posttoday

มาตรฐานคุมเข้มไปเมืองนอก กำลังย้อนมาเล่นงานรัฐบาล?

05 ตุลาคม 2559

รัฐบาลชุดนี้ได้วางมาตรฐานให้หน่วยงานของรัฐใช้งบประมาณเดินทางไปราชการต่างประเทศเท่าที่จำเป็น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนในทางการเมืองขึ้นมาทันที หลังจากพบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยคณะเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ที่มลรัฐฮาวาย โดยว่าจ้างเครื่องบินเหมาลำด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 20.9 ล้านบาท

สาเหตุที่เรื่องนี้ถูกสังคมสนใจค่อนข้างมาก เพราะรัฐบาลชุดนี้ได้วางมาตรฐานให้หน่วยงานของรัฐใช้งบประมาณเดินทางไปราชการต่างประเทศเท่าที่จำเป็นและต้องเป็นไปอย่างคุ้มค่า ดังจะเห็นได้จากเมื่อเดือน มี.ค. 2558 คณะรัฐมนตรีมีหนังสือเรื่อง “การเดินทางไปศึกษาดูงาน ประชุม สัมมนา อบรม ณ ต่างประเทศ” ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.ให้หัวหน้าส่วนราชการ (กระทรวง/กรม)หรือเทียบเท่า ผู้บริหารของส่วนราชการ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น กรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลที่รัฐถือหุ้น งดเว้นการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ยกเว้นกรณีเข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนาตามพันธกรณี ข้อตกลงระหว่างประเทศหรือ

2.หากหน่วยงานเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องการศึกษาดูงาน ให้ปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษาดูงานภายในประเทศแทน โดยเฉพาะการศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

3.ให้กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ข้าราชการเดินทางด้วยเครื่องบินในชั้นโดยสารดังนี้

3.1 ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (อธิบดีหรือเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการ เอกอัครราชทูต รองปลัดกระทรวง) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิให้เดินทางภายในประเทศในชั้นประหยัดและเดินทางต่างประเทศในชั้นธุรกิจ

3.2 ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ประเภทอำนวยการ ระดับสูงประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ให้เดินทางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในชั้นประหยัด

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยอ้างถึงการกำชับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้หน่วยงานของรัฐใช้งบประมาณในเรื่องดังกล่าวตามความเหมาะสม

“นายกฯ ได้กล่าวถึงเรื่องการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศว่า กิจกรรมใดที่มีความจำเป็นน้อยก็ปรับลดให้เกิดความเหมาะสม แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาดูงานในต่างประเทศก็ขอให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะสามารถเชิญวิทยากรมาบรรยายในประเทศได้หรือไม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พร้อมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะถึงระดับผู้บริหารที่จะเดินทางโดยเครื่องบิน เพื่อไปประชุมในประเทศและต่างประเทศ เช่น อธิบดีก็ขอให้เดินทางในชั้นประหยัด ส่วนกรณีที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศให้พิจารณาตามความเหมาะสม ขณะที่ระดับรองอธิบดีลงมาก็ให้เดินทางในชั้นประหยัด”(พล.ท.สรรเสริญ 3 มี.ค. 2558) 

เหนืออื่นใด แม้แต่ในรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นับตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศก็ได้ให้ความเห็นและข้อสังเกตว่าหน่วยงานราชการควรพิจารณาเรื่องการจัดสรรงบประมาณสำหรับการอบรม สัมมนา รวมไปถึงการเดินทางไปต่างประเทศให้มีความรอบคอบและคุ้มค่า ซึ่งมีสาระสำคัญตามลำดับดังต่อไปนี้

คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2558 ระบุว่า “การฝึกอบรมในหลักสูตรที่จัดให้มีการศึกษาดูงานในต่างประเทศ ควรคำนึงถึงความจำเป็น ความคุ้มค่าและความประหยัด โดยมีการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของงานที่ได้ดำเนินการแล้ว เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรและกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า”

“การเดินทางไปราชการต่างประเทศ ควรมีหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นหรือกรณีที่มีพันธะผูกพันหรือข้อตกลงหรือกรณีเป็นภารกิจหลัก โดยพิจารณาจำนวนคนและระยะเวลาการเดินทางตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยต้องเป็นบุคคลผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น”

“สำหรับการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เพื่อเดินทางไปราชการต่างประเทศ ควรดำเนินการเฉพาะกรณีที่จำเป็นข้อผูกพันหรือความจำเป็นที่เกิดขึ้นระหว่างปีงบประมาณเท่านั้น ทั้งนี้ควรนำเทคโนโลยีการประชุมทางไกลมาใช้ในการประชุมระหว่างประเทศเพื่อประหยัดงบประมาณ สำหรับหน่วยงานที่มีการตั้งงบประมาณเดินทางไปราชการต่างประเทศในภารกิจเดิมเป็นประจำทุกปี ควรพิจารณาทบทวนโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้รับอย่างแท้จริง”

เช่นเดียวกับคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2559 มีความเห็นว่า “ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม สัมมนา หลักสูตร ระยะเวลา และจำนวนคนต้องไม่มีความซ้ำซ้อนและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ตอบสนองต่อภารกิจหลักของหน่วยงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณ การเดินทางโดยเครื่องบินให้ดำเนินการเฉพาะที่จำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และควรใช้ชั้นประหยัด”

ล่าสุด คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2560 มีความเห็นว่า “ค่าใช้จ่ายการจัดฝึกอบรม สัมมนา ต้องกำหนดแผนการดำเนินงานให้ชัดเจนทั้งจำนวนคน หลักสูตร และระยะเวลา รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดของหลักสูตรต้องตอบสนองต่อภารกิจหลักของหน่วยงานเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณ”

จากนี้ไปต้องรอดูว่ารัฐบาลในฐานะผู้วางมาตรฐานจะจัดกับเรื่องนี้อย่างไร ท่ามกลางกระแสที่จับจ้องแบบตาไม่กะพริบ