posttoday

ญี่ปุ่นเบนเข็มลุยกระตุ้นคลัง ตลาดทุนกังขาให้ฟีดแบ็กลบ

03 สิงหาคม 2559

คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นภายใต้นายกฯ ชินโสะ อาเบะ ผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 28 ล้านล้านเยนออกมาตามความคาดหมาย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นภายใต้นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 28 ล้านล้านเยน (ราว 9.58 ล้านล้านเยน) ออกมาตามความคาดหมายเมื่อ วันที่ 2 ส.ค. ซึ่งถือเป็นมาตรการกระตุ้นที่มีวงเงินรวมสูงสุดนับตั้งแต่มาตรการสู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ออกมาในเดือน เม.ย. 2009 วงเงิน 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.2 ล้านล้านบาท)

ภายใต้แผนการครั้งนี้ จะเป็นการผ่านงบประมาณรายจ่ายพิเศษ 4.6 ล้านล้านเยน (ราว 1.57 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณปัจจุบัน และ ส่วนที่เหลือจะทยอยออกในปีงบประมาณ 2017 ซึ่งผู้นำญี่ปุ่นคาดว่าจะสามารถผลักดันการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีหน้าได้ราว 1.4%

มาตรการดังกล่าวจะกระจายตั้งแต่การ ช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การให้เงินผู้มีรายได้ต่ำ  22 ล้านคน คนละ 1.5 หมื่นเยน (ราว 5,131 บาท) รวม 3.3 แสนล้านเยน (ราว 1.13 แสนล้านบาท) ไปจนถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนับเป็นการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลประกาศเลื่อนแผนการขึ้นภาษีขาย 10% ออกไปอีก 2 ปีครึ่ง จากกำหนดเดิมที่จะเริ่มในปีงบประมาณ 2017

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์และตลาดทุนในญี่ปุ่นกลับตอบรับมาตรการครั้งนี้ในเชิงลบ โดยเฉพาะค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นสวนทางความคาดหมายไปแตะระดับ 102 เยน/เหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีนิกเกอิ 225 ปิดตลาดลดลง 244.32 จุด หรือ 1.47% มาอยู่ที่ 16,391.45 จุด เนื่องจากนักลงทุนมองว่ารัฐบาลใช้งบกระตุ้นที่แท้จริงน้อยเกินไป

มาร์เซล ธีลเลียนท์ นักเศรษฐศาสตร์จาก บริษัท แคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นใช้วิธีการเดิมๆ เหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินรวมก้อนใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในวงกว้าง ทว่าในรายละเอียดกลับเป็นงบประมาณทางการคลัง ที่ใช้จริงเพียงเล็กน้อย และคาดว่าจะสามารถกระตุ้นจีดีพีในปีหน้าจริงได้เพียง 0.8% เท่านั้น

ภายใต้แผนการดังกล่าว ยังเป็นส่วนของฅความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) และโครงการอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่บนงบประมาณ รายจ่ายของรัฐโดยตรง จึงอาจไม่ช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นได้มากนัก

บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ คาดการณ์ว่า งบประมาณกระตุ้นทางการคลัง 13.6 ล้านล้านเยน (ราว 4.65 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะประเดิมผ่านใน ปีนี้ไม่ถึงครึ่ง และจะทยอยออกมาในปีงบประมาณหน้า ควบคู่ไปกับโครงการเงินกู้ที่เป็นแผนระยะยาวต่อเนื่องหลายปี จะช่วยให้จีดีพีในระยะสั้นปี 2016 นี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เพียง 0.1% และจะเพิ่มขึ้นได้อีก 0.25% ในปีหน้า ขณะที่ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า จะขยายตัวได้ 0.3% ในปีนี้ และ 0.1% ในปีหน้า

โคยะ มิยามาเอะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของบริษัทหลักทรัพย์ เอสเอ็มบีซี นิกโก ซีเคียว ริตี้ส์ กล่าวว่า มาตรการครั้งนี้จะเพิ่มการเติบโตของ จีดีพีได้ 0.4% ในปีนี้ และอีก 0.4% ในปีหน้า

"ในขณะที่ผลของมาตรการนี้น่าจะเห็นได้ ในช่วงปีงบประมาณ 2017 ญี่ปุ่นก็อาจต้องเผชิญกับภาวะหน้าผาการคลัง หรือการขาดช่วงความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องพึ่งมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่เช่นนี้อีกครั้งก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 ซึ่งอาจทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถทำงบเกินดุลได้ตามเป้าหมายภายในปี 2020" มิยามาเอะ กล่าวกับรอยเตอร์ส

ทั้งนี้ การใช้มาตรการการคลังมีขึ้นหลังจาก ที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินน้อยเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดหวัง โดยไม่มีทั้งการขยายวงเงินซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ 80 ล้านล้านเยน/ปี และไม่มีการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ลบ 0.1% และบีโอเจยังส่งสัญญาณเตรียมทบทวนมาตรการการเงินในการประชุมเดือน ก.ย.นี้ ส่งผลให้หลายฝ่ายวิตกว่า ญี่ปุ่นใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินจนถึงลิมิตแล้ว

นอกจากนี้ การเตรียมแต่งตั้ง โทชิฮิโระ นิไคอิ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการลงทุนภาครัฐขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคแอลดีพี ยังทำให้ตลาดเชื่อว่าญี่ปุ่นกำลังถึงทางตันในการใช้มาตรการทางการเงิน และต้องเบนเข็มไปใช้มาตรการทางคลังมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ได้ปฏิเสธความกังวลของตลาดว่า การทบทวนมาตรการในเดือนหน้า จะไม่ใช่การลดขนาดมาตรการกระตุ้นทางการเงิน

แผนกระตุ้นศก. 28 ล้านล้านเยน

3.3 แสนล้านเยน : แจกเงินผู้มีรายได้ต่ำ 22 ล้านคน คนละ 1.5 หมื่นเยน สำหรับบุคคลรายได้ต่ำกว่า 1 ล้านเยน/ปี (3.42 แสนบาท)
3.5 ล้านล้านเยน : ใช้ในการรับมือสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ดูแล ผู้สูงอายุ และสนับสนุนการเพิ่มจำนวนประชากร
10.7 ล้านล้านเยน : ลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนภาคการ ท่องเที่ยว เช่น ปรับปรุงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง และขยายท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่
10.9 ล้านล้านเยน : บรรเทาผลกระทบฅต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั่วประเทศจากกรณีเบร็กซิต
3 ล้านล้านเยน : ฟื้นฟูและบรรเทาผล กระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว เดือน เม.ย. 2016 และสึนามิเมื่อปี 2011