posttoday

ตัวแทนของประชาชน ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม

21 ตุลาคม 2559

สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งที่อยู่เคียงคู่กับประเทศไทยมาอย่างช้านาน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งที่อยู่เคียงคู่กับประเทศไทยมาอย่างช้านาน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่บัญญัติให้พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งการบัญญัติไว้เช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าฐานะของพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะสูงสุดของประเทศ และเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนเสมอมา

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 นำมาซึ่งรูปแบบการปกครองที่แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้พระราชทานคำแนะนำในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนเสมอมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายนิติบัญญัติที่มีสถานะเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสที่เป็นประโยชน์ไว้หลายต่อหลายครั้งตลอดการครองราชย์ 70 ปี โดยในหนังสือ “ธ ทรงเป็นร่มฉัตรรัฐสภา” ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการบันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้อย่างน่าสนใจ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราช ดำเนินไปประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2493-4 มี.ค. 2548 รวมทั้งสิ้น 33 ครั้ง โดยในรัฐพิธีเปิดประชุมแต่ละครั้ง จะพระราชทานพระราชดำรัสเปิดประชุมทุกครั้ง เพื่อเป็นข้อเตือนใจให้แก่บุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนของประชาชน

อย่างเช่น พระราชดำรัสในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา สมัยประชุมวิสามัญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2493 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสิ้นสุดลง มีใจความว่า “ท่านทั้งหลายคงจะตระหนักใจอยู่ว่า เหตุการณ์ของโลกกำลังอยู่ในระยะอันจะผันแปรไปสู่ทางร้ายหรือทางดีก็หามีผู้ใดอาจพยากรณ์ได้ไม่ เท่าที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้มีการขัดแย้งกันในทางลัทธิการเมือง แม้ใกล้ประเทศเรานี้เองก็ถึงกับประหัตประหารกันด้วยอาวุธ ด้วยมีความเห็นแตกแยกกัน สถานการณ์เช่นนี้ย่อมจะก่อให้เกิดความวิตกอยู่บ้างว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนถึงประเทศไทยเพียงใด แต่ข้าพเจ้ามีความพอใจที่เห็นประเทศชาติของเรายังสามารถรักษาความสงบสุขไว้ได้ดี...

...ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้มีความตั้งใจในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองและประชาราษฎร โดยตั้งมั่นในสามัคคีธรรมและพร้อมใจกันร่วมมือในการดำเนินการของรัฐสภาให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราให้มีวัฒนาถาวรสืบไป”

เช่นเดียวกับหลังจากเหตุการณ์มหาวิปโยค ในวันที่ 14 ต.ค. 2516 ที่นำมาสู่การตั้งสมัชชาแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงมีพระราชดำรัสแนะนำ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2516 ตอนหนึ่งว่า “สมาชิกแห่งสมัชชาจะต้องกระทำหน้าที่ของท่านโดยสุจริตยุติธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ อาชีพ วิชาการ ตลอดจนทรรศนะความคิดเห็นอันกว้างขวางในประเทศของเราอย่างแท้จริง เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ รวมทั้งพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร อันจักได้ประกาศใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองต่อไป

ข้าพเจ้ามั่นใจว่าท่านทุกคนที่มาประชุม ณ ที่นี้ มีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราทั้งปวง และด้วยความมั่นใจนี้ ข้าพเจ้าขอมอบหมายให้ท่านร่วมกันเลือกผู้ที่สมควรจะได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป”

ส่วนพระราชดำรัสในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2548 ซึ่งเป็นการเปิดประชุมด้วยพระองค์เองเป็นครั้งสุดท้ายนั้นมีเนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งว่า “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคราวนี้ ประชาชนต่างตระหนักถึงความสำคัญของการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้การปกครองประเทศดำเนินเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ต่อแต่นี้ไปจึงเป็นภาระและความรับผิดชอบโดยตรงของท่านทั้งหลาย ที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ ให้งานของแผ่นดินดำเนินก้าวหน้าไปโดยถูกต้อง เที่ยงตรง และบังเกิดผลที่พึงประสงค์ทุกด้าน

ดังนั้น เรื่องราวและปัญหาใดๆ ที่เข้ามาสู่สภาแห่งนี้ จึงควรจะได้พิจารณาปรึกษาตกลงกัน ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความสามัคคีปรองดอง และด้วยความสุจริตบริสุทธิ์ใจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด"