posttoday

ยุติ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ เมล็ดพันธุ์‘พธม.’ยังคงอยู่

09 กันยายน 2559

กลายเป็นเรื่องให้ต้องจับตาต่อจากนี้ภายหลังศาลฎีกาตัดสินให้ “สนธิ ลิ้มทองกุล”จำคุกเป็นเวลา 20 ปี แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในนามกลุ่มพันธมิตรฯ จะยังคงมีต่อไปหรือไม่

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

กลายเป็นเรื่องให้ต้องจับตาต่อจากนี้ภายหลังศาลฎีกาตัดสินให้ “สนธิ ลิ้มทองกุล” อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำคุกเป็นเวลา 20 ปี จากกรณีทำเอกสารเท็จค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทยรวมกว่า 1,000 ล้านบาทก่อนส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในนามกลุ่มพันธมิตรฯ จะยังคงมีต่อไปหรือไม่ หรือจะหมดพลังลงไป หลังเคลื่อนไหวทางการเมืองมายาวนานตลอดเกือบ 10 ปี เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เพราะเมื่อแกนนำคนสำคัญถูกคำพิพากษา

สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อธิบายว่า ต้องทำความเข้าใจก่อน แกนนำพันธมิตรฯ โดย 5 แกนนำได้ประกาศยุติบทบาทอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ทว่า การเคลื่อนไหวที่เห็นเป็นกระแสอยู่บ้าง เป็นเฉพาะแค่บางประเด็นบางกลุ่ม เป็นมวลชนที่สนและติดตามเคลื่อนไหวต่อเนื่องมากอยู่แล้ว ฉะนั้น ไม่ว่าเมื่อแกนนำจะอยู่หรือจะหยุดหรือพัก มวลชนเหล่านี้จะเคลื่อนไหวต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเป็นทางการของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยุติไปหลังจากแกนนำประกาศ

อย่างไรก็ดี ในแง่อุดมการณ์การต่อสู้หรือสามัญสำนึกทางการเมืองได้ถูกจุดขึ้นจากการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ปี 2548 ทำให้คนเหล่านี้มีความตื่นตัวทางการเมือง เป็นมวลชนที่เอาการเอางาน ถามว่าแล้วจะพัฒนาต่อไปหรือไม่อย่างไร มันคาดการณ์ยาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสถานการณ์การเมืองข้างหน้าด้วย ทั้งนี้ จะกลับมารวมกันอีกได้หรือไม่หรือในเงื่อนไขอะไร เป็นเรื่องต้องทำความเข้าใจ

สุริยะใส ยกตัวอย่าง กรณีพันธมิตรฯ เมื่อยุติบทบาทลงไปแล้ว ไม่คิดว่าจะเกิดคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. และไม่คิดว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ จะมาเป็นแกนนำ สถานการณ์อาจสร้างอะไรหลายๆ อย่างที่นอกเหนือจากการคาดการณ์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มกัน

สุริยะใส ขยายความต่อว่า ขบวนการเคลื่อนไหวหลักๆ มันมีลักษณะกระจัดกระจาย ใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อหลัก มากกว่าใช้การชุมนุมเหมือนแบบเดิม การชุมนุมจะใช้อีกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เว้นแต่สถานการณ์เป็นเงื่อนไขให้เกิดเหมือนเช่น กปปส.

กรณีของสนธิแน่นอนมีพลังในการเปิดโปง เพราะได้รับการยอมรับสูงในเรื่องทำการบ้าน มีข้อมูลที่ดี และมีพลังในการเปิดโปง โดยเฉพาะระบอบทักษิณ ทำให้มีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมมหาศาล รวมทั้งเปิดโปงระบบการเมือง โครงสร้างทางสังคมไม่ชอบมาพากล

“คุณสนธิเป็นคนทำหน้าที่เป็นคนเปิดโปง ให้ข้อมูล ในฐานะสื่อมวลชน เมื่อขาดคุณสนธิไป ผมว่าก็อาจลดหายไปบ้าง ถามว่ากระทบกับพันธมิตรฯ ไหม ในแง่มวลชนคนที่ผูกพันกับคุณสนธิซึ่งเป็นแกนหลักพันธมิตรฯ เมื่อก่อนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันจนยุติบทบาท ยังรักใคร่ใกล้ชิดคุณสนธิแน่นอนย่อมใจหายเป็นธรรมดา แต่ถามว่าถึงขั้นท้อถอยหมดกำลังใจ ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่าพลังเคยต่อสู้ทางการเมืองตลอด 10 ปีอย่างเอาการเอางาน จะไม่ยอมแพ้หรือถดถอยง่ายๆ และพร้อมก้าวข้ามสถานการณ์แบบนี้ไปได้”

