posttoday

ยุคทอง ของ พรรคเล็ก!!!

28 ตุลาคม 2559

โจทย์สำคัญของกรธ. สำหรับการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง คือต้องการทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ถูกครอบงำโดยนายทุน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

โจทย์สำคัญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สำหรับการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง คือต้องการทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ถูกครอบงำโดยนายทุน หรือผู้มีอำนาจที่สามารถผูกขาดการตัดสินใจทุกอย่างเหมือนบางพรรคการเมืองในอดีต

จะเห็นจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. อธิบายว่า จะทำให้การตั้งพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอย่างแท้จริง คือเมื่อรวบรวม 500 คนแล้วแต่ละคนต้องจ่ายเงินเป็นทุนประเดิมของพรรคการเมืองในการทำกิจกรรมของบ้านเมืองด้วย  ซึ่งอีกด้านเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของพรรคด้วย

หากพิจารณาในรายละเอียดปัจจัยแรกที่ทำให้ตั้งพรรคได้ง่ายขึ้นคือจำนวนสมาชิกเริ่มต้น เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 26 ระบุว่า ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจัดตั้งพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองนั้นต้องดำเนินการรับสมัครสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน

ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าว ต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาค และจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด รวมทั้งมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คาดว่าจะกำหนดให้การริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองจากคณะผู้เริ่มไม่น้อยกว่า 15 คน จากนั้นให้ผู้ริเริ่มดำเนินการหาสมาชิกพรรคการเมืองให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 คน

โดยสัดส่วนสมาชิกที่กระจายตัวไปในแต่ละภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นด้วยวิธีการที่ผู้ริเริ่มพร้อมด้วยสมาชิกซึ่งไม่น้อยกว่า 500 คน สามารถยื่นจัดตั้งพรรคการเมืองต่อ กกต.ได้ทันที

ทว่า นอกจากจะทำให้ประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของพรรคมากขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งการทำให้ตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้น ย่อมเป็นการเปิดช่องให้บรรดานักการเมืองทั้งหลายตัดสินใจแตกออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ง่ายขึ้นด้วย

ยิ่งกว่านั้นนี่อาจเป็นทางออกที่นามาทดแทนการเซตซีโร่พรรคการเมืองได้อีกทาง

เมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าทาง กรธ.ไม่มีแนวคิดที่จะเซตซีโร่พรรคการเมืองเพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวายตามมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้จะมีแรงผลักดันให้ล้มกระดานสลายขั้วการเมือง หวังจะสลายความขัดแย้งที่สะสมมานานให้หมดไป

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ หนึ่งในปัญหาของพรรคใหญ่ที่มีหลายมุ้ง หลายกลุ่ม คือ การคัดตัวผู้สมัครที่มีปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่เมื่อสรุปฟันธงสุดท้ายย่อมต้องมีผู้ที่สมหวังและผิดหวัง  แต่ด้วยระบบพรรคใหญ่ไม่อาจทาอะไรได้มากนอกจากอดทนรอเลือกตั้งรอบต่อไป

แต่ด้วยกติกาใหม่ที่เปิดให้ตั้งพรรคใหม่ได้ง่าย แถมระบบการเลือกตั้งแบบใหม่หากได้ผู้สมัคร สส.เขตที่ฐานเสียงเข้มแข็ง ก็ยังเอื้อให้สามารถเจาะพื้นที่โดยไม่ต้องอาศัยฐานของพรรคใหญ่มาช่วยหาเสียง

แถมสภาพปัจจุบันคะแนนนิยมในพรรคใหญ่เองก็ลดน้อยลงไป ไม่ได้เหนียวแน่นจนถึงขั้นจะกวาดเสียงแบบถล่มทลายเหมือนในอดีตได้อีก

ดังนั้น ในเวลานี้จึงเริ่มเห็นการขยับของนักการเมืองหลายคน ที่ออกมาส่งสัญญาณจัดทัพวางคนเตรียมพร้อมตั้งพรรคใหม่เพื่อลงสนามเลือกตั้งครั้งหน้า หลังจาก ที่ทาง คสช.ออกมาส่งเสียงยืนยันว่าทุกอย่างจะเดินไปตามโรดแมป

ปัจจัยที่ทำให้หลายคนอยากตั้งพรรคใหม่เนื่องจากเนื่องจากวิเคราะห์แล้วหลังเลือกตั้ง  พรรคขนาดกลาง และขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญ  และตามมาด้วยอำนาจต่อรองที่มากขึ้น

ไล่มาตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านกำหนดให้ สว.เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ย่อมทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ซึ่งแม้จะมีเสียงข้างมากก็ใช่ว่าจะสามารถเลือกนายกฯ ของตัวเองได้อย่างที่ตั้งใจ

สุดท้ายเสียงสนับสนุนจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กย่อมกลายเป็นตัวชี้ขาดทางการเมือง ที่พรรคใหญ่ต้องไปผูกมิตรดึงมาเป็นพรรคพวกเสริมเสถียรภาพให้ตัวเอง

ต่อเนื่องไปถึงหลังปฏิบัติหน้าที่ในสภาที่จำเป็นต้องรักษา "เอกภาพ" ความเป็นปึกแผ่นของเสียงข้างมาก เพื่อให้การทำงานผ่านกฎหมายและวาระสำคัญในสภาไม่สะดุดจนอาจถึงขั้นทำให้ต้องยุบสภาได้

รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิด "งูเห่า" แปรพักตร์ไปสนับสนุนฝ่ายค้านขึ้นมาชิงตำแหน่งนายกฯ ในอนาคต

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กย่อมได้รับการเอาอกเอาใจเป็นพิเศษจากพรรคขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารอยร้าวที่จะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่

นั่นยิ่งจะทำให้เส้นทางการเมืองในอนาคตถือเป็นยุคทองของพรรคเล็ก