posttoday

เข็นกองทุนชาวนา มัดจำเสียงรากหญ้า

25 สิงหาคม 2553

การประกาศเดินหน้าเข็น “กองทุนสวัสดิการชาวนา” ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

การประกาศเดินหน้าเข็น “กองทุนสวัสดิการชาวนา” ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

โดย...ทีมข่าวการเงิน

 

 

เข็นกองทุนชาวนา มัดจำเสียงรากหญ้า

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลเข็นออกมาสร้างสังคมสวัสดิการ ตามนโยบายของรัฐบาลที่วาดฝันไว้

สังคมสวัสดิการพยายามที่จะมุ่งเน้นไปกลุ่มฐานรากที่มีรายได้น้อย ยากจนเป็นหลักสำคัญ

นอกจากเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ ยังเป็นการเพิ่มคะแนนเสียงทางการเมืองให้กับรัฐบาลอย่างเป็นกอบเป็นกำ

อย่างไรก็ตาม กองทุนชาวนาที่เป็นไอเดียผุดขึ้นมาล่าสุด ก็ยังดูเป็นเหมือน “แสงสว่างที่ปลายถ้ำ” ของชาวนา

เพราะการตั้งกองทุนชาวนา ตราเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนสวัสดิการชาวนา ที่ยังต้องใช้เวลาในการตกผลึกในรายละเอียดของกฎหมาย และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติอีกมาก

แม้ว่ารูปร่างหน้าตาของกฎหมายจะถูกเขียนขึ้นมาเป็นตุ๊กตาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชาวนาสามารถเข้าร่วมกองทุนนี้ด้วยความสมัครใจไม่มีการบีบบังคับ

ผู้ที่เข้าเป็นสมาชิกกองทุนต้องส่งเงินเข้ากองทุน 3% ของการขายข้าวในแต่ละปี โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้กับชาวนา 1 หรือ 2 เท่า

จะเห็นว่า แค่เริ่มต้นก็เป็นปัญหา ว่าการตั้งกองทุนโดยใช้ความสมัครใจ จะมีเกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกขนาดไหน หากเข้ามาร่วมน้อยกองทุนจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

และหากรัฐบาลต้องการให้ชาวนามาเป็นสมาชิกโดยการจูงใจจ่ายเงินสมทบ รัฐบาลจะมีเงินเพียงพอที่จะไปอุดหนุนโดยไม่ให้เป็นปัญหาการเงินการคลังเพียงใด

หรือกรณีที่ชาวนาต้องจ่ายเงินสมทบ 3% ของการขายข้าวได้ในแต่ละปี ก็ยังมีปัญหาว่า มากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ และหากเกิดปัญหาการเพาะปลูก หรือประสบปัญหาภัยธรรมชาติ หรือชาวนาไม่สามารถปลูกข้าวมาขายได้ สถานะการเป็นสมาชิกกองทุนของชาวนาจะมีปัญหาตามมา

นอกจากนั้น กฎหมายที่รัฐบาลตั้งเป็นตุ๊กตาไว้ ยังกำหนดให้ชาวนาที่จะเป็นสมาชิกกองทุน ต้องมีอายุ 20 ปี มีที่นาทำกินไม่เกิน 15 ไร่ ก็มีประเด็นตามมาว่า ชาวนาที่มีพื้นที่ปลูกเกิน 15 ไร่ ทำไมถึงเข้าเป็นสมาชิกกองทุนไม่ได้ เพราะการมีที่นามากไม่ได้หมายความว่าจะทำนาได้กำไรมากกว่าคนที่มีที่นาน้อย และชาวนาที่มีที่เพาะปลูกเกิน 15 ไร่ ก็เป็นกลุ่มใหญ่อีกด้วย

ยังมีประเด็นที่สำคัญทางกฎหมายว่า เมื่อชาวนาอายุครบ 65 ปี จะเลือกรับเป็นบำเหน็จครั้งเดียว หรือบำนาญเป็นเวลา 10 หรือ 20 ปี ก็ได้

ในเรื่องนี้รัฐบาลจะรับประกันผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับชาวนาได้อย่างไร และรัฐบาลจะสร้างความเข้าใจให้ชาวนาออมเงินระยะยาว 3040 ปี ได้ต่อเนื่อง เพื่อที่ได้เงินคืนหลังอายุ 65 ปี ได้หรือไม่