อย่างไรก็ตาม แม้แกนนำจะยุติบทบาท แต่มวลชนกลุ่มนี้ยังคงเฝ้าดูสถานการณ์ วันหนึ่งอาจจะมีแกนนำรุ่นใหม่กลุ่มอื่นมาก็ได้ ถ้าประชาชนหรือมวลชนรับได้ และส่วนตัวคิดว่าในฐานะทำงานมวลชน แกนนำไม่ได้มวลชนเป็นของใครคนไหน แต่มวลชนมีเสรีที่จะเลือก อาจจะใจหายบ้าง ระยะยาวเชื่อว่ามวลชนต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่หรือมีประสบการณ์ร่วมต่อสู้มา จะเป็นพลังสำคัญในการปฏิรูปประเทศ สร้างบ้านแปลงเมืองในระยะยาวได้

ขณะที่ ประพันธ์ คูณมี อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รุ่น 2 ระบุว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ การต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนซึ่งถูกหว่านไปทั่วประเทศ โดยมวลชนเหล่านี้มีความตื่นตัวเข้าใจการเมือง ปัญหาประเทศเป็นอย่างดี มีจิตสำนึก ในการเข้าร่วมในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง เพราะความพื้นฐานความรู้ทางการศึกษาเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ แน่นอนบทบาทพันธมิตรฯ ที่ผ่านมา โดยสนธิ เป็น 1 ใน 5 ของแกนหลักในการจุดเทียนประกายไฟให้คนลุกขึ้นมาสู้ ถือเป็นคนที่มีบทบาทมากที่สุดในการทำให้การเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง และก็ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ เติบโตเข้มแข็งขึ้นมา

แต่เมื่อพันธมิตรฯ ต่อสู้ไปได้ระดับหนึ่งช่วงของการโค่นล้มขับไล่ระบอบทักษิณ เห็นว่าภาระหน้าที่ดูแลบ้านเมืองหรือการเมืองในภาคประชาชน มันไม่ควรถูกผูกขาดหรืออยู่ในบ่าของแกนนำ 5 คนเพียงอย่างเดียว จึงประกาศสลายตัวในวันที่ 23 ส.ค. 2556 เพื่อเปิดให้กลุ่มมวลชนต่างๆ มีอิสระในการเข้าร่วมต่อสู้การเมืองภาคประชาชน ทำให้เกิดการนำใหม่ๆ ขึ้นมา

จนกระทั่งเกิดเป็น กปปส. นำโดยสุเทพ แต่มวลชนที่เข้าร่วมในการต่อสู้ทั้งพันธมิตรฯ หรือ กปปส. แทบเป็นกลุ่มเดียวกัน อาจมีมวลชนใหม่ๆ เข้ามาบ้าง แต่สะท้อนให้เห็นว่าแม้ไม่มีสนธิ มวลชนก็พร้อมต้อสู้ เคลื่อนไหว ถ้ามันมีประเด็นปัญหาบ้านเมืองไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม หรือผู้ปกครองประเทศใช้อำนาจโดยไม่ชอบสร้างความเสียหายให้ประเทศ

“ในวันนี้ถึงแม้ว่าคุณสนธิถูกคำพิพากษาของศาลให้จำคุก ซึ่งมันเป็นเรื่องเก่า ไม่เกี่ยวกับขบวนการต่อสู้ ก็คงมีผลต่อจิตใจประชาชนบ้าง แต่ไม่ถึงจะหยุดขบวนการประชาชนได้ ซึ่งขบวนการประชาชนจะเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยสำคัญ คือ การบริหารและการใช้อำนาจการปกครองของผู้บริหารบ้านเมืองเป็นสำคัญ

เมื่อผู้บริหารปกครองประเทศดำเนินการไม่ชอบ จะเกิดกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา เมล็ดพันธุ์พันธมิตรฯ ที่ปลูกหว่านไปทั่ว พร้อมรวมตัวเมื่อไหร่ก็ได้ เข้าร่วมสนับสนุนใครก็ได้ที่คิดและเชื่อมั่นว่าผู้นำมีความเสียสละเพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน”

ประเด็นการเมืองภาคประชาชนมันจะห่อเหี่ยว จะฝ่อ หรือล่มสลายไปไหม รัฐบาลหรือใครก็ตามอย่าไปประเมินเช่นนั้น เพราะประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนมันบอกอยู่แล้ว ซึ่งผู้นำเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของบ้านเมือง ไม่มีใครเป็นผู้นำภาคประชาชนตลอดไป

แต่เหตุสำคัญถ้าปัจจัยไม่มี ภาคการเมืองประชาชนก็กระจายตัวไป แต่ก็ยังดูแลติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่าประชาชนหลับหูหลับตา ถ้าการปฏิรูปประเทศ การแก้ปัญหาด้านพลังงาน หรือการบริหารประเทศส่อไปในทางไม่สุจริต ก็อาจจะรวมตัวเมื่อไหร่ก็ได้ รัฐบาลไม่ควรดูแคลนพลังประชาชน การไม่มีผู้นำหรือผู้นำบางคนหมดบทบาทไป ไม่ได้หมายความว่าพลังของมวลชนจะหมดไปด้วย ดังนั้น แนวโน้มทิศทางการเมืองภาคประชาชนก็ยังควบคู่การเมืองกระแสหลักอยู่เสมอ