posttoday

วิบากกรรมอสังหาฯสหรัฐ ตัวการฉุดศก.ถดถอยซ้ำซ้อน

25 สิงหาคม 2553

เมื่อช่วงต้นเดือน อลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และผู้ทรงอิทธิพลในวงการการเงินการคลังเตือนว่า สหรัฐมีโอกาสที่จะถลำลึกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน โดยกล่าวว่า แม้แนวโน้มในเรื่องนี้จะยืนยันไม่ได้แน่นอน แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้

เมื่อช่วงต้นเดือน อลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และผู้ทรงอิทธิพลในวงการการเงินการคลังเตือนว่า สหรัฐมีโอกาสที่จะถลำลึกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน โดยกล่าวว่า แม้แนวโน้มในเรื่องนี้จะยืนยันไม่ได้แน่นอน แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้

โดย......ทีมข่าวต่างประเทศ

 

วิบากกรรมอสังหาฯสหรัฐ ตัวการฉุดศก.ถดถอยซ้ำซ้อน

หากตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐยังโคลงเคลงอยู่เช่นนี้ โอกาสยิ่งมีไม่น้อย!

ความโคลงเคลงที่ว่านี้ หมายถึงระดับราคาที่พักอาศัยที่ตกต่ำลง และสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงหากราคาที่พักอาศัยตกต่ำแล้วยังขายไม่ออก

ลักษณะเช่นนี้ กรีนสแปนเรียกว่า ภาวะกึ่งถดถอย (QuasiRecession) และมีความเป็นไปได้ที่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาดีดังเดิม อาจต้องเจ็บตัวกับการทิ้งตัวลงต่ำสุดขีดอีกครั้ง

คำเตือนของกรีนสแปนเมื่อเร็วๆ นี้ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอบีซี นิวส์ เมื่อเดือน เม.ย. ที่เจ้าตัวกล่าวว่า แนวโน้มที่สหรัฐจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อนได้ลดต่ำลง เนื่องจากความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นที่ค่อนข้างคึกคัก ระดับการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ความหวังด้านบวกต่อภาวะการจ้างงาน รวมถึงวิกฤตซับไพรม์ที่เริ่มคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม กรีนสแปนก็เป็นเหมือนผู้เชี่ยวชาญและผู้นำหลายๆ คนที่มองเหตุและปัจจัยต่อเศรษฐกิจสหรัฐในมุมมองที่แตกต่างกัน

ดังเช่นครานี้ กรีนสแปนหันกลับมาสนใจกับปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไปโฟกัสที่การลงทุนและการจ้างงาน อีกทั้งยังเชื่อว่าวิกฤตซับไพรม์เริ่มเบาบางลงแล้ว ทั้งๆ ที่อีกเงื่อนไขของวิกฤตดังกล่าว คือ ตลาดอสังหาฯ ยังไม่มีทีท่าที่ปัญหาจะเบาบางลง

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐยังโฟกัสที่ปัญหาว่างงาน ทั้งๆ ที่ในตลาดอสังหาฯ อาการเริ่มย่ำแย่ลง ซึ่งแม้จะคงกล่าวตำหนิรัฐบาลโอบามาไม่ได้ ที่ภาวะว่างงานช่วงเดือน ก.ค. พุ่งขึ้นมาถึง 9.5%

กระนั้น รัฐบาลสหรัฐก็ควรมองปัญหาให้รอบด้านขึ้น หาไม่แล้วเมื่อแก้ปัญหาว่างงานสำเร็จ แต่กลับต้องเผชิญกับสถานการณ์ในตลาดอสังหาฯ ที่เลวร้ายลง

หลังจากที่กรีนสแปนออกมาเตือนถึงแนวโน้มอันตราย ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขยับเข้ามาจับปัญหานี้ในเวลาต่อมา (และปล่อยให้โอบามาเดินสายย้ำความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการจ้างงานภายในประเทศ)โดยเฟดยืนยันที่จะปิดช่องทางไม่ให้เงินทุนไหลออกจากระบบธนาคารซึ่งเป็นสัญญาณของการตรึงดอกเบี้ยต่อไป

ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ความตกต่ำในตลาดอสังหาฯ จะไม่ร้ายแรงนัก หรือสะเทือนเพียงเล็กน้อยหลังจากมีการยุติมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีแก่ผู้ซื้อบ้านในวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐยังอ่อนแอมาก ดังจะเห็นได้จากการใช้จ่ายผู้บริโภคเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 0% ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในปีนี้ และถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปี ที่ตัวเลขไม่ขยับขึ้น

สิ่งที่ติดตามคือ ยอดขายที่อยู่อาศัยดิ่งลง 12.9% ในเดือน ก.ค. แม้ว่ายอดขายที่อยู่อาศัยในสหรัฐจะทิ้งตัวลงถึง 33% แล้วนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ปี 2549

ขณะเดียวกัน ยอดยึดบ้านยิ่งพุ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง บรรยากาศจึงคล้ายคลึงกับช่วงไม่นานก่อนที่สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นอย่างยิ่ง

แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอของผู้บริโภคสหรัฐอาจไม่ใช่ปัญหาเดียวที่ทำให้อาการของตลาดอสังหาฯ ทรุดหนักลงจนฉุดรั้งเศรษฐกิจโดยรวม แต่เป็นวงจรของปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างเหนียวแน่น

ดังเช่นกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐต้องขาดรายได้จากการเก็บภาษีเนื่องจากภาวะชะงักงันในภาคอสังหาฯ ที่เคยสร้างเงินมหาศาลเข้าสู่ภาครัฐและเอกชน สิ่งที่ตามมาคือ หน่วยงานของทางการต้องปลดเจ้าหน้าที่ออกเป็นจำนวนมาก

และเมื่อมีการลอยแพเจ้าหน้าที่และพนักงานมากมาย ผลลัพธ์ก็กลายเป็นศรย้อนกลับ เพราะทำให้พนักงานเหล่านี้ไม่อาจแบกรับภาระการส่งหนี้ผ่อนบ้านได้ จนต้องปล่อยให้บ้านถูกยึดเช่นเดียวกับอีกหลายหมื่นหลังทั่วสหรัฐ มิหนำซ้ำยังซ้ำเติมให้ปัญหาว่างงานรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว

อีกปัญหาสำคัญมาจากธนาคาร

หลังจากที่ธนาคารในสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตซับไพรม์ ก็เริ่มเดินหน้าสะสางปัญหาเก่าในทันที ด้วยการไล่ยึดบ้านที่ไม่สามารถผ่อนส่งได้ในอัตราที่รวดเร็วจนน่ากลัว ยังผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ธนาคารยึดบ้านเพิ่มขึ้นถึง 35% ถือเป็นอัตราการยึดบ้านที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี

เจตนาของธนาคารที่ต้องการสะสางปัญหาที่ทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินติดขัด ถึงที่สุดแล้วจะกลายเป็นปมปัญหาที่อาจหวนกลับมาสร้างความเสียหายให้กับระบบการเงิน

ส่วนระบบเศรษฐกิจนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเป้าแรกที่จะถูกกระทบเข้าอย่างจัง

ความลักลั่นนี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนจากรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยการประนีประนอมทางการเงิน หรือการต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปในระดับที่ไม่กระทบปัญหางบประมาณขาดดุลมหาศาล จนอาการสาหัสยิ่งกว่านี้

นับเป็นงานหนักและซับซ้อนอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลที่ยังไม่มีความสามารถควบคุมปัญหาว่างงานที่ส่อเค้าขึ้นมาแตะระดับตัวเลขสองหลักได้

มิใช่รัฐบาลโอบามาปราศจากความสามารถ แต่เป็นเพราะวิบากกรรมทางเศรษฐกิจที่สั่งสมมาหลายปีแผลงฤทธิ์อย่างไม่ยอมลดราในสมัยของโอบามา

อีกทั้งเมื่อเทียบกับภาวะถดถอยคราวที่ผ่านๆ มา การฟื้นตัวในยุคนี้ล่าช้าอย่างน่าตกใจ อีกทั้งในยุคเศรษฐกิจถดถอยที่สหรัฐเผชิญมาแล้ว 8 ครั้ง มีถึง 7 ครั้งที่ภาคอสังหาริมทรัพย์คือพลวัตหลักที่ปลุกระบบเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนชีพ

แต่ในครั้งนี้ภาคอสังหาฯ อาจไม่เพียงไม่ช่วยกู้ชีพเท่านั้น แต่จะยังซ้ำเติมให้ยิ่งเลวร้ายลง

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ไม่เพียงสหรัฐจะไม่สามารถหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในปีนี้ได้ตามที่หวังไว้เท่านั้น แต่ยังจะบั่นทอนรากฐานของเศรษฐกิจของมหาอำนาจอันดับ 1 จนไม่อาจกลับมาสยายปีกได้อย่างกล้าแข็งอีกต่อไป