posttoday

เมื่อฝรั่งย่ำรอยตะวันออก รัฐเข้าเทกภาคเอกชน

16 สิงหาคม 2553

หากย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่ 90s เราอาจเห็นกลุ่มประเทศร่ำรวยอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่ง “การปกป้องทางการค้า” โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เชื่อว่าตำแหน่งงานหดหายไปมาก จากผลกระทบการเปิดเสรีการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านเม็กซิโกมาในปี  2010 หลายฝ่ายยังคงเห็นบรรยากาศของการปกป้องทางการค้ายังคงอยู่ เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 ซึ่งทำให้สหรัฐต้องเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยและมหกรรมคนตกงานครั้งใหญ่

หากย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่ 90s เราอาจเห็นกลุ่มประเทศร่ำรวยอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่ง “การปกป้องทางการค้า” โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เชื่อว่าตำแหน่งงานหดหายไปมาก จากผลกระทบการเปิดเสรีการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านเม็กซิโกมาในปี  2010 หลายฝ่ายยังคงเห็นบรรยากาศของการปกป้องทางการค้ายังคงอยู่ เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 ซึ่งทำให้สหรัฐต้องเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยและมหกรรมคนตกงานครั้งใหญ่

โดย.......ทีมข่าวต่างประเทศ

 

 

เมื่อฝรั่งย่ำรอยตะวันออก รัฐเข้าเทกภาคเอกชน

ทว่าที่มาของบรรยากาศแห่งการปกป้องทางการค้าในครั้งนี้กลับดูจะแตกต่างออกไปจากเดิม เมื่อรัฐบาลกรุงวอชิงตัน “ตั้งใจ” ที่จะยื่นมือเข้าไปมีเอี่ยวกับธุรกิจแขนงต่างๆ ของภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อน

เราเรียกเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ว่า Leviathan Inc.

เลอเวียธาน นั้นเป็นสัตว์ในตำนานของชาวฮิบรู โดยเป็นสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ มีหลายหัว ลักษณะคล้ายมังกรแห่งท้องทะเลลึก บางตำราก็ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มปีศาจระดับสูง ทว่าในตำราธุรกิจยุคใหม่ อีโคโนมิสต์ ระบุว่า การเปรียบสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ว่าเป็นเหมือนเลอเวียธาน อิงก์ ก็เพราะมือไม้ของรัฐบาลที่ขยับเข้าจับธุรกิจต่างๆ มากขึ้นและต่อเนื่อง เพื่อหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ขยายตัว

บรรดานักการเมืองกำลังกระตุ้นแนวคิดเดิมๆ กลับมาฉายซ้ำใหม่ว่า การที่รัฐเข้าแทรกแซงในภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนแขนงต่างๆ นั้นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระตุ้นการจ้างงานในประเทศได้
แม้ในความคิดของโลกทุนนิยมเสรีตะวันตก การยื่นมือของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนจะถือเป็นเรื่องที่ตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างในทางทฤษฎี ทว่าสำหรับภาคปฏิบัตินั้น กลับเป็นที่พบเห็นได้ในเกือบทุกประเทศ

รัฐบาลฝรั่งเศส เข้าไปถือหุ้นทั้งในบริษัทผลิตของเล่น เว็บไซต์วิดีโอแชริงและสโมสรฟุตบอล ส่วนในเยอรมนีและเบลเยียมเริ่มมีการเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาวางแผนนโยบายภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นก็เริ่มเข้าไปมีส่วนเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเอกชนมากขึ้น สำหรับรัฐบาลของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐนั้น การเข้าไปถือหุ้นในบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) รวมถึงสถาบันการเงินอีกหลายแห่งในวอลสตรีต ก็ล้วนเป็นบทพิสูจน์ถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ในอีกด้านหนึ่ง ยังเป็นเพราะกลุ่มประเทศร่ำรวยไม่อาจทนเห็นความสำเร็จของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ BRIC บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ ซึ่งมีแรงหนุนหลังจากรัฐบาลและบริษัทของรัฐบาลได้ ทุกวันนี้ 9 ใน 30 บริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก ก็ล้วนเป็นบริษัทจากตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีรัฐบาลร่วมถือหุ้นทั้งสิ้น

แม้จะเข้าใจได้ว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะความวิตกของรัฐต่อเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศร่ำรวย หลังเกิดวิกฤตการณ์ถดถอย ทว่าในอีกมุมหนึ่งก็มาจากแรงขับของภาคเอกชนเอง อาทิ บริษัท อีเอดีเอส และ โรลส์รอยซ์ จากอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่เรียกร้องให้ภาครัฐวางนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมภาคอากาศยานให้มากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทสินเชื่อบ้านรายใหญ่ในสหรัฐ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ก็เป็นฝ่ายที่ร้องขอการแทรกแซงจากรัฐบาลเมื่อครั้งเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกเช่นกัน และทำให้รัฐบาลต้องเข้าอุ้มอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ทว่าสิ่งที่หลายฝ่ายจับตาในขณะนี้ก็คือ รัฐบาลกลับไม่มีแผนที่จะถอนตัวออกจากการเข้าถือหุ้นหรือการเกี่ยวข้องในภาคธุรกิจเหล่านี้แต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ อาจอยู่ที่ การเมือง”

แม้ภาวะเศรษฐกิจในวันนี้จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น ทว่าก็ยังไม่ดีพอเท่าที่ประชาชนและนักธุรกิจคาดหวัง โดยเฉพาะหากเทียบกลับไปตอนช่วงก่อนภาวะฟองสบู่แตกตัวในปี 2008 นอกจากนี้ปัญหาการว่างงานในสหรัฐก็ยังพุ่งสูง และลดลงน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดหวังเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดกำลังนำไปสู่หายนะทางการเมือง เมื่อคะแนนความนิยมในรัฐบาลตกฮวบลงอย่างรวดเร็วในเกือบทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลโอบามา ทั้งที่เพิ่งขึ้นมาเมื่อเดือน ม.ค. 2010 ที่ผ่านมา

การยื่นมือเข้าแทรกแซงของรัฐ จึงเป็นคำตอบที่ทันใจที่สุด และเมื่อเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นอย่างทันตาเห็น รัฐบาลก็ยังไม่สามารถถอนตัวจากการแทรกแซงได้ เพื่อไม่ให้รัฐบาลต้องพังลงมาก่อนเพราะความไม่พอใจของประชานิยม

ทว่าในขณะที่โลกตะวันตกหันไปย่ำรอยตะวันออก กลุ่มประเทศ BRIC กลับเดินหน้าเข้าสู่นโยบายทุนนิยมเสรีมากขึ้นทีละน้อย ภาคเอกชนของจีนและอินเดียเริ่มขึ้นมามีบทบาทเหนือรัฐวิสาหกิจและบริษัทของรัฐมากขึ้น ขณะที่ฝั่งบราซิลนั้นยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทน้ำมัน ปิโตรบาส บริษัทเหมืองแร่เวล ก็ถูกแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจ และได้ปรับตัวอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ 90s เพื่อให้เข้ากับการแข่งขันของต่างชาติ
เรียกว่าขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากำลังเดินตามรอยของกลุ่มประเทศร่ำรวย โดยเฉพาะการมุ่งเน้นที่นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โลกตะวันตกกลับย้อนตามรอยประเทศกำลังพัฒนาอีกที

หากไม่เร่งปรับทิศหลังเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ เห็นทีรูปแบบทุนนิยมเสรีในโลกตะวันตกวันนี้อาจต้องเปลี่ยนโฉม และไม่ต่างอะไรนักกับระบบตลาดเสรีแบบคอมมิวนิสต์