โจทย์นี้ถือเป็นการเข็นครกขึ้นภูเขา และจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก

จะเห็นว่า แค่มองโจทย์ตุ๊กตา ทั้งเรื่องของเงินที่ต้องจ่ายสมทบการออม ระยะเวลาในการออมที่ยาวนาน และผลประโยชน์ที่จะได้ยังไม่ชัดเจน

การเดินหน้าตั้งกองทุนชาวนายังต้องเดินหน้าฝ่าฟันอุปสรรคอีกมาก

การตั้งกองทุนชาวนายังถูกมองว่าเป็นการจำกัดกลุ่มเกษตรกรมากไปหรือไม่ เพราะเมืองไทยไม่ได้มีแต่ชาวนาเท่านั้น ยังมีเกษตรกรอีกมากที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรปลูกยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด พืชผักต่างๆ ก็ล้วนเป็นเกษตรกรของประเทศทั้งสิ้น


ดังนั้น การตั้งกองทุนชาวนาอาจจะต้องทบทวนใหม่ว่า ควรตั้งเป็นกองทุนเกษตรกรให้ครอบคลุมผู้อยู่ในอาชีพเกษตรกรรมทั้งประเทศหรือไม่

นอกจากนี้ การตั้งกองทุนชาวนาที่จะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ผลักดัน จะเป็นการตั้งกองทุนซ้ำซ้อนกับกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ของกระทรวงการคลัง ที่ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่

เพราะกองทุน กอช. มีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันหลังเกษียณ สำหรับแรงงานที่อยู่ “นอกระบบ” ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มีแรงงานนอกระบบดังกล่าวกว่า 20 ล้านคน ซึ่งรวมถึงแรงงานในภาคเกษตรอีกด้วย

หมายความว่า เกษตรกรสามารถเข้าเป็นสมาชิกกองทุนได้ตามความสมัครใจ โดยจ่ายเงินสมทบส่วนหนึ่ง และรัฐบาลจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีการกำหนดไว้ว่าแรงงานต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุน 1001,000 บาท รัฐจะจ่ายสมทบให้สมาชิกอายุ 20-30 ปี เดือนละ 50 บาท

สมาชิกอายุ 30 ปี 1 เดือน50 ปี สมทบเดือนละ 80 บาท และสมาชิกอายุ 50 ปี 1 เดือน60 ปี สมทบเดือนละ 100 บาท

โดยหลังจากที่อายุ 60 ปี จะได้รับบำนาญเดือนละ 1,710 บาท รวมเบี้ยยังชีพเป็น 2,210 บาท รัฐจะมีภาระสมทบในกองทุนนี้ปีละถึง 2 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น เมื่อมีการตั้ง กอช. ที่ครอบคลุมถึงแรงงานภาคเกษตรแล้ว จำเป็นต้องมีการตั้งกองทุนชาวนาขึ้นมาให้ซ้ำซ้อนให้ยุ่งยากเป็นภาระกับเงินงบประมาณอีกหรือไม่

ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า การตั้งกองทุนชาวนาเป็นการสร้างทางเลือกให้กับชาวนา หากเป็นสมาชิกกองทุนชาวนาแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิก กอช. หรือจะเป็นสมาชิกทั้งสองกองทุนก็ได้ หากมีกำลังที่จะจ่ายเงินสมทบในระยะยาว

จากปัญหาข้อจำกัดการตั้งกองทุนที่ยังมีจุดอ่อน ช่องโหว่อีกมาก อีกทั้งยังเป็นการตั้งกองทุนซ้ำซ้อนกับ กอช. ถือเป็นการบ้านที่รัฐบาลยังต้องทำอีกมาก ว่ากองทุนชาวนามีความจำเป็นจริงหรือไม่

ดังนั้น การ “ตีฆ้อง” นโยบายการตั้งกองทุนชาวนา จึงเป็นการประโคมนโยบายรัฐสวัสดิการมัดใจชาวนา เพื่อเก็บแต้มคะแนนทางการเมืองในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใหม่เท่านั้น

ส่วนกองทุนชาวนาจะตั้งได้ตามที่รัฐบาลโปรยยาหอมไว้หรือไม่ ก็ต้องลุ้นว่ารัฐบาลนี้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกสมัยอยู่ครบ 4 ปี จะคลอดกองทุนชาวนาออกมาได้อย่างที่คุยไว้หรือไม่