเท่านั้น แต่ทว่ายังทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติของบริษัทญี่ปุ่นต้องลดต่ำลง ขณะเดียวกันเม็ดเงินจากต่างชาติที่จะถูกส่งกลับเข้ามาในญี่ปุ่นนั้นก็จะมีมูลค่าลดน้อยถอยลงไปด้วย

สิ่งที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนในญี่ปุ่นเกรงกลัวที่สุดก็คือ เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นจะไปสร้างภาระให้กับภาคการส่งออก ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากเป็นกลไกหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้ยังคงเดินหน้า และฟื้นตัวจากภาวะถดถอยมาโดยตลอด

แล้วก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ยังไม่ทันที่ความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินเยนจะจางหายไป สิ่งที่หลายฝ่ายเกรงกลัวก็เกิดขึ้น เมื่อกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นออกมาเปิดเผยตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นประจำเดือน ก.ค. ระบุว่า การส่งออกของญี่ปุ่นประจำเดือน ก.ค. ขยายตัวเพียง 23.5% ลดลงจากเดือน มิ.ย. ที่ 27.7% ทำสถิตทรุดตัวลง 5 เดือนติดต่อกัน

สัญญาณเลวร้ายของตัวเลขส่งออกที่ถูกเปิดเผยออกมาล่าสุดนั้น ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มนั่งไม่ติดเก้าอี้ และต้องออกมากระตุ้นให้รัฐบาล รวมทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น หามาตรการบางอย่างเพื่อสะสางปัญหาที่เกิดขึ้น

ฮิโรคาตะ คุซาบะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยมิซูโฮ ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นภายในปีนี้อาจตกอยู่ในภาวะชะงักงัน หากรัฐบาลและธนาคารของญี่ปุ่นไม่ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อพยุงสภาพเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ทางฝั่งรัฐบาลซึ่งก็รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ผนวกกับถูกเรียกร้องมา จึงต้องตกปากรับคำเตรียมจะออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้แล้ว

โยชิโตะ เซนโกกุ หัวหน้าเลขานุการรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการเตรียมร่างแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การรับปากของรัฐบาลว่าจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาฟังดูก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วก็ดูจะเป็นงานยากที่รัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะไม่สามารถข้ามผ่านไปได้ง่ายๆ

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ไม่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะคิดเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาใดๆ ออกมาก็ตามแต่ ก็จะสามารถทำได้อย่างจำกัด เนื่องจากจะต้องเผชิญกับเงื่อนไขและอุปสรรคนานาประการของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น

1.ปัญหาภาวะเงินฝืดที่เกิดจากประชาชนไม่อยากออกไปจับจ่ายใช้สอย

2.ปัญหาความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ต่ำเตี้ย ปัญหาหนี้สาธารณะที่ท่วมสูงเกือบ 200% ของจีดีพี

3.ปัญหาค่าเงินเยนที่แข็งโป๊ก และการส่งออกที่ทรุดตัวอย่างต่อเนื่องอีก

ไม่เพียงแต่ประเด็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้นที่รุมเร้าญี่ปุ่น ปัญหาทางด้านการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำรัฐบาลก็กลายมาเป็นอีกอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางความก้าวหน้าและความมีเสถียรภาพของประเทศ

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำประเทศถึง 5 คน ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี ความไม่ต่อเนื่องในการบริหารงาน และการกำหนดนโยบายอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำบ่อยครั้งเช่นนี้ที่ทำให้รัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุด อิชิโร โอซาวา นักการเมืองอาวุโสของพรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (ดีพีเจ) ก็ได้ประกาศว่าจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้า ซึ่งหากสำเร็จ ญี่ปุ่นก็จะตกอยู่ในวังวนของการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำประเทศอีกครั้ง และจะส่งผลให้มาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องชะงักงันอีกระลอกหนึ่ง

ท่ามกลางวิกฤตที่ถาโถมโหมใส่ญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยเราดูเหมือนว่าพอจะได้ประโยชน์อยู่บ้าง ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นนั้นทำให้ต้นทุนการผลิตของโรงงานในญี่ปุ่นหลายแห่งเพิ่มสูงขึ้นมาก การมองหาฐานการผลิตและตลาดแรงงานใหม่ภายนอกประเทศญี่ปุ่นจึงกลายเป็นทางออกของบริษัทเหล่านั้น และไทยก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกดังกล่าว

อย่างเช่นการย้ายฐานผลิตของ บริษัทคูโบต้า ในญี่ปุ่นมายังประเทศไทยทั้งหมดเนื่องจากประสบปัญหาเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของคูโบต้าในครั้งนี้แม้ว่าจะเป็นผลดีต่อไทยแลนด์ ไม่ว่าจะในแง่การสร้างตำแหน่งงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยในระยะยาว แต่ในระยะยาวภาวะที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ทั้งสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นนี้ ก็อาจจะไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม แม้แต่กระทั่งกับไทย
วิกฤตญี่ปุ่นงวดนี้เห็นทีต้องบอบช้ำอีกยาว...