posttoday

ทุนก่อการร้ายไหลเข้า หวั่นไอเอสบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

13 สิงหาคม 2559

รายงานประเมินความเสี่ยงภูมิภาค ระบุว่า มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนของกลุ่มก่อการร้ายจากต่างประเทศไหลเข้ามาในอาเซียน เกือบ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

รายงานประเมินความเสี่ยงภูมิภาค ซึ่งเปิดเผยในการประชุมตัวแทนความมั่นคงจาก 23 ประเทศ ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนของกลุ่มก่อการร้ายจากต่างประเทศไหลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เกือบ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 34.81 ล้านบาท) ในช่วงปี 2014-2015

“จำนวนเงินทุนที่มาจากกลุ่มก่อการร้าย แม้จะไม่ได้เป็นปริมาณมาก แต่ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความมั่นคงของภูมิภาค โดยอาเซียนเผชิญความเสี่ยงที่สุดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามชายแดนเข้ามาและกระจายไปทั่วภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรง” รายงานดังกล่าว ระบุ

นอกจากนี้ ภูมิศาสตร์ของอาเซียนที่มีชายแดนทางน้ำและทางบกใกล้ชิดกัน ยังทำให้กลุ่มแนวคิดสุดโต่งและเครือข่ายก่อการร้ายที่อยู่ในแต่ละส่วนสามารถส่งเงินข้ามชายแดนได้ง่าย ขณะที่หลายประเทศเผชิญปัญหาการลักลอบขนเงินที่เจ้าหน้าที่ยังจัดการไม่ได้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม

ขณะเดียวกัน รายงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แต่ละประเทศเพิ่มความร่วมมือด้านข่าวกรองมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งในกรอบภูมิภาค โดยเน้นให้
ความสำคัญไปที่การอุดช่องทางการเงินของกลุ่มก่อการร้าย โดยในขณะนี้ภาคสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแยกแยะธุรกรรมของกลุ่มก่อการร้ายออกจากธุรกรรมทั่วไปได้อย่างชัดเจน เนื่องจากกลุ่มก่อการร้ายโอนเงินครั้งละปริมาณไม่มาก

สก็อต สจ๊วต รองประธานฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ของสแตรทีจิก ฟอร์แคสติ้ง อิงค์ (สแตรทฟอร์) สำนักข่าวและบริษัทคลังสมองสัญชาติสหรัฐ ระบุว่า ตั้งแต่เหตุก่อการร้ายที่เกาะบาหลี เมื่อปี 2002 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย ถือเป็นจุดชนวนภัยก่อการร้ายครั้งสำคัญในภูมิภาคและพัฒนาไปสู่กลุ่มก่อการร้ายเล็กๆ เป็นเครือข่ายที่ก่อเหตุสร้างความเสียหายระดับเล็กกว่า และใช้อุปกรณ์ที่ผลิตได้เองและอาวุธที่หาได้ง่ายกว่าซึ่งน่ากังวลมาก

“คนเหล่านี้สามารถขยายการถ่ายทอดและฝึกสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในการก่อเหตุขนาดย่อมเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายน้อย แต่การติดตามระงับช่องทางการเงินจะช่วยยับยั้งภัยเหล่านี้ได้ และหากยังปล่อยให้เงินทุนนี้ไหลเวียนอย่างเสรี จะยิ่งเป็นการเปิดช่องไปสู่การระดมและฝึกสมาชิก รวมทั้งจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่และสรรหาวัตถุดิบผลิตอาวุธ ใช้สร้างที่หลบภัยและอื่นๆ” สจ๊วต กล่าว

ขณะที่หน่วยข่าวกรองอินโดนีเซีย ประเมินว่า มีแหล่งเงินทุนจากต่างชาติโอนเข้ามาเพื่อสนับสนุนทางการเงินให้กลุ่มก่อการร้ายในประเทศจำนวนมากกว่า 7.63 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 26.57 ล้านบาท) ในช่วงปี 2014-2015 โดยเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียและออสเตรเลียได้ร่วมปฏิบัติการสืบสวนพบการทำธุรกรรมต้องสงสัยก่อการร้าย โอนเงินราว 3.84 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 13.3 ล้านบาท) จากออสเตรเลียมายังอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการสรรหาคนเข้าร่วมเครือข่าย

อากัส ซานโตโซ ประธานหน่วยข่าวกรองอินโดนีเซีย แสดงความกังวลกลุ่มไอเอสอาจขยายเข้ามาก่อเหตุในอาเซียน พร้อมทั้งระบุว่ามีหลายวิธีที่กลุ่มก่อการร้ายต่างชาติส่งเงินเข้ามาในอาเซียน เช่น ผ่านเข้ามากับกลุ่มแรงงานผู้อพยพจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศตะวันออกกลาง หรือโอนเข้ามาโดยตรงจากประเทศอื่นๆ

ส่วน ไมเคิล คีแนน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของออสเตรเลีย กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาว่า การก่อเหตุรุนแรงหลายครั้งมาจากบุคคลทั่วไปที่ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม และถูกทำให้กลายเป็นกลุ่มแนวคิดหัวรุนแรงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น

คีแนน เสริมว่า กลุ่มก่อการร้ายขนาดใหญ่อยู่ได้ด้วยเครือข่ายและการให้ความช่วยเหลือของอาชญากรและเจ้าหน้าที่ทางการเองที่ทุจริตทั้งที่อยู่ภายในและนอกประเทศที่ก่อเหตุ

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวมีมติร่วมให้แต่ละประเทศเน้นการควบคุมชายแดนเพื่อยับยั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะการโยกย้ายสินค้า อาวุธ และเงินทุน

ขณะที่รัฐมนตรีมหาดไทยของสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ประชุมนอกรอบและมีมติความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย รวมทั้งความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมลัทธิสุดโต่ง โดยทั้งสามประเทศยกให้การต่อสู้การก่อการร้ายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของฝ่ายความมั่นคง พร้อมทั้งเตรียมผลักดันความร่วมมือภูมิภาคอย่างเป็นระบบ

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทหารฟิลิปปินส์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ให้ความสำคัญอย่างสูงสุดกับการเฝ้าระวังภัยก่อการร้ายจากกลุ่มไอเอส โดยกังวลว่าจะเกิดเหตุโจมตีในระหว่างการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่จะจัดขึ้นที่กรุงมะนิลาในปี 2017 หลังมีคลิปวิดีโอระบุเป็นภาษาอาหรับว่า ให้สร้างระเบิดถล่มมิสยูนิเวิร์ส โดยแม้ทางการจะยืนยันว่าไม่มีสมาชิกกลุ่มไอเอสอยู่ในประเทศ แต่มีความเสี่ยงจากกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่นอาบูเซย์ยาฟที่อ้างตนเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส

ภาพเอเอฟพี