posttoday

เฉลิมยกสารพัดกม. สกัด‘วิชา’สอบคดีเยียวยา

01 กรกฎาคม 2559

สถานการณ์การเมืองนาทีนี้ ต้องตามกันไม่กะพริบเพราะยังคุกรุ่นตลอดเวลา ยิ่งใกล้ช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์การเมืองนาทีนี้ ต้องตามกันไม่กะพริบเพราะยังคุกรุ่นตลอดเวลา ยิ่งใกล้ช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. การเคลื่อนไหวแสดงออก การเรียกร้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะมีหนักหน่วงขึ้น ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงงัดมาตรการต่างๆ ขึ้นมาควบคุม ถึงตอนนี้อะไรก็ย่อมอาจเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกังวลอย่างหนักคือ เกรงจะมีการเร่งงัดคดีความต่างๆ มาจัดการพรรคเพื่อไทยให้สิ้นซาก นอกจากนี้คดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล้ว ยังมีคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงคณะรัฐมนตรี รวม 36 ราย กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ. 2548-2553) โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง

ทั้งนี้ คดีเยียวยาดังกล่าว “วิชา มหาคุณ” ซึ่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น เป็นหัวเรือใหญ่ในการสอบสวนเอง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากพรรคเพื่อไทย ที่เกรงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจาก “วิชา” มีอคติ แต่เรื่องนี้คาราคาซังอยู่ใน ป.ป.ช. เมื่อ “วิชา” ต้องพ้นจากกรรมการ ป.ป.ช.ไป

ล่าสุด ทาง ป.ป.ช.ได้ตั้ง “วิชา” กลับมาเป็นอนุกรรมการสอบสวนเรื่องนี้อีก และเมื่อพรรคเพื่อไทยล่วงรู้ ก็ได้ออกมาคัดค้าน เพราะมองว่า นี่จะเป็นคดีสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ที่ คสช.จะใช้ล้างบางพรรคเพื่อไทย โดยการถอดถอนอดีตคณะรัฐมนตรียกพวง โดยการตัดสิทธิทางการเมือง

งานนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหอก ร้องคัดค้านการตั้ง “วิชา” กลับมาทำคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 และ 27 มิ.ย.นี้ โดยมีเหตุผล ประเด็นและข้อกฎหมาย ที่น่าสนใจดังนี้

คำร้องระบุว่า ตามที่ประธานและคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าว โดยมี “วิชา” เป็นประธานนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.ไอซีที ได้ยื่นฟ้องคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ “วิชา” นั่งเป็นประธานมาก่อนหน้านี้ เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีนัดไต่สวนมูลฟ้องไว้แล้วในวันที่ 17 ส.ค. 2558

การยื่นฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีมีเหตุสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง ตาม พ.ร.บ.วิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง 11 คน จึงตกเป็นผู้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.  2554 มาตรา 46 (3) ประกอบมาตรา 43 วรรคท้าย ซึ่งห้ามมิให้คณะอนุกรรมการที่ถูกฟ้องทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการและเป็นเหตุในลักษณะคดี

เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ตกเป็นผู้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้อีก เพราะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2554 มาตรา 46 (3) อันจะทำให้การไต่สวน
ข้อเท็จจริงไม่ได้ความจริงและขาดความยุติธรรม

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 13 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ (1) เป็นคู่กรณีเอง แม้แต่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคัดค้านผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีไว้ใน มาตรา 11 และมาตรา 12 ซึ่งบัญญัติว่า “มาตรา 11 เมื่อคดีถึงศาล ผู้พิจารณาคนหนึ่งคนใดในศาลนั้น อาจถูกคัