posttoday

อเมริกาแตกแยกหนักประท้วงเดือด 'ไม่เอาทรัมป์'

11 พฤศจิกายน 2559

หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ชาวอเมริกันหลายพันคนในหลายเมืองใหญ่ได้ออกมาชุมนุมประท้วงทันที ด้าน 'โอบามา'เปิดทำเนียบขาวถกถ่ายโอนอำนาจ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ชาวอเมริกันหลายพันคนในหลายเมืองใหญ่ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต ได้ออกมาชุมนุมประท้วงทันทีและต่อเนื่องจนถึงวันที่ 9 พ.ย. เนื่องจากไม่ยอมรับในตัวทรัมป์ที่มีแนวนโยบายเหยียดชาติพันธุ์ ต่อต้านมุสลิม และนโยบายการปิดรับผู้อพยพ ซึ่งรวมถึงการสร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโก จนกลายเป็นกระแสความวิตกว่าสหรัฐกำลังเผชิญความแตกแยกครั้งใหญ่ที่ยากต่อการสมานรอยร้าว

รอยเตอร์ส รายงานว่า ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินทางไปยังอาคารทรัมป์ทาวเวอร์ นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีประกาศชัยชนะของทรัมป์ โดยผู้ประท้วงถือป้ายแสดงความไม่พอใจและตะโกน "(ทรัมป์) ไม่ใช่ประธานาธิบดีของเรา" ขณะที่ในเมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ประท้วงราว 6,000 คน ปิดการจราจรและขว้างสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงเผาถังขยะใจกลางสี่แยก ทุบกระจกห้างร้าน และจุดพลุไฟ

นอกจากนี้ การประท้วงยังเกิดขึ้นในนครชิคาโก เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน และเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้ถูกยิง 5 ราย ใกล้กับการประท้วงในซีแอตเติล แต่ตำรวจระบุว่าไม่เกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านทรัมป์

ผลจากการเลือกตั้ง "เดือด"

สื่อในสหรัฐและทั่วโลกต่างขนานนามการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า เป็นการเลือกตั้ง ที่สกปรกที่สุด หยาบคายที่สุด ตอกย้าภาพลักษณ์ด้านลบของอีกฝ่าย และเป็นการรณรงค์หาเสียงที่ก่อให้เกิดการแตกแยกรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดย โทมัส ฟรายด์แมน คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ เปิดเผยในคืนวันเลือกตั้งว่า สหรัฐกำลังแตกแยกจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่แบ่งแยกชาวอเมริกัน และมีการปะทะกันอย่างรุนแรง

ทรัมป์ได้ชูนโยบายที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวอเมริกันหันไปมองในจุดที่แย่ที่สุดของกันและกัน รวมถึงยังชูนโยบายในลักษณะประชานิยม ขณะที่ ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรค เดโมแครต คว้าตำแหน่งตัวแทนพรรคเหนือคู่แข่ง เบอร์นี แซนเดอร์ส ซึ่งมีนโยบายในลักษณะสังคมนิยมมาได้ แต่สุดท้ายชาวอเมริกันก็เลือกให้ทรัมป์เป็นคนพาประเทศเดินหน้าต่อไป

แม้ผลคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง จะให้ทรัมป์เป็นผู้คว้าชัยในศึกครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาคะแนนป๊อปปูลาร์ โหวต ฮิลลารีกลับเหนือทรัมป์อยู่ที่ราว 1.5 แสนเสียง โดยจำนวนที่ห่างกันเล็กน้อยดังกล่าวเมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ใช้สิทธิทั้งหมดมากกว่า 118 ล้านคนแล้ว แสดงให้เห็นทัศนคติที่แตกออกเป็นสองฝั่งในปริมาณใกล้เคียงกันอย่างเห็นได้ชัด

ในผลเอ็กซิตโพลของนิวยอร์กไทมส์ พบว่าผู้ชายจะเลือกทรัมป์มากกว่าฮิลลารีที่ 50% ต่อ 41% ขณะที่ผู้หญิงจะชื่นชอบฮิลลารีมากกว่าที่ 54% โดยการแตกแยกยังพบในช่วงอายุของคนด้วยเช่นกัน โดยในกลุ่มผู้มีอายุน้อยกว่า 30 ปี ฮิลลารีนาทรัมป์ถึง 20% ขณะที่กลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี โน้มเอียงไปทางทรัมป์มากกว่า

นอกจากนี้ กลุ่มชาวผิวขาวเกือบ 60% เลือกทรัมป์ โดยกลุ่มประชากรดังกล่าวคิดเป็นถึง 70% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มชาวผิวดำ 88% เลือกฮิลลารี เช่นเดียวกับกลุ่มคนส่วนใหญ่ของชาวฮิสแปนิกและเอเชียที่ 66% นิยมฮิลลารีมากกว่า

อเมริกาแตกแยกหนักประท้วงเดือด 'ไม่เอาทรัมป์'

 

