posttoday

ถอนประกัน นปช. ปมเสี่ยงสยบการเคลื่อนไหว

05 ตุลาคม 2559

ชี้ขาดกันวันที่ 11 ต.ค.นี้ ตามที่ศาลอาญานัดฟังผลว่าจะพิจารณาถอนประกัน 5 แกนนำ นปช.หรือไม่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ชี้ขาดกันวันที่ 11 ต.ค.นี้ ตามที่ศาลอาญานัดฟังผลว่าจะพิจารณาถอนประกัน ​วีระกานต์ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ และนิสิต สินธุไพร 5 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)หรือไม่  

คดีนี้ 5 แกนนำ นปช. เป็นจำเลยในข้อหาก่อการร้ายซึ่งขอปล่อยตัวชั่วคราว​ระหว่างการต่อสู้ทางคดี แต่ต่อมาพนักงานอัยการคดีพิเศษ ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากจำเลยออกมาพูดจาพาดพิงผ่านรายการโทรทัศน์เรื่องสมเด็จพระสังฆราช อุทยานราชภักดิ์  เข้าข่าย“​ยั่วยุปลุกปั่น” ทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่สงบอัน​ผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ทำไว้กับศาล

ไม่แปลกที่จะถูกมองว่าการขอเพิกถอนการปล่อยตัวรอบนี้เป็นอีกแรงบีบที่จะควบคุมแกนนำ นปช.ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว​ ตลอดจนการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช.

สอดรับกับท่าทีของ จตุพร ที่รีบออกมาปกป้องตัวเองด้วยการชี้แจงว่า แม้จะพูดเรื่องดังกล่าวในรายการจริง แต่เป็นการแสดงความเห็นลักษณะห่วงใยในการบริหารงานบ้านเมือง

“เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยความสุจริตในฐานะประชาชนผู้ห่วงใยประเทศ ไม่เคยพูดในลักษณะยุยง แต่พวกผมพูดให้ประชาชนอยู่ในความสงบสุข” จตุพร ระบุ

อีกทั้ง ถ้าเห็นว่าการกระทำของพวกตนมีลักษณะพาดพิงกระทบกับบุคคลใด ก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทที่บุคคลนั้นจะใช้สิทธิยื่นฟ้อง หรือหากเห็นว่าก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และอัยการสามารถยื่นฟ้องได้ ​ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ได้

หากย้อนกลับไปดูก่อนหน้านี้จะเห็นว่ามีความพยายามสกัดการออกมาวิพากษ์รัฐบาล คสช. อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเจ้าตัวไปปรับทัศนคติหลายระลอก

แถมต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติ​สั่งพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีซทีวี ​และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทีวียี่สิบสี่ ด้วยเหตุผลที่ระบุว่าเนื้อหาในรายการเข้าข่ายให้ข้อมูลข่าวสารยั่วยุ ปลุกปั่น ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557

ท่ามกลางการปลุกกระแสโจมตีกลับว่ามีการเลือกปฏิบัติเพราะอีกฝั่งหนึ่งยังสามารถจัดรายการออกโทรทัศน์ได้ตามปกติโดยไม่ถูกปิดหรือถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติ

แต่สุดท้ายถึงจะปิดรายการโทรทัศน์ไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถสกัดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.​ เมื่อแกนนำ นปช.ได้เปลี่ยนช่องทางการแสดงความเห็นจากในโทรทัศน์ไปอยู่ในยูทูบที่ยากต่อการปิดกั้น แถมยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน

ที่สำคัญเนื้อหาในการจัดรายการผ่านยูทูบยังมีอิสระมากกว่าเดิม ไม่ถูกกฎระเบียบต่างๆ ควบคุมมากมายเหมือน โทรทัศน์ปกติ จนทำให้เนื้อหาระยะหลังดูจะดุเดือดมากขึ้น

ยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นช่วงการดำเนินคดีไล่เบี้ยอดีตยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประเด็นจำนำข้าว เรื่อยมาจนถึงช่วงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นช่องทางนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นเรื่อยมา

ความพยายามปิดปากสกัดการเคลื่อนไหวยังคงมีต่อเนื่อง แต่ดูจะไม่เป็นผล ถึงจะหยุดหรือสงบไปบ้างก็เพียงแค่บางช่วงบางตอนเท่านั้น

การพิจารณาถอนประกันแกนนำ นปช.รอบนี้จึงถูกมองว่าอาจมีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวช่วงที่ผ่านมาเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 ต.ค.นี้ทางศาลจะตัดสินชี้ขาดว่าจะถอนประกันหรือไม่

ดังจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ ศาลนัดการไต่สวนเพื่อถอนประกันจากเดือน ม.ค. 2560 มาเป็นวันที่ 3 ต.ค.นี้ เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมร่วม 2 เดือน จนเป็นที่กังขาว่าอาจเป็นมาตรการปิดปาก และกดดันการเคลื่อนไหวของแกนนำ นปช. ไม่ให้มาสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล คสช.

เมื่อแกนนำ นปช.ที่มีคดีติดตัวไม่ใช่คดีนี้เพียงคดีเดียว ย่อมไม่อยากเอาอนาคตและอิสรภาพมาสุ่มเสี่ยงกับการเคลื่อนไหวที่ยังไม่มีประเด็นเคลื่อนไหวที่มีน้ำหนักเพียงพอจะปลุกกระแสได้

แถมหากพลาดถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วย่อมเป็นเรื่องยากที่จะได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวหากคิดจะขออีกในอนาคตเพราะเคยทำผิดเงื่อนไขมาแล้วรอบหนึ่ง

ที่สำคัญการจะมาฝืนกระแสเคลื่อนไหวท้าทาย คสช.ในวันที่ยังไม่มีประเด็นเพลี่ยงพล้ำ แถมยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือที่จะทำอะไรก็ได้ ยิ่งข้อหาเรื่องการ​เคลื่อนไหวเข้าข่ายยั่วยุปลุกปั่น ปลุกระดม ​ให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองนั้นเป็นเรื่องยากที่จะสรุปได้ชัดเจน

ดังนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อบรรดาแกนนำ นปช. ที่จะออกมาเสี่ยงตอนนี้ สู้เก็บเนื้อเก็บตัวรอไปจนถึงหลังการเลือกตั้ง ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะหากถูกเพิกถอนการประกันตัวรอบนี้อาจต้องถูกคุมควบตัวกันอีกยาว​