posttoday

พลิกรธน.ปี ‘50-59’ ชำแหละยาปราบโกง

05 สิงหาคม 2559

หนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในร่างรัฐธรรมนูญ คือ “การปราบปรามการทุจริต” แม้ “มีชัย ฤชุพันธุ์”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

หนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในร่างรัฐธรรมนูญ คือ “การปราบปรามการทุจริต” แม้ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติจะได้รับการขนานนามว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” แต่ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมองว่าไม่ได้เป็นร่างรัฐธรรมนูญปราบโกงอย่างแท้จริง

ในโอกาสนี้ “ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์” จะขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการปราบทุจริตที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 ส.ค.

1.คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างคุณสมบัติของผู้สมัคร สส. รัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดไว้ในแนวทางเดียวกัน แต่มีประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมขึ้นมา คือ การกำหนดให้บุคคลที่มีความผิดฐานกระทำการเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์จากงบประมาณรายจ่ายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะไม่สามารถสมัคร สส.ได้ และต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาฐานทุจริต และไม่เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน

ส่วนมาตรการการแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเพื่อเป็นต้นทางของการเข้าสู่ตำแหน่ง สส.นั้น ร่างรัฐธรรมนูญวางกลไกที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีตตรงที่การมอบอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร สส.ไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี หลังจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้นั้นกระทำการหรือรู้เห็นการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริต ทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

2.การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ในประเด็นนี้มีหลายกลไกที่ร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ต่างกัน เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นต้น โดยมีมาตรการใหม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นมา อย่างการกำหนดเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐว่ารัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งการ
ตัดสินใจทางการเมืองและการอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน

ขณะเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มหน้าที่ให้องค์กรอิสระในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีนัยสำคัญด้วย กล่าวคือ ให้มีอำนาจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน โดยหากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ให้แจ้งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ กกต.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ

พร้อมกันนี้ ยังมีหน้าที่ป้องกันความเสียหายทางการเงินการคลัง ถ้าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กกต.และ ป.ป.ช.เห็นพ้องกันว่าอาจมีการดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ให้แจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบโดยไม่ชักช้า

3.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในระยะหลัง เนื่องจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติทำให้กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกามีความเข้มแข็งไม่เท่ากับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

พลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะพบว่าความคิดเห็นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีความน่าสนใจ โดยมาตรา 238 ระบุว่า การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาจะเปิดโอกาสให้ทำได้เฉพาะกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น และต้องยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในส่วนนี้ โดยให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทั้งข้อกฎหมาย และกรณีที่มีหลักฐานใหม่ การวินิจฉัยคำอุทธรณ์นั้นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ขององค์คณะของศาลฎีกาจำนวน 9 คน

กรณีนี้เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างมองต่างมุม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมองว่าการเปิดทางให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาศาลสูงสุดได้ง่ายขึ้น อาจเป็นการลดความศักดิ์สิทธิ์ แต่ฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลถือว่าเป็นสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม

4.การกำหนดมาตรฐานจริยธรรม ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติให้ประเทศต้องมีมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละประเภท โดยต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหา คือ ไม่มีการกำหนดให้มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพดำเนินการ ส่งผลให้มาตรฐานจริยธรรมตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดไม่สามารถเกิดขึ้นได้

จากปัญหาดังกล่าว กรธ.จึงได้เปลี่ยนใหม่ โดยกำหนดให้องค์กรอิสระต้องร่วมมือกับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม และต้องระบุให้ชัดเจนด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง การจัดทำมาตรฐานจริยธรรมจะต้องรับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและ ครม. และเมื่อประกาศใช้แล้วมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวจะบังคับใช้กับองค์กรอิสระทุกองค์กร สส. สว. และรัฐมนตรี ซึ่งการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง