posttoday

ผ่าขบวนการทุจริตยา ล่าคอมมิชชั่นหมื่นล้าน

26 สิงหาคม 2553

กลายเป็นหนังยาวไปแล้ว เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าไปลากไส้ขบวนการทุจริตยา ที่อาศัยช่องโหว่ของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมาหากิน

กลายเป็นหนังยาวไปแล้ว เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าไปลากไส้ขบวนการทุจริตยา ที่อาศัยช่องโหว่ของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมาหากิน

โดย....ทีมข่าวการเงิน

 

ผ่าขบวนการทุจริตยา ล่าคอมมิชชั่นหมื่นล้าน

ขบวนการนี้มีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่โรงพยาบาลรัฐ แพทย์ พยาบาล ข้าราชการเกษียณอายุและที่ยังรับราชการอยู่ โยงใยไปถึงครอบครัวที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลด้วย

การทุจริตยาถูกลากไส้หลังจากที่กรมบัญชีกลางตรวจสอบพบความผิดปกติของการเบิกจ่าย ที่เพิ่มขึ้นปีละ 9,0001 หมื่นล้านบาท

ปี 2547 งบประมาณค่ายาอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท แต่พอถึงปี 2552 งบประมาณกลับพุ่งไปถึง 6.1 หมื่นล้านบาท

โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายคนไข้นอกจากปี 2547 อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ก็เพิ่มเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการใช้สิทธิของข้าราชการที่ผิดปกติ

นายภิญโญ ทองชัย เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า กระบวนการทุจริตที่มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องหลายกลุ่มโดยมีมูลเหตุจูงใจต่างกัน

กลุ่มที่ 1 ข้าราชการผู้ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ใช้วิธีการ “ช็อปปิ้งยา” เช่น วันนี้ไปรักษาโรงพยาบาลศิริราช อีกอาทิตย์ไปโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อีกอาทิตย์ก็ไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมมูลค่า 2-3 หมื่นบาทต่อครั้ง ส่วนใหญ่เป็นโรคสำคัญที่ต้องใช้ยาราคาแพง เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน

ขณะนี้กรมบัญชีกลางฟ้องร้องไปแล้ว 8คน และมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยคนกลุ่มนี้จะทุจริต 16 ล้านบาทต่อปี

ล่าสุด ป.ป.ท.อยู่ระหว่างการขอข้อมูลกรมบัญชีกลาง มีผู้ได้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลข้าราชการและรัฐวิสาหกิจประมาณ 4 ล้านคน เพื่อดูว่าข้าราชการที่เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลมากที่สุด 1 หมื่นคนแรกมีการทุจริตหรือไม่

กลุ่มที่ 2 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ยังแบ่งได้ 3 กลุ่ม กลุ่มผู้บริหารโรงพยาบาล ที่บริษัทยาจะมีค่า “ค่าคอมมิชชัน” ถ้าทำยอดยามากก็ได้ค่าคอมมิชชันมาก ทำให้ทุกโรงพยาบาลพยายามที่จะทำยอดสั่งยาให้ได้มากที่สุด

 ค่าคอมมิชชันก็เขามา 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง เข้ามาอย่างเปิดเผยมอบให้โรงพยาบาล มีคณะกรรมการโรงพยาบาลรับเงินมา จัดสรรเป็นสวัสดิการให้บุคลากรของโรงพยาบาลก็ได้ผลประโยชน์ แต่ก็ไม่ถูกต้อง กับวิธีที่สอง ค่าคอมมิชชันเข้ามาที่กลุ่มบุคคลโดยตรง มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลและคนไม่กี่คนรู้เรื่อง งุบงิบกันเอาเข้ากระเป๋าส่วนตัว ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ท.มีหลักฐานชัดเจนว่ามีผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัฐบางแห่งทุจริต


ป.ป.ท.ประมาณว่าค่าคอมมิชชันเบ็ดเสร็จประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่า30% จากราคายาที่มีการซื้อขายกันทั้งหมด 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี

โดยค่ายาส่วนใหญ่ 4 หมื่นกว่าล้านบาท กระจายอยู่ในโรงพยาบาลหลักๆ คือ โรงพยาบาลระดับศูนย์ ขึ้นไปมีประมาณ 100 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลระดับชุมชนไม่มีปัญหา เพราะจะใช้ยาในบัญชียาหลัก ส่วนยานอกบัญชียาหลักไม่ค่อยได้ใช้ เพราะว่าถ้าคนไข้เป็นโรคที่ซับซ้อนโรงพยาบาลชุมชนก็ส่งมารักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

 ขณะเดียวกัน ป.ป.ท.ยังจะเข้าไปตรวจสอบ กลุ่มบุคคลที่อยู่ในกระบวนการกำหนดรายชื่อยา ซึ่งมีคณะกรรมการอยู่ 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นคณะกรรมการกำหนดรายชื่อยาในบัญชียาหลัก ตรงนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นเจ้าภาพ บริษัทยาทุกแห่งพยายามเอายาของตัวเองใส่ในบัญชียาหลักเพื่อที่จะได้ปริมาณมาก เพราะใช้ทั่วประเทศ

พอไม่ได้เข้าบัญชียาหลักก็จะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งที่กำหนด “รายชื่อบัญชียานอกบัญชียาหลัก” ส่วนใหญ่เป็นยาจากต่างประเทศ ราคาแพง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทยาโดยตรงเพราะ บริษัทยามีผลิตภัณฑ์ยา 100 ตัวจะต้องผลักดันให้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียา หรือในบัญชีนอกยาหลักของรพ.ให้ได้