โอบามากรุยทางถ่ายอำนาจสันติ

"พวกเราไม่ใช่เดโมแครต พวกเราไม่ใช่รีพับลิกัน พวกเราคือชาวอเมริกันตั้งแต่แรก พวกเราเป็นผู้รักชาติ พวกเราต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศของเรา" ประธานาธิบดี บารัก โอบามา กล่าว ขณะที่เหล่าเจ้าหน้าที่ต่างหลั่งน้ำตาท่ามกลางความกังวลว่า สิ่งที่รัฐบาลโอบามาทำมาตลอด 8 ปี จะกลายเป็นการสูญเปล่า

อย่างไรก็ตาม โอบามาเชิญทรัมป์ไปยังทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 23.00 น. ตามเวลาไทยของเมื่อวานนี้ และนับเป็นก้าวแรกสำหรับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสันติ ก่อนทรัมป์จะเข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค. 2017 โดยระบุว่าจะตามรอยการโอนอำนาจอย่างสันติเช่นสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกัน ที่ส่งไม้ต่อให้กับโอบามาในปี 2008

ความพยายามถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติสอดคล้องกับสุนทรพจน์ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ของฮิลลารี ที่ขอให้ผู้สนับสนุนเปิดใจรับและให้โอกาสกับทรัมป์ได้นำประเทศ ขณะที่ จอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ สั่งให้เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศร่วมมือกับทรัมป์อย่างเต็มที่

โลกรับมือ อาฟเตอร์ช็อกทรัมปี์

ญี่ปุ่น : เอเอฟพี รายงานอ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ว่า นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ มีกำหนดการเยือนนครนิวยอร์กในวันที่ 17 พ.ย.นี้ เพื่อพบทรัมป์ หลังโทรศัพท์คุยกันในคืนวันเลือกตั้งเป็นเวลา 20 นาที โดยการพูดคุยดังกล่าวอาเบะและทรัมป์ยืนยันความร่วมมือใกล้ชิดระหว่างทั้งสองชาติ รวมถึงเน้นย้ำความสำคัญของการเป็นพันธมิตรเพื่อปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในเอเชียแปซิฟิก

ด้านเอกชนญี่ปุ่นกังวลไม่แพ้กัน เช่น การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก 35% จะส่งผล กระทบต่อผู้ผลิตญี่ปุ่นที่วางแผนขยายศักยภาพการผลิตในโรงงานเม็กซิโกอย่างโตโยต้า ผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ขณะที่ฮอนด้าเตรียมจะส่งออกรถยนต์รุ่น HR-V ที่ผลิตในเม็กซิโกให้กับผู้บริโภคสหรัฐที่นิยมรถรุ่นดังกล่าว ส่วนยอดขายรถยนต์นิสสันในสหรัฐจำนวน 1 ใน 4 เป็นรถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโก

เกาหลีใต้ : ทรัมป์โจมตีการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ที่สหรัฐทำข้อตกลงในปี 2012 ว่า ขณะที่เกาหลีใต้ได้ส่งออกมากขึ้นๆ ชาวอเมริกันกลับสูญเสียงาน อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีพาณิชย์เกาหลีใต้ยังคงยืนยันว่า ข้อตกลงดังกล่าวยังคงมีผลอยู่ พร้อมกับตอกย้ำความสำคัญของความสัมพันธ์ทางการค้า

ด้านบรรดานักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า ฮุนได มอเตอร์ และบริษัทลูกอย่างเกีย มอเตอร์ จะประสบความยากลำบากหากทรัมป์ทำตามจริงอย่างที่พูด เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐ
 
แม้แถลงการณ์จากทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ระบุว่า ทรัมป์ให้สัญญาว่าจะยังคงความเป็นพันธมิตรอันแข็งแกร่งระหว่างกัน และต่อต้านภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ แต่กระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้จัดตั้งทีมพิเศษขึ้นดูแลนโยบายต่างประเทศหากสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายไป

จีน : ค่าเงินหยวนร่วงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 6 ปี จากความกังวลว่าทรัมป์จะขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน โดยสำนักข่าวซินหัว กระบอกเสียงของรัฐบาลจีน เรียกร้องให้ทรัมป์ยังคงสถานะระหว่างประเทศเช่นเดิม
  
ด้านอาลีบาบา อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีนอาจจะประสบความยากลำบากจากการไม่สามารถส่งสินค้าไปขายยังสหรัฐได้ และจะทำให้การส่งแรงงานชาวจีนที่มีศักยภาพมากในการเข้าไปทำงานในสหรัฐจะทำได้ยากขึ้นจากนโยบายการต่อต้านผู้อพยพของทรัมป์ ซึ่งอาจไม่ขยายวีซ่าสำหรับผู้มีทักษะแรงงานพิเศษ

"ความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างสหรัฐและจีนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลก พวกเราเชื่อว่า อาลีบาบากำลังทำในส่วนของเราเพื่อช่วยเหลือธุรกิจสหรัฐ ทั้งขนาดใหญ่และย่อม ในการเข้าถึงตลาดจีน และสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ" อาลีบาบา กล่าวในแถลงการณ์

