posttoday

เปิดข้อหา40สส.เพื่อไทย นิรโทษกรรมเอื้อประโยชน์

22 กันยายน 2559

เวลานี้พรรคเพื่อไทยกำลังมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญคือ การเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เวลานี้พรรคเพื่อไทยกำลังมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญคือ การเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยุติการไต่สวนคดีการเสนอชื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... เมื่อปี 2556

ทั้งนี้ กลุ่มอดีต สส.พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจในการไต่สวนกรณีนี้ เพราะการเสนอร่าง พ.ร.บ.เป็นเรื่องภายในของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ล่าสุด พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนเรื่องนี้ตามกฎหมายครบถ้วน

“สิ่งที่ ป.ป.ช.ดำเนินการเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายอยู่ในเขตอำนาจที่ ป.ป.ช.ดำเนินการได้ ไม่ใช่การเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงอำนาจหน้าที่การเสนอกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร” ประธาน ป.ป.ช.ยืนยัน

คดีดังกล่าวเริ่มมาจากการยื่นเรื่องของ “บวร ยสินทร” ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน เพื่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนอดีต สส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 40 คน ที่เสนอชื่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

ต่อมา ป.ป.ช.ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

พฤติการณ์ในการกระทำความผิด : เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2556 ผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกันเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อให้สภาพิจารณาโดนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวปรากฏในมาตรา 3 ที่ว่า

“ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุมการประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวในห้วงระยะเวลาดังกล่าว”

อีกทั้งในมาตรา 4 ยังปรากฏความว่า “เมื่อ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรืออัยการระงับการสอบสวน หรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง หรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น”

เนื้อตามที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 3 และมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าวเป็นการตรากฎหมายโดยมีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลผู้ทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพ้นจากความผิด ซึ่งผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา ย่อมอยู่นอกเหนือเหตุผลความขัดแย้งและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งศาลสามารถพิจารณาวินิจฉัยเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอยู่แล้ว

แต่การที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเหมารวมผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนาให้พ้นผิด ย่อมเป็นการตรากฎหมายที่เอื้อประโยชน์กับผู้ทุจริตโดยเจตนาด้วย จึงเป็นการสมคบกันของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อผ่านกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการยุติธรรม การใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกลุ่มบุคคลที่จะได้ผลประโยชน์จากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจรัฐและผู้ถูกกล่าวหากับพวกที่เสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

ฐานความผิด : กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 40 คน ประกอบด้วย 1.วรชัย เหมะ 2.บุญแก้ว สมวงศ์ 3.ถาวร ตรีรัตน์ณรงค์ 4.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ 5.สมศักดิ์ ใจแคล้ว 6.บุญชู นิลถนอม 7.มนตรี ตั้งเจริญถาวร 8.เอมอร สินธุไพร 9.สมคิด เชื้อคง 10.สัมภาษณ์ อัตถาวงศ์

11.พหล วรปัญญา 12.พัชรินทร์ มั่นปาน 13.สมหญิง บัวบุตร 14.เกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ 15.มาลินี อินฉัตร 16.ชมภู จันทาทอง 17.เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข 18.อนุรักษ์ บุญศล 19.สุณีย์ เหลืองวิจิตร 20.พายัพ ปั้นเกตุ

21.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ 22.สุนัย จุลพงศธร 23.สงวน พงษ์มณี 24.เทียบจุฑา ขาวขำ 25.ประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย 26.สมโภช สายเทพ 27.ปวีณ แซ่จึง 28.อนุสรณ์ ปั้นทอง 29.ชูศักดิ์ แอกทอง 30.ไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์

31.รส มะลิผล 32.อภิชาติ ตีรสวัสดิชัย 33.ประสาท ตันประเสริฐ 34.ชินวัฒน์ หาบุญพาด 35.ก่อแก้ว พิกุลทอง 36.พิสิษฐ์ สันตพันธุ์ 37.ธวัชชัย สุทธิบงกช 38.นิยม เวชกามา 39.ระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง และ 40.โกศล ปัทมะ

ตามขั้นตอน หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นความผิด จะต้องรายงานพร้อมความเห็นไปให้กับอัยการสูงสุด เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นประเด็นที่อดีต สส.พรรคเพื่อไทยวิตกค่อนข้างมาก เพราะนั่นหมายถึงอนาคตในการกลับสู่เส้นทางการเมืองก็จะดับลง