ตอนนี้ ป.ป.ท.กำลังเช็กว่าคณะกรรมการที่พิจารณาการขึ้นบัญชียาแต่ละโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์กับบริษัทยาอย่างไร ถ้าตรวจสอบรายละเอียดชัดเจนจะทำให้เห็นโครงสร้างกระบวนการทุจริตได้ครอบคลุมมากขึ้น   โดยส่วนใหญ่บริษัทยาก็เข้าไปจูงใจคณะกรรมการ หรือหมอโดยส่งไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ

 ไม่เพียงเท่านั้น ป.ป.ท. ยังพบว่า แพทย์ ได้รับการจูงใจอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า “นิวเคส” หมายความว่ามีการเปิดโรคใหม่ขึ้นมา ซึ่งต้องใช้ยาเพิ่ม หากแพทย์หนึ่งคนหาเคสใหม่ได้จะได้เงิน 5,000 บาท หรือมากกว่านั้น เช่น คนไข้ไม่เคยเป็นโรคหัวใจแต่ไปตรวจ แพทย์ใส่โรคให้เป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ก็จะได้เงิน 5,000 บาท จากบริษัทยา และให้สั่งยาจากบริษัทนั้น เพราะบริษัทยาจะได้เงินจากคนไข้อีกนาน พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นยาจากต่างประทศมีราคาแพง

ถ้าเดือนหนึ่งได้ 10 เคท ก็ได้ 50,000 บาท ซึ่งเดี๋ยวนี้จะเห็นคนเป็นโรคเยอะมา ทั้งโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน มีมากขึ้น คนๆหนึ่งเป้นหลายโรค หน้าที่ของหมอทำให้ยาออกไปเร็วที่สุด

บางแห่งที่พบลักษณะหมอ “ยิงยา” หรือสั่งยาอย่างเดียว จะพบมากในโรงพยาบาลที่มีคนไข้วีไอพีมากๆ แพทย์จะสั่งยาให้เป็นตะกร้า เพราะคนอายุมาก 50 ปีขึ้นไป ก็เป็นเกือบทุกโรคตามสภาพแต่จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกินยามากมายขนาดนั้นและบางครั้งถ้ากินยาทั้งหมดอาจจะมีผลร้ายกับคนไข้เสียมากกว่า คนไข้ที่เป็นข้าราชการไม่เสียเงิน หมอสั่งยาให้เท่าไรก็เอาทั้งหมด

 วิธีการทุจริตยาของหมอ ปปท.พบ 3-4 วิธี คือ 1. สั่งยาให้กับตัวเอง ตรวจสอบและจับได้หลายแล้ว เช่นหมอสั่งยาให้ตัวเอง ยาราคาแพงที่สุด สั่งยาทุกอย่าง ทั้งยาแก้ขาเสื่อม ยาหยอดตา ฯลฯ เป็นทุกโรค และยาพวกนี้หมอก็เอาไปอยู่ในคลินิกของตัวเอง อยากได้ยาอะไรก็เขียนสั่งยาไป 2. หมอมีการสั่งยาให้ภรรยาและครอบครัว มีสิทธิรักษาพยาบาลฟรี ในครอบครัวใครใช้สิทธิได้ฟรีสั่งให้หมดและสั่งที่ละเยอะ 3. สวมสิทธิคนอื่น เช่น มีรายชื่อคนไข้ที่เป็นข้าราชการที่ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ซึ่งนานครั้งหรือหลายปีจะมารพ.ครั้งหนึ่ง ก็มีการเอารายชื่อไปเบิกยา โดยที่คนไข้นั้นไม่ทราบเรื่อง เอา opd นี้ออกมาและมีการสั่งยาให้ทุกเดือน

   4. สั่งยาเกินจำเป็น เช่นคนไข้เป็นโรคกระเพาะแต่มีการสั่งยาประเภทเดียวกันถึง 4 ตัว เคยถามหมอว่าถ้าคนไข้กินยาหมดนี้ผลจะเป็นอย่างไง หมอบอกว่าถ้ากินพร้อมกันก็ตาย ซึ่งก็ไม่ทราบว่าคนไข้เอาไปแล้วกินจริงหรือเปล่าถ้ากินจริงเป็นอันตรายกับเขา กลุ่มที่ 3 ซึ่งยังพบไม่มาก แต่เห็นพฤติกรรมแล้วและอยู่ระหว่างการตรวจสอบอยู่ คือ การใส่ตัวเลขหรือข้อมูลที่ไม่ตรง เช่น แพทย์สั่งยา100 เม็ด แต่ไปถึงเจ้าหน้าที่คีย์เป็น 1,000 เม็ด พอสั่งมาแล้วทั้งหมดเจ้าหน้าที่พยาบาลเอาไปขายร้านขายยาข้างๆ โรงพยาบาล หรือไม่ก็มีการไปเปิดขายยาเว็บไซต์ ในราคาถูกลดราคาต่ำ 60-70%

  นายภิญโญ กล่าวว่า ขณะนี้ ป.ป.ท.หารือกรมบัญชีกลางที่จะสรุปการทุจริตและเสนอรัฐบาลกำหนดแนวทางการป้องกันทางสังคม พร้อมกับจะดำเนินคดี ทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งมีครบทุกกลุ่ม ซึ่งจะยื่นฟ้อง 23 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่

งานนี้ถ้า ป.ป.ท.กระชากหน้ากากขบวนการนี้ได้ จะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ขึ้นอีกมาก!!!