ตะวันออกกลาง : สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด แห่งซาอุดิอาระเบีย ทรงแสดงความหวังว่าสหรัฐจะช่วยสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในตะวันออกกลางและทั่วโลก หลังความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐถดถอยลงไปในสมัยรัฐบาลโอบามา เนื่องจากซาอุดิอาระเบียไม่พอใจที่โอบามาไม่เต็มใจช่วยเหลือจัดการสงครามกลางเมืองในซีเรีย และกังวลที่โอบามาผูกสัมพันธ์กับอิหร่านที่ถือเป็นคู่แข่งของซาอุดิอาระเบียมากขึ้น

ในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ยืนยันตลอดว่าจะกำจัดกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) แต่ไม่มีการเปิดเผยแผนการที่เป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาสหรัฐเข้าช่วยอิรักและซีเรียในการจัดการกับไอเอส และยังหนุนกลุ่มกบฏในการขับไล่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรียอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทรัมป์แสดงออกว่าพร้อมจะจับมือกับรัสเซีย ซึ่งประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย หนุนหลังอัสซาดอยู่

ยุโรป : ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เรียกร้องให้ทรัมป์แสดงความชัดเจนด้านนโยบายทั้งการค้าและความสัมพันธ์กับองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) รวมถึงเรื่องข้อตกลงสภาพอากาศ ซึ่งต่างเป็นประเด็นที่ทรัมป์ปฏิเสธไม่เอาทั้งหมด

ขณะเดียวกัน การขึ้นมาของทรัมป์ยังก่อให้เกิดผลทางการเมือง โดย วูลฟ์กัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี เตือนกลุ่มชาตินิยมจะผงาดขึ้นมาเป็นการเมืองกระแสหลักเช่นเดียวกับทรัมป์ หลังจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษทำให้ยุโรปช็อกมา แล้ว โดยเบร็กซิตมีความคล้ายคลึงกับทรัมป์ในด้านความหวาดกลัวต่อการเปิดประตูรับ ผู้อพยพและสินค้าจากต่างชาติ

อียูเชิญทรัมป์มาร่วมประชุมกับกลุ่มอียูให้เร็วที่สุดทันทีที่ว่าง เพื่อพูดคุยในประเด็นการจัดการไอเอส ข้อพิพาทยูเครน และข้อตกลงการค้าเสรีอียู-สหรัฐที่เต็มไปด้วยปัญหา

จีนได้ทีดันเอฟทีเอ เอเชีย-แปซิฟิก

หลี่เป่าตง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศจีน แถลงก่อนที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จะเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ที่เปรู ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย.นี้ว่า ผู้นำจีนจะแสวงหาความร่วมมือเพื่อสนับสนุนข้อตกลงเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (เอฟทีเอเอพี) ระหว่างการประชุม และย้าว่าภูมิภาคนี้จำเป็นต้องมีเอฟทีเอโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และคาดว่าจะกระทบต่อเอฟทีเอตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี)

"การปกป้องการค้าและการลงทุนกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น และเอเชียแปซิฟิกก็ไม่มีโมเมนตัมที่มากพอสำหรับการเติบโตภายในภูมิภาค อีกทั้งยังเผชิญแรงกดดันจากการปฏิรูป จีนเชื่อว่าเราควรมีแผนการทำงานใหม่และเป็นรูปธรรม เพื่อตอบรับกับความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรม ช่วยหนุนโมเมนตัม และนำไปสู่ข้อตกลงเอฟทีเอในเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่เนิ่นๆ" หลี่ กล่าว

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่เปรู สีจะเดินทางเยือนเอกวาดอร์เป็นประเทศต่อไป ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ต่างก็เป็นประเทศภาคีสมาชิกในทีพีพี ที่กำลังเสี่ยงจะถูกยกเลิก

คาดเฟดยังขึ้นดอกเบี้ย ธ.ค.นี้

รอยเตอร์สเปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ 62 คน ซึ่ง 85% เห็นตรงกันว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ในเดือน ธ.ค.ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยชัยชนะของทรัมป์จะไม่เป็นปัจจัยลบให้เฟดเลื่อนออกไป เนื่องจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีความพร้อมมากพอ สอดคล้องกับที่วิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ส่งสัญญาณว่าเฟดน่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยได้ตามแผนเดิม

อย่างไรก็ตาม หลังประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นักวิเคราะห์บางรายก็เริ่มลดความเป็นไปได้ของการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ลงเช่นกัน โดยซีเอ็มอี กรุ๊ป เฟ็ดวอทช์ ระบุว่า แนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.ลดลง 5% จากวันอังคารที่ผ่านมา อยู่ที่ 71.5%
 
ขณะที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศยังคงอันดับเครดิตเรตติ้งของสหรัฐที่ระดับ AA +/A-1+ หลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เนื่องจากชัยชนะของทรัมป์และการที่พรรครีพับลิกันสามารถครองที่นั่งได้ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการดำเนินนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ แม้จะยังคงมีความไม่แน่นอนในนโยบายอยู่ก็ตาม