posttoday

"ประยุทธ์" กระชับอำนาจ ปูทางเก้าอี้นายกฯ

01 กันยายน 2559

คะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่านี่ยิ่งทำให้เส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งเป็นไปได้ง่ายขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขยับกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกรอบในช่วงที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขยักสุดท้ายเรื่องประเด็นคำถามพ่วง ประเด็นเรื่องให้ สว. 250 คน เข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี

ท่ามกลางการจับจ้องว่าเส้นทางที่กำลังเดินไปนั้น เหมือนเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวเข้าสู่อำนาจหลังการเลือกตั้ง ตามกลไกที่เขียนรองรับไว้ตามรัฐธรรมนูญและประชาชนส่วนใหญ่ลงมติให้ความเห็นชอบ

ถึงขั้นทำให้พรรคการเมืองเริ่มออกมาตีกันเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่จะสง่างามกว่ารอเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เองยังแบ่งรับแบ่งสู้ไม่ออกมาแสดงความคิดความเห็นในเรื่องนี้

แต่ที่ชัดเจน คือ คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยแผ่วลงไปในอดีตนั้นเวลานี้กลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุด “ซูเปอร์โพล” หรือผลสำรวจจากชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่​ 87.2% ระบุว่า เห็นด้วย ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต เอาจริงเอาจัง คุมสถานการณ์บ้านเมืองได้อยู่ จัดการเด็ดขาดกับข้าราชการนอกลู่นอกทางได้ ใช้มาตรา 44 ได้เกิดผลดี ขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดี มีความเป็นผู้นำมากกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในตอนนี้ เป็นต้น มีเพียง ​12.8% ที่ไม่เห็นด้วย

สอดรับกับ “สวนดุสิตโพล” ระบุว่า ประชาชน 72.15% เชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ​ด้วยเหตุผล 2 ปี นายกฯ มีผลงานให้เห็นหลายเรื่อง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีและรวดเร็ว ฯลฯ เป็นคนดี ตั้งใจทำงาน เด็ดขาด เอาจริงเอาจัง มีความเป็นผู้นำ ไม่เป็นนักการเมือง ฯลฯ

อีกทั้งหากจะมองไปถึงผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่ออกมาแบบผ่านฉลุย 16.8 ล้านเสียง หรือ 61.35% และในส่วนของคำถามพ่วง 15 ล้านเสียง หรือ 58​% อาจมองได้ถึงการยอมรับเห็นพ้องไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ และการดำเนินการของ คสช.ในช่วงที่ผ่านมา อีกส่วนยังสะท้อนการไม่เอานักการเมืองหรือพรรคการเมืองแบบเดิมๆ

หากย้อนดูท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการ “กระชับอำนาจ” ใช้ต้นทุนของตัวเองผ่านกลไกในมือขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ที่หลายเรื่องได้ใจประชาชน จนทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมา

ไม่ว่าจะเป็น “โผทหาร” รอบล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเคาะสุดท้ายเลือก ​บิ๊กเจี๊ยบ-​พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผช.ผบ.ทบ. ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แทน พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ที่เกษียณอายุในปีนี้

จากเดิมที่ชื่อ ​บิ๊กแกละ-พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสธ.ทบ.มาแรง ในฐานะน้องรัก บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ก่อนจะมาถูกเบียดในช่วงโค้งสุดท้าย

สะท้อนให้เห็นการกลับเข้ามาควบคุมดูแลการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการด้วยตัวเอง หลังจากก่อนหน้านี้เหมือนจะปล่อยให้เป็นดุลพินิจของ พล.อ.ประวิตร จนถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงเหนือนายกรัฐมนตรี

ถัดมาที่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ในการดำเนินการปลดล็อก หรือผ่าทางตันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะล่าสุดการสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.ชั่วคราว โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน รวมทั้ง นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

ทั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งตรวจสอบหรือสอบข้อเท็จจริง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และ​ นพ.เปรมศักดิ์ อยู่แล้ว ยังคงดำเนินการต่อไป

ประเด็นนี้ถือได้ว่าโดนใจประชาชนไม่น้อย เพราะตามกลไกปกติย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปพักงานบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องทุจริต แม้บางเรื่องจะถึงขั้นมีการชี้มูล​ แต่การจะหวังรอสปิริตพักงานตัวเองย่อมเป็นไปได้ยาก​ ยิ่งในตำแหน่งสำคัญอย่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีหน้าที่และบทบาทสำคัญ

ยิ่งเวลานี้ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ถูกเชื่อมโยงว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงื่อนงำความไม่โปร่งใสหลายโครงการของ กทม.ด้วยแล้ว การพักงานในช่วงเวลานี้จึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม

ยังไม่รวมกับท่าทีการบริหารงานที่ดูไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม​ที่ขาดการทำงานเชิงรุก หรือแสดงออกถึงความตั้งใจหาทางระวังป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น การมีคำสั่งพักงานในช่วงนี้จึงได้คะแนนจากคนกรุงไปได้ไม่น้อย ​

คะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่านี่ยิ่งทำให้เส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งเป็นไปได้ง่ายขึ้น