posttoday

ตัวแปรเพื่อแผ่นดินมาร์คสกัดคว่ำงบ '54

13 สิงหาคม 2553

เปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัตินัดแรกไม่ทันไรก็ประเดิมด้วยปัญหา “สภาล่ม” เรียบร้อยโรงเรียนมาร์คซะแล้ว

เปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัตินัดแรกไม่ทันไรก็ประเดิมด้วยปัญหา “สภาล่ม” เรียบร้อยโรงเรียนมาร์คซะแล้ว

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัตินัดแรกไม่ทันไรก็ประเดิมด้วยปัญหา “สภาล่ม” เรียบร้อยโรงเรียนมาร์คซะแล้ว ทั้งที่วิปรัฐบาลกำชับเป็นอย่างดีว่า เปิดเทอมหนนี้จะไม่เกิดปัญหาสภาล่มซ้ำซากอีก

ตัวแปรเพื่อแผ่นดินมาร์คสกัดคว่ำงบ '54

ที่สุดก็เอาไม่อยู่ นอกจากความไม่รับผิดชอบของ ฯพณฯ ทั้งหลาย ทั้งที่รู้ว่าเสียงของรัฐบาลปริ่มน้ำเต็มทน จะลงมติอะไร สส.คนไหนที่กำลังประชุมกรรมาธิการตามห้องหลืบต่างๆ ในอาคารรัฐสภา ต้องพักการประชุมและวิ่งสุดชีวิตเพื่อเข้าห้องประชุมใหญ่ให้ทันกดบัตรลงคะแนน

 ล่มรอบนี้จึงเพิ่มสถิติ ล่มครั้งที่ 16 ของสภาผู้แทนราษฎรยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงระยะเวลาปีครึ่ง

 ปี 2552 สภาล่ม 11 ครั้ง ปีนี้สมัยประชุมที่ผ่านมาช่วง ม.ค.พ.ค. ก็ล่มไปอีก 4 ครั้ง

 อย่างไรก็ตาม เหตุสภาล่มรอบล่าสุดนี้อาจไม่ใช่ความเกียจคร้านของท่านผู้แทนอย่างเดียว แต่เป็นปมปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาลส่วนหนึ่ง สะท้อนถึงการจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว
จากตัวเลข สส.รัฐบาล มีทั้งหมด 7 พรรค รวมกลมๆ 270 กว่าเสียง

แยกเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 171 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 25 คน พรรครวมชาติพัฒนา 9 คน เพื่อแผ่นดินประมาณ 20 คน พรรคภูมิใจไทย 32 คน พรรคกิจสังคม 5 คน พรรคมาตุภูมิ 3 คน และกลุ่มฝากเลี้ยงตามพรรคต่างๆ ของภูมิใจไทยอีกประมาณ 10 คน

แต่ สส.รัฐบาลที่มาประชุมหลังเปิดไปได้เพียงชั่วโมงกว่า มีเพียง 216 คน จากที่ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 237 เสียง เพื่อดำเนินการประชุมได้
โดดร่มร่วม 60 !?!

พวกที่ขาดประชุม แยกเป็น ประชาธิปัตย์ 15 คน ชาติไทยพัฒนา 12 คน ภูมิใจไทย 9 คน รวมชาติพัฒนา 4 คน กิจสังคม 3 คน มาตุภูมิ 1 คน เพื่อแผ่นดินขาดมากที่สุด 22 คน
ถ้าแยกเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อจำนวน สส.แล้ว พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน ขาดมากแบบเกือบถึงครึ่งต่อครึ่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์แม้จะมียอด สส. ขาด 15 คน แต่ก็คิดเป็นจำนวน 10% เท่านั้น

 รัฐบาลผสมชุดนี้มีปัญหาเสียงปริ่มน้ำ มีการออกกฎมาคุมเข้มตลอด เช่น ห้าม สส.ไปรับจ๊อบข้างนอกในช่วงวันประชุมสภา กระทั่งนายกฯ อภิสิทธิ์ยังสั่งการให้รัฐมนตรีทำตัวเป็นแบบอย่าง แม้จะมีภารกิจสำคัญปานใดก็ให้ย้ายมานัดที่สภาแทน

แต่การ “ล่ม” รับเปิดเทอมใหม่หัวใจว้าวุ่นวันแรก อาจไม่เหนือความคาดหมายเพราะมีกลิ่นมาก่อนว่า พรรคภูมิใจไทยอาจแก้แค้นไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อให้สภาล่มตบหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ยอมอนุมัติโครงการรถเมล์เอ็นจีวี ขุมทรัพย์อีกชิ้นที่ฝ่ายการเมืองรออยู่

เพราะเรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐบาลผสมชุดนี้ เมื่อกลุ่มก๊วนเสือหิวเสือโหยทั้งหลาย ไม่พอใจพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่อนุมัติโครงการใหญ่ๆ ตามที่ตัวเองเสนอเข้า ครม. ก็จะเอาคืนมาตีรวนในสภาแทน
ลูกพรรคประชาธิปัตย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุสภาล่มเป็นการวางแผนของพรรคภูมิใจไทย โดยให้ สส.ขาดประชุม พร้อมกับให้ปู่ชัย ชิดชอบ ประธานสภา หรือ “พ่อเนวิน” คนนี้รับลูกจากฝ่ายค้านตรวจสอบองค์ประชุมจนต้องล่มในที่สุด

กระนั้น หากสแกน สส.ที่ขาดประชุม ซึ่งกระจายกันทุกพรรคพบว่า เหตุล่มครั้งนี้มีปัจจัยหลากหลาย

ปัจจัยแรก แน่นอน ลูกพรรคเนวินต้องการหักหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณี ครม.ตีกลับโครงการรถเมล์เอ็นจีวี จึงอ้างว่า สส.ภูมิใจไทยส่วนหนึ่งอยู่พื้นที่ เพราะมีการจัดงานวันกำนันผู้ใหญ่บ้านครบรอบ 118 ปี ในวันที่ 10 ส.ค. ก่อนประชุมสภาหนึ่งวัน สส.จึงอาศัยช่วงฟันหรอหยุดยาว

สอง มีการจัดโครงการถวายพระพรออนไลน์ 12 ส.ค. และ 5 ธ.ค. ที่ศูนย์ราชการ ซึ่งนายกฯ และ ครม.ส่วนหนึ่งเดินทางไปร่วมงานช่วงเดียวกับประชุมสภา เมื่อกลับมาก็ไม่ทันเช็กชื่อ

สาม เป็นเทศกาลหยุดยาวต่อเนื่องจากวันที่ 1213 ส.ค. สส.สันหลังยาว อาศัยจังหวะนี้ลงพื้นที่ยาว ไม่อยากมาประชุมสภาแค่วันเดียว

สี่ ความไม่แน่นอนของ สส.ในกลุ่มเพื่อแผ่นดิน กล่าวคือ พรรคเพื่อแผ่นดินมี สส. 32 คน แต่แตกกระจุยไป 5 ก๊ก 10 มุ้ง อยู่ในสองปีกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่งตัวเลขที่กลุ่มไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ เอามาอ้างว่ามี สส.ในมือร่วม 10 คน เพื่อปั้นเขาเป็นรัฐมนตรี จนถึงวันนี้ก็ยังไม่จริงแท้แน่ชัดว่ามีแค่ไหนหรือถูกดึงกลับไปอยู่ปีกเพื่อแผ่นดินในส่วนของฝ่ายค้านหรือไม่

การลงมติแสดงตนก่อนสภาล่มครั้งนี้ ถือเป็นการเช็กยอดอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกหลังจากมีการปรับ ครม. เอาก๊กเพื่อแผ่นดินกลุ่ม “พินิจ จารุสมบัติไพโรจน์ สุวรรณฉวีเกษม รุ่งธนเกียรติ” ซึ่งเป็นกำลังหลักของเพื่อแผ่นดินออกจากรัฐบาล

ปัญหาเสียงสนับสนุนของ สส.เพื่อแผ่นดินในรัฐบาลนี้ จึงยังไม่ชัดว่ามีเท่าไหร่ และยิ่งขาดประชุมไป 22 คน จาก 32 คน จึงไม่สามารถตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของแต่ละคนว่าอยู่ฝ่ายไหน เสียงรัฐบาลจริงๆ มีเท่าไหร่

นี่เป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะครั้งนี้ แต่ในอนาคตก็อาจเกิดขึ้นได้อีก หากเพื่อแผ่นดินยังไม่มีความชัดเจนก็ยิ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในสภา โดยเฉพาะเรื่องที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า การให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายประจำปี 2554

ถ้ายังกระชับพื้นที่ในสภาไม่ได้ เกิดช่องว่าง มีการซื้อตัว ประมูลราคา สส.ยกเข่ง ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล การลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งเป็นกฎหมายการเงิน หัวใจในการบริหารประเทศ ก็อาจกระทบต่อรัฐบาลและเก้าอี้นายกฯ อภิสิทธิ์

 อภิสิทธิ์จึงประมาทไม่ได้ แม้ว่าทุกพรรคยืนยันพร้อมใจกันสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพราะตัวแปรไม่ได้อยู่ที่ภูมิใจไทย แต่อยู่ที่ก๊วนเพื่อแผ่นดินที่เป็นจับฉ่ายร้อยพ่อพันธุ์แม่ สะดวกซื้อประหยัดใช้อยู่อย่างนี้