posttoday

ปิดฉาก "สนธิ ลิ้มทองกุล" สลายพลังกลุ่มพันธมิตรฯ

07 กันยายน 2559

สิ้นเสียงคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. อาจเรียกได้ว่า เป็นการปิดตำนานของชายที่ชื่อว่า “สนธิ ลิ้มทองกุล” ก็คงไม่ผิดนัก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สิ้นเสียงคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. อาจเรียกได้ว่า เป็นการปิดตำนานของชายที่ชื่อว่า “สนธิ ลิ้มทองกุล” ก็คงไม่ผิดนัก

ศาลพิพากษาให้สนธิจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ฐานกระทำผิด พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จากกรณีที่บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป ทำสำเนา รายงานการประชุมของกรรมการบริษัท ที่เป็นเท็จว่า มีมติให้ บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป

“ทั้งรักและชังทักษิณ”

ในการรับรู้ของสังคม ย่อมรู้จักสนธิในฐานะที่เป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่อีกบทบาทหนึ่งยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการสื่อสารมวลชนด้วย   

กล่าวคือ เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ มีสื่อในมือครบวงจรทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ แต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ธุรกิจในกลุ่มของผู้จัดการประสบปัญหาอย่างรุนแรง จนสนธิต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย

อย่างที่ทราบกันดีว่า แม้ในปัจจุบันสนธิและทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะบาดหมางกันอย่างไร แต่ในครั้งหนึ่งทั้งสองคนต่างมีความสัมพันธ์อันดีกันมาก่อน ซึ่งสะท้อนได้จากการจัดรายการของสื่อในเครือผู้จัดการที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นำโดยทักษิณในเวลานั้น

ทว่าจากคนเคยรักกันกลับต้องมาชิงชังกันอย่างไม่น่าเชื่อ

สนธิ เคยให้สัมภาษณ์กับจุลสาร “ราชดำเนิน” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึงการออกมาต่อต้านทักษิณว่า “ช่วงแรกของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เราให้โอกาสไทยรักไทย เพราะสิ่งที่เขาพูดตลอดเวลาว่าจะแก้ปัญหาประเทศชาติเช่นการลงไปแก้ปัญหาระดับรากหญ้า แต่พอช่วงปี 2544-2545 ลายเริ่มออกปี 2547 มันเริ่มชัด”

ปิดฉาก "สนธิ ลิ้มทองกุล" สลายพลังกลุ่มพันธมิตรฯ

“ก่อตั้งพันธมิตรฯ”

จากนั้นฟางเส้นสุดท้ายที่เชื่อมสนธิกับทักษิณก็ขาดสะบั้นลงเมื่อปี 2548 ภายหลังสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท ประกาศปลดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ออกจากผังรายการของสถานี เวลานั้น

อย่างไรก็ตาม สนธิยังคงเดินหน้าจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นรูปแบบของการสัญจรไปในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทักษิณในหลายแง่มุม

ตรงนี้อาจเรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการขับไล่รัฐบาลทักษิณ จนนำมาสู่การนัดชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “กู้ชาติ” ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2549 พร้อมกับยื่นเรื่องผ่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และยื่นหนังสือเรียกร้องให้ทหารแสดงจุดยืนต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น ซึ่งเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ของประเทศไทยในรอบหลายปี ตั้งแต่สิ้นสุดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535

จากการชุมนุมกู้ชาติที่นำโดยสนธิเพียงคนเดียว ต่อมาได้เกิดการรวมตัวกับกลุ่มภาคประชาชนและร่วมกันจัดตั้ง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เพื่อชุมนุมกดดันให้ทักษิณออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทักษิณตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่

“สร้างปรากฏการณ์ใหม่ม็อบ”

ถึงจะมีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรฯ แต่สนธิยังคงเป็นศูนย์กลางคนสำคัญ อีกทั้งยังสร้างปรากฏการณ์การถ่ายทอดสดการชุมนุมผ่านทางโทรทัศน์ดาวเทียมและสื่อทุกประเภทในเครือของผู้จัดการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

การต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงแรกสิ้นสุดลง ภายหลัง พล.อ.สนธิ นำกำลังทหารทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 ก.ย. 2549 แต่เมื่อพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในปี 2551 สนธิและแกนนำพันธมิตรฯ ก็ได้กลับมาชุมนุมอีกครั้ง โดยมีการสร้างปรากฏการณ์ในหลายแง่มุมเกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น การยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุม การปิดท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ เพื่อกดดันรัฐบาล ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ยาวนานที่ยังไม่เคยมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใดทำได้มาก่อน

การต่อสู้ของพันธมิตรฯ และสนธิ จบลงด้วยการที่พ้น “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เป็นอันปิดตำนานม็อบเสื้อเหลืองอย่างเป็นทางการ

ส่วนแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้รวมจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคการเมืองใหม่” และให้สนธิเป็นหัวหน้าพรรคในช่วงแรกก่อนที่จะลาออกในเวลาต่อมา เพื่อขอทำงานการเมืองภาคประชาชนอย่างเดียว

“ชีวิตเฉียดตาย”

ถ้าจะบอกว่าจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของสนธิ คือ การเปลี่ยนตัวเองจากผู้ทำหน้าที่สื่อมาเป็นผู้นำม็อบดังนั้น การเกือบเอาชีวิตไม่รอดหลังจากถูกลอบสังหารเมื่อเดือน ต.ค. 2552 ก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของสนธิเช่นกัน โดยได้รับบาดเจ็บตามร่างกายและใช้เวลารักษาตัวอยู่นานกว่าจะเป็นปกติ

แต่กระนั้น ชีวิตในวัย 69 ปีของสนธิ จะผ่านจุดเปลี่ยนชีวิตมากี่ครั้ง ก็คงไม่มีครั้งไหนจะใหญ่เท่ากับครั้งนี้ที่ต้องมุ่งหน้าเข้าสู่เรือนจำคำพิพากษาของศาล ซึ่งด้านหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่ตัวเองพอจะรับรู้ได้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะต้องมาเผชิญกับสถานการณ์นี้ หลังจากแพ้คดีมาถึงสองศาล

เส้นทางแสนผาดโผนของสนธิที่สิ้นสุดลง ทำให้ต้องรอดูว่า นับจากนี้ไปกลุ่มพันธมิตรฯ จะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อต้องขาดหัวขบวนสำคัญคนนี้