posttoday

ปลดเงื่อนทักษิณ ฟื้นสัมพันธ์ไทย-เขมร

25 สิงหาคม 2553

สัญญาณฟื้นคืนความสัมพันธ์ “ไทยกัมพูชา” เริ่มก่อตัวอย่างรวดเร็วทันควัน หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกาศสละเก้าอี้ที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกฯ ฮุนเซน?

สัญญาณฟื้นคืนความสัมพันธ์ “ไทยกัมพูชา” เริ่มก่อตัวอย่างรวดเร็วทันควัน หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกาศสละเก้าอี้ที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกฯ ฮุนเซน?

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ปลดเงื่อนทักษิณ ฟื้นสัมพันธ์ไทย-เขมร

นำมาสู่การส่ง “ประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย” เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกลับไปประจำทำหน้าที่ตามที่ตามเดิมวานนี้ เช่นเดียวกับทางกัมพูชาที่เตรียมส่งทูตกลับมาวันนี้

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างออกมาประสานเสียงยืนยันว่าความสัมพันธ์สองประเทศ กำลังก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น?

โดยเฉพาะปมปัญหาคาใจต่อกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบตัวปราสาท ซึ่งเป็นชนวนขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายจนถึงวันนี้

แม้แต่ไม้เบื่อไม้เมากับนายฮุนเซน อย่าง “รัฐมนตรีสายล่อฟ้า” กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ยังเชื่อว่า “ทุกเรื่อง” จากนี้น่าจะดีขึ้น เพราะเรื่องความร่วมมือกันระหว่างสองประเทศมีมากมาย ส่วนปัญหาปราสาทพระวิหารก็คงต้องมีการเจรจาพูดคุยกัน

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา “ท่าที” ของนายกฯ ฮุนเซน ชัดเจนว่า เลือกยืนอยู่ข้างเพื่อนรัก? อย่าง “ทักษิณ” มาโดยตลอด ถึงขั้นยอมแลกด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา

ท่ามกลางบรรยากาศกระทบกระทั่งกันไปมาอยู่เนืองๆ ระหว่างชายแดนของทั้งสองประเทศสลับกับการ “วิวาทะ” ที่ให้สัมภาษณ์ตอบโต้กันไปมาระหว่างสองฝ่าย

จนฟางเส้นสุดท้าย หลังการแต่งตั้งอดีตนายกฯ ไทยไปเป็นที่ปรึกษากัมพูชา และที่ปรึกษาเศรษฐกิจส่วนตัว แบบไม่สนใจคำทักท้วงของไทยที่กำลังติดตามตัว “ทักษิณ” กลับมาดำเนินคดี

สุดท้ายรัฐบาลไทยต้องตอบโต้ทางการทูตแบบไม่มีทางเลือกด้วยการถอนเอกอัครราชทูตกลับ ความตึงเครียดจึงยิ่งคุกรุ่นมากขึ้นกว่าเดิม

คำถามสำคัญคือ อะไรเป็น “สาเหตุ” ถึงขั้นทำให้นายกฯ ฮุนเซน ยอม “เว้นวรรค” ความสัมพันธ์กับ “ทักษิณ” ? และกลับมา “ง้อ” ขอคืนดีกับรัฐบาลไทยในช่วงนี้

แน่นอนว่า “เป้าใหญ่” คงหนีไม่พ้นเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ที่ต้องหยุดชะงักไปอีกอย่างน้อย 1 ปี หรือจนกว่าจะหาทางออกลงตัวระหว่างทั้งสองประเทศ

การประกาศเร่งเดินหน้าฟื้นความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หากจะหวังให้การขึ้นทะเบียนสามารถคืบหน้าไปได้และกลายเป็น “ผลงาน” เรียกคะแนนนิยม

ดังจะเห็นว่าทุกอย่างสอดรับเพื่อปูทางนำไปสู่การเจรจาหาทางออกร่วมกันระหว่างนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกฯ ฮุนเซน จะเจรจาหารือข้อพิพาทในพื้นที่พิพาทในเขมร ก่อนเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียยุโรป (อาเซม) ที่ประเทศเบลเยียม ต.ค.นี้

หากพิจารณาเหตุผลการลาออกที่นายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัวชี้แจงว่า เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีเวลาเนื่องจากต้องไปทำธุรกิจในหลายประเทศ และไม่ต้องการให้ประเด็นเรื่องตำแหน่งดังกล่าวกลายเป็นปัญหากระทบความสัมพันธ์สองประเทศ

ทว่า ในมุมลึกๆ แล้ว สาเหตุจากการลาออกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะพยายามทำตัว “โลว์โพรไฟล์” หลีกเลี่ยงสถานะที่อาจมีปัญหาต่อการใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่ต่างประเทศ

ยิ่งในภาวะที่รัฐบาลเดินเกมบีบไปยังนานาประเทศ กวดขันไม่ให้ “ทักษิณ” เคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยข้ออ้างอันชอบธรรมทั้งเรื่องโทษอาญาที่ติดตัวพ่วง “คดีก่อการร้าย”

ยิ่งทำให้การวางบทบาทกำหนดสถานะตัวเองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องหลีกเลี่ยงทุกอย่างไม่ให้เป็นชนวนนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ ดังจะเห็นจากการเคลื่อนไหวที่ลดน้อยถอยลงไปในช่วงนี้

อีกส่วนหนึ่งที่มองกันว่าเป็นเหตุให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมสละเก้าอี้ตรงนี้ เพราะไม่ต้องการให้บรรดาแกนนำเสื้อแดงที่มีข่าวว่าหลบไปพำนักอยู่ริมชายแดนกัมพูชา หลายๆ คนต้องถูกเพ่งเล็งหรือได้รับผลกระทบติดร่างแหไปด้วย

ในมุมมองของนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่าง ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าปัจจัยที่ทำให้ “กัมพูชา” เปลี่ยนท่าทีเอนเอียงมาทางรัฐบาลไทยมากกว่าเข้าข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

1.ท่าทีเอาจริงเอาจังของรัฐบาลต่อจุดยืนในเรื่องการเดินหน้าเจรจาแก้ปัญหาแบบทวิภาคี โดยไม่ให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซง อย่างที่กัมพูชาพยายามดึงให้สหประชาชาติ หรือให้อาเซียนเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เมื่อไทยไม่ยอมกัมพูชาต้องปรับท่าทีเพื่อนำมาสู่การเจรจาแก้ปัญหาระหว่างสองประเทศ

2.ในแง่การเมืองคงประเมินแล้วว่า โอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับเข้ามามีบทบาทในเร็วๆ นี้ คงเป็นเรื่องยาก หรืออาจจะต้องรอไปถึงการเลือกตั้ง ขณะที่กัมพูชาต้องการจะจัดการปัญหาข้อพิพาทให้จบโดยเร็ว การจะให้รอ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาก่อนจึงอาจรอไม่ได้

3.ปัจจัยนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าจีนจะเข้ามามีบทบาทในการทำให้ทั้งสองประเทศเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ที่จะสร้างความอ่อนแอและเป็นอุปสรรคในการสร้างพลังของกลุ่มอาเซียน เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐ

ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และกัมพูชา อาจารย์สุรชัย เปรียบเทียบว่า เหมือนกับทางกัมพูชาเลือกทิ้ง “ไพ่ใบสุดท้าย” ที่ไม่สามารถช่วยอะไรได้แล้วในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าต่อจากนี้ไปความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะดีขึ้น

จากนี้ไปจึงเป็นช่วงเริ่มต้นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง “ไทยกัมพูชา” ส่วนจะเดินหน้าไปได้มากน้อยแค่ไหน ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัยที่ต้องคอยติดตาม