posttoday

ครม.ผลงานแผ่ว ประยุทธ์แบกลำบาก

23 สิงหาคม 2559

ครบรอบ 2 ปี การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ท่ามกลางบรรยากาศที่หลายฝ่ายเริ่มนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2560

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ครบรอบ 2  ปี การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่หลายฝ่ายเริ่มนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2560 ตามโรดแมประยะสุดท้ายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ​

เส้นทางนับจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งอีกประมาณ 15 เดือน ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่เต็มไปด้วยด่านหินที่ต้องก้าวข้ามให้พ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะตราบเท่าที่รัฐบาลยังไม่อาจเร่งสร้างผลงานให้เข้าตาประชาชน

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประชาชนจำนวนไม่น้อยชื่นชอบเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยบุคลิกภาพดุดันแข็งขัน ที่มาพร้อมกับอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่เป็นตัวช่วยฝ่าทางตัน ลดขั้นตอนและอุปสรรคปัญหาต่างๆ ทำให้แก้ปัญหาได้รวดเร็วจนถูกใจหลายคน

แต่อีกด้านกลับมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารงานของรัฐบาลในหลายส่วนที่เป็นปัญหา​ล่าช้าไม่มีผลงานที่จับต้องได้แบบเป็นรูปธรรม ​ซึ่งส่งผลค่อยๆ กัดกร่อนความนิยมของรัฐบาลโดยรวม

ล่าสุดผลสำรวจความคิดเห็นของ “นิด้าโพล” เรื่อง “2 ปี ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา” เกี่ยวกับความพึงพอใจของนายกรัฐมนตรีล่าสุด พบว่า ประชาชน ​42.4% เห็นว่าทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ดีมาก ส่วน45.2% เห็นว่าค่อนข้างดี​ มีเพียง 6.32% ที่เห็นว่าทำงานไม่ค่อยดี และ 3.52% เห็นว่าทำงานไม่ดีเลย

หากดูรายละเอียดจะพบว่า ประชาชน 85.84% เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีอุดมการณ์ความตั้งใจทำงานเพื่อชาติ 85.84% มีความกล้าตัดสินใจในประเด็นทางการเมืองและการบริหารที่สำคัญ  ขณะที่ 62.80% ระบุว่ามีบุคลิกภาพผู้นำแบบทหาร และอีก 79.6% ระบุว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานแก้ปัญหาของประเทศ รวมทั้ง 72.8% ระบุว่ามีความโปร่งใสตรวจสอบได้

ทว่าในส่วนของรัฐมนตรีหลายกระทรวงยังไม่เป็นที่ปรับใจของประชาชน อันดับแรก 21.04%  ไม่ประทับใจ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ 20.8% ไม่ประทับใจ ​วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง 20.72% ไม่ประทับใจ อภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และ ​พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ​ถัดมาอันดับสี่ 20.56% เป็น พล.อ.สุรเชษฐ์  ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ และอันดับห้า 20.48% เป็น ​อภิรดีตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ และ ​สุวิทย์ เมษินทรีย์ ​รมช.พาณิชย์

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนไม่ประทับใจผลงานในกระทรวงสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา 

ดังนั้น หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ปรับปรุงแก้ไขเร่งสร้างผลงานหรือทำความเข้าใจกับประชาชนว่าที่ผ่านมาทำอะไรไปแล้วบ้าง มีอุปสรรคปัญหาตรงไหน และในอนาคตกำลังจะทำอะไรที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ ก็จะส่งผลเสียก​ระทบกับความเชื่อมั่นของ คสช.อย่างรุนแรง ​

ด้วยความเป็นธรรม รัฐบาล คสช.เข้ามาในช่วงสภาพบ้านเมืองไม่ปกติ ย่อมไม่อาจขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติ

ผสมกับความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติที่ไม่อาจร่วมไม้ร่วมมือกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ​ซึ่งพานกระทบไปถึงการค้า การลงทุน ความช่วยเหลือด้านต่างๆ จนฉุดให้ปัญหาหนักขึ้น

​สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเศรษฐกิจยังเป็นปัญหาที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก หากจำได้ก่อนหน้านี้รัฐบาล คสช. เคยเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกแผง เปลี่ยนแม่ทัพจาก ​ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ท่ามกลางความคาดหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน วิเคราะห์ว่า จากผลสำรวจรัฐมนตรีที่ติดอันดับโพลที่ประชาชนไม่ประทับใจจะเป็นรัฐมนตรีที่มาจากเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ รมว.เกษตรฯ ที่อยู่อันดับ 1 แสดงให้เห็นว่าเกษตรกร ชาวนา มีความลำบาก กระทรวงเกษตรฯ แทบจะไม่ได้ทำอะไรให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจไม่ดี ด้าน รมว.คลังและ รมช.คลัง ไม่ได้ทำงานให้ประชาชนรู้สึกจับต้องได้ ส่วน รมว.พาณิชย์ และ รมช.พาณิชย์ คนแทบจำไม่ได้เลยชื่ออะไร ซึ่งน่าจะแย่กว่ากระทรวงการคลัง เพราะการส่งออกลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเร็ว ก่อนตบท้ายว่าไม่แน่ใจว่าผลโพลที่ออกมานี้ เพื่อต้องการจะปรับ ครม.หรือไม่  ​

ปัจจัยนี้จึงเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพิจารณาว่าจะปรับแก้ไขตรงจุดไหน เพราะต่อให้คนพออกพอใจการบริหารของนายกฯ​ แต่แขนขากลไกอื่นๆ ยังไม่อาจเร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ ย่อมฉุดให้ภาพรวมดูเสียหายได้ในที่สุด

เป็นเรื่องยากที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาแบกรับแรงเสียดทานแทนรัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ได้ทั้งหมด ส่วนจะใช้วิธีการปรับ ครม.​ หรือการขันนอตรายกระทรวงนั้น เพื่อเร่งสร้างผลงานเป็นสิ่งที่ คสช.​ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีกับระยะเวลา 15 เดือนที่เหลือ ที่จะประคับประคองสถานการณ์ให้เดินไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้ให้ได้