posttoday

การเมืองแผ่ว นับถอยหลังรอ เลือกตั้ง'60

09 กันยายน 2559

เส้นทางสู่การเลือกตั้งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผ่านประชามติ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางสู่การเลือกตั้งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผ่านประชามติ ต่อเนื่องด้วยการเร่งจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่วางไว้เบื้องต้นประมาณเดือน ธ.ค. 2560

บรรยากาศทางการเมืองในเวลานี้จึงดูสงบ ไร้คลื่นลม มรสุม เมื่อทุกฝ่ายต่างเฝ้ารอการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพื่อเริ่มต้นกันใหม่ภายใต้กรอบกติกาตามระบบปกติ

เวลานี้ฝ่ายการเมืองเองต่างรู้ดีว่าการออกมาเคลื่อนไหว หรือการไปคัดง้างกับทางรัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงนี้ย่อมไม่เป็นผลดี

ประการแรก ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือของ คสช. ที่แสดงศักยภาพให้เห็นหลายครั้งหลายคราผ่านคำสั่งต่างๆ ตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งการพักงาน ปลด โยกย้าย ฯลฯ การไปสร้างประเด็นให้เกิดปัญหาและผลกระทบที่จะถูกเล่นงานได้ย่อมมีแต่เสียแต่เสีย

ด้วยคำสั่งและประกาศ คสช. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ​ได้สกัดทุกการเคลื่อนไหวของฝั่งการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพรรคการเมืองที่ไม่อาจจัดประชุมหรือจัดกิจกรรมได้ เรื่อยไปจนถึงกลุ่มการเมืองที่แม้แต่จะออกมาเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมายังถูกควบคุมตัวหลายหน ​จากเหตุผลเรื่องของความมั่นคง

ไม่เว้นแม้แต่บรรดาแกนนำพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ที่ถูกคุมตัวไปปรับทัศนคติหลายรอบเพียงเพราะออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือ คสช.

กฎระเบียบเหล่านี้จึงสะกดให้พรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆ ไม่อยากเสี่ยงออกมาทำอะไรที่จะถูกเล่นงานได้ เมื่อหลายคนล้วนมีแผลที่กลัวว่าจะถูกหยิบยกมาไล่เช็กบิลเมื่อไหร่ก็ได้

ยิ่งวันนี้คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.​ ขยับกลับมาสูงขึ้นจากช่วงหลังๆ ​ด้วยผลงานที่เด็ดขาดและโดนใจชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ทั้งการใช้มาตรา 44 พักงานบรรดาข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นหลายรายที่เข้าไปพัวพันกรณีทุจริต

อีกทั้งเกิดกระแสไม่เอานักการเมืองและการเมืองระบบเก่า ที่ถูกตีตราว่าเป็นจำเลยของสังคมนำพาให้ติดหล่มจนไม่อาจก้าวพ้นวงจรปัญหาที่เป็นมาร่วมสิบปี

​ตอกย้ำด้วยผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชน 16.8 ล้านคน หรือ 61.3% ออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ออกมาประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ยังไม่รวมกับประเด็นเรื่องคำถามพ่วงที่ว่ากันว่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกเปิดทางสืบทอดอำนาจในอนาคต ที่ประชาชน 15.1 ล้านคน หรือ 58.07% ให้ความเห็นชอบ

นี่จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้นักการเมืองอาจต้องมาพิจารณาตัวเอง​ แถมเป็นอีกเหตุผลที่ต้องเริ่มสงบเสงี่ยมเจียมตัวไม่ออกมาเคลื่อนไหวสร้างความขัดแย้ง ที่มีแต่จะฉุดคะแนนนิยมให้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

เมื่ออีกด้านหนึ่งกระบวนการจัดทำกฎหมายลูกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง พรรคการเมือง กำลังถูกจับตาว่าจะมีการเซตซีโร่ หรือคุมเข้มบรรดานักการเมืองมากขนาดไหน

ยังไม่รวมกับพรรคทางเลือกของไพบูลย์​ นิติตะวัน ที่ประกาศตัวเตรียมตั้งพรรคใหม่ ดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ที่จะทำให้สนามเลือกตั้งครั้งหน้า​เป็นการพิสูจน์ความนิยมในตัวนักการเมืองรอบสำคัญ​ ​

​สอดรับไปกับอดีตนักการเมืองหลายคนเริ่มเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีที่ทำเอาหลายคนต้องถูกกันพ้นสนามการเมืองรอบใหม่ และมีอีกหลายคนที่จ่อจะถูกฟัน ทำให้หลายคนพยายามเก็บเนื้อเก็บตัวไม่สร้างปัญหา

บรรดานักการเมืองจึงอยู่ในสภาพบอบช้ำ ไร้แรงต้านทาน สิ่งที่ทำได้จึงการประคองตัวไปให้ถึงการเลือกตั้ง เพราะหากยิ่งดิ้นก็มีแต่จะยิ่งสร้างปัญหา

จากที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและ คสช. ​ตลอดจนเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าระยะหลังบทบาทเหล่านี้เริ่มลดน้อยถอยลงไป

​เพื่อไทยเองก็เริ่มหันไปทำพื้นที่มากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง มากกว่าการออกมาเปิดศึกกับทาง คสช. เมื่อไม่มีปมร้อนให้มาขยายแผล การไปแข่งขันในสนามเลือกตั้งน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ไม่ต่างจากฝั่งประชาธิปัตย์ ที่เสียศูนย์จากจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ​จนขยายรอยร้าวในพรรคระหว่างฝั่งประชาธิปัตย์​และ กปปส. ให้ห่างไกลกันออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ​

ด้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ที่ไม่อาจจัดกิจกรรมในนามพรรคได้ ก็หันไปทำกิจกรรมในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ​เดินสายลงพื้นที่แจกถุงยังชีพกับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ​

สัญญาณต่างๆ ล้วนชี้ให้เห็นการเฝ้ารอการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจะได้กลับสู่ถนนการเมืองตามระบบปกติอีกครั้ง