posttoday

ศาลรัฐธรรมนูญดึงสว.ปลดล็อก เพิ่มโอกาสนายกฯคนนอก

30 กันยายน 2559

กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตาทันที เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ สว.เข้ามามีส่วนร่วมกับ สส. จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตาทันที เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ สว.เข้ามามีส่วนร่วมกับ สส. จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา เสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จากเดิมที่เป็นสิทธิของ สส.เท่านั้น ท่ามกลางข้อกังขาว่านี่เป็นการเปิดทางนายกฯ คนนอกหรือไม่

ประเด็นนี้ จักษ์ พันธ์ชูเพชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาต่อเนื่อง และรักษาการผู้อำนวยการสถานการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร วิเคราะห์ว่าผลวินิจฉัยที่ออกมาก็ทำให้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะมีนายกฯ คนนอก

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนที่ยกมือโหวตยังเป็นเหมือนเดิมคือ ยังให้ทั้งสองสภาเป็นผู้ยกมือโหวต เพราะฉะนั้นคะแนนที่จะได้รับการรับรองต้องได้รับการยอมรับจากทาง สว. ซึ่งมีจำนวนถึง 250 คน ซึ่งถือว่าไม่น้อย แต่ก็ไม่น่ามีปัญหา

ทั้งนี้ โอกาสที่พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ จะจับมือกันแล้วมีเสียงสนับสนุนเกินเสียงข้างมากจนเข้าไปนั่งในสภาได้ เป็นนายกฯ ได้นั้นเป็นไปได้น้อย ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงมากที่จะเข้ามาสู่ “ไม้สอง” คือกระบวนการที่ขอยกเว้นข้อบังคับ

“แต่ก็จะมีปัญหา ถ้าสมมติว่าเป็นคนภายนอกจริงๆ แล้วพรรคการเมืองไม่ได้สนับสนุนจริงๆ ก็อยู่ลำบาก แม้จะมีเสียง สส.จับมือกับ สว. แต่เป็นกลุ่ม สส.เสียงข้างน้อย เมื่อเข้าไปนั่งแค่จะผ่านเรื่องงบประมาณ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่รอดแล้ว มันเดินต่อไปไม่ได้ เมื่อได้นายกฯ คนนอกซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยจาก สส.ในสภาของ สส.เข้ามานั่ง เหมือนปล่อยลอยตัวอยู่ในสภา เพราะว่า ณ เวลานั้น สว.ไม่ได้เป็นแบ็กอัพอีกแล้ว”

ส่วนที่มีการมองเรื่องนี้ทำไปเพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบนั้น ส่วนตัวไม่ได้มองถึงเรื่องการ “ปูทาง” แต่เป็นการ “เปิดช่อง” เพราะในร่างเดิมให้อำนาจ สส.ขอยกเว้นข้อบังคับในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หาก สส.ไม่เสนอยกเว้นข้อบังคับมันก็จะเป็นทางตันนี่จึงเป็นการเปิดช่องทางนี้ไว้

“ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังมองตรงนี้มากกว่า เพราะโอกาสเป็นไปได้สูง วันนี้ซีก สส.ไม่ได้มอง สว.ที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งเป็นบวก ทำให้โอกาสตีรวนก็พอมี เพราะคนชงไม่ชงขึ้นมาก็ทำอะไรไม่ได้ ก็จะเข้าสู่วิกฤตอีกและมีปัญหาต่อไป กรณีที่แก้ปลดล็อกตรงนี้ไว้ให้มันอาจจะเป็นการเปิดช่องทางให้คนอื่นเข้ามา” จักษ์ กล่าว

ขณะที่ พัฒนะ เรือนใจดี นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ความเห็นว่า การมีนายกฯ คนนอกมีโอกาสอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 272 โดยระบุว่า ถ้าไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อพรรคละ 3 คน ก็เปิดช่องให้มีการขอยกเว้นเงื่อนไขได้ 

ทั้งนี้ ประเด็นที่มีปัญหาตามกฎหมายคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เขียนไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ลงประชามติเกี่ยวกับคำถามพ่วง จึงเป็นสาเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญตีกลับให้ทำใหม่จนเสร็จภายใน 15 วัน

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างอยู่ตรงที่ว่าประชาชนให้ สว.มีส่วนในการเลือก หรือโหวตนายกฯ ได้ แต่ไม่ได้รวมถึงการเสนอชื่อนายกฯ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นต้นร่างที่ทาง กรธ.ส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งมีประเด็นตรงนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญมองว่าส่งไปร่วมเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ ด้วยหรือเปล่า ศาลถึงได้ตีกลับ

พัฒนะ อธิบายต่อว่า ประเด็นต่อมาไม่ติดใจในเรื่องเกี่ยวกับคำว่า 5 ปี เริ่มนับเมื่อไหร่ 5 ปี ที่เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายเริ่มนับเมื่อมีรัฐสภาชุดใหม่ ซึ่งได้มีการปฏิญาณตนต่อสภาแล้ว

ประเด็นถัดมา สส. หรือรัฐสภากันแน่ เป็นคนเสนอขอยกเว้นขอปลดล็อกเงื่อนไขต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ คล้ายๆ เป็นการแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ ว่าบัดนี้ตกลงกันไม่ได้แล้ว ตรงนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญติงมาว่าไม่ใช่ให้ สส.กึ่งหนึ่งส่งมาแต่ต้องให้รัฐสภากึ่งหนึ่ง เป็นการดึงเอาวุฒิสภามีส่วนในการแจ้งเรื่องดังกล่าวให้รัฐสภาทราบ ซึ่งข้อบกพร่องเหล่านี้ที่ศาลมองว่าเขียนไม่ตรงกับเจตนารมณ์ในคำถามพ่วง จึงตีกลับไปปรับแต่งให้สมบูรณ์

ส่วนที่มองเป็นการเปิดทางให้ พล.อ. ประยุทธ์ มานั่งนายกฯ คนนอก ก็มีความเป็นไปได้หมด ถ้าเกิดยืนยันเฉพาะ สส.เท่านั้นที่เสนอชื่อได้ ถึงแม้ไม่มี สว.เสนอ เนื่องจากคนนอกไม่ได้ถูกตัดออกไปจากรัฐธรรมนูญ เพราะคนนอกมีมาตั้งแต่แรก รายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหลายเสนอคนเป็นนายกฯ ไม่จำเพาะต้องเป็น สส.

“พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องมารอให้ สว.เลือก สส.ทั้งหลายอาจเลือกมาอยู่ในบัญชีรายชื่อ 3 คน ตั้งแต่แรกก็ได้ ฉะนั้นผมคิดว่าท่านไม่ได้มารอบสอง รอบแรกก็มาได้ถ้าพรรคการเมืองเสนอชื่อท่านอยู่ 1 ใน 3”

ด้าน คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า เป็นกฎเกณฑ์โดยทั่วไป เมื่อการเลือกนายกฯ ครั้งแรกไม่สำเร็จ ซึ่งครั้งแรกต้องโหวตด้วยเสียงจากสองสภา โดยเสียงต้องไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง ถ้าเลือกครั้งแรกสำเร็จไม่ต้องพิจารณาต่อไป ดังนั้นคนเป็นนายกฯ ก็มาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอในวันเลือกตั้งเท่านั้น

“ฉะนั้นขึ้นอยู่กับนักการเมืองเองในการช็อตแรกสามารถรวบเสียงเกิน 375 จาก 750 เสียง ก็ไม่ต้องห่วงมีนายกฯ คนนอก หรือขั้นตอนแรกไม่สำเร็จ การปลดล็อกก็ต้องใช้ สส.ร่วมด้วย โดยใช้มติ 2 ใน 3 ของสองสภาเช่นเดิมก็คือ 500 จาก 750 เสียง”

คำนูณ อธิบายต่อว่า ต่อให้ สว.ทั้งสภาโหวตสนับสนุนให้มีการยกเว้นเสนอชื่อ โดยไม่เอาจากบัญชีพรรคการเมืองก็แค่ 250 เสียง ต้องมีนักการเมือง หรือ สส.ไปร่วมโหวตด้วย จึงจะเลือกนายกฯ นอกบัญชีได้ ซึ่งเป็นขั้นที่สอง ดังนั้น ถ้า สส.ไม่ต้องการนายกฯ จากนอกบัญชีพรรคก็ต้องผนึกกำลังให้ได้ตั้งแต่ช็อตแรก 375 เสียง และถ้าไม่ได้ก็ผนึกให้เกิน 250 เสียง ยังไงไม่สามารถเลือกคนนอกได้

ช็อตที่สาม ผ่านแล้วเลือกนายกฯ คนนอกได้ ยังไงต้องการเสียงสองสภาเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง ลำพัง สว. 250 เสียง ทำอะไรไม่ได้มันต้องมี สส.อีก 126 คนไปร่วม ดังนั้นทุกขั้นตอน สส.มีส่วนร่วมด้วยทั้งสิ้น และในความเป็นจริงทางการเมืองเป็นไปไม่ได้ที่นายกฯ หรือรัฐบาล ไม่มีเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นต้องคิดอีกมุมหนึ่งว่าที่สุดเป็นวิจารณญาณของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าช่วง 5 ปีแรกต้องการให้บ้านเมืองเป็นอย่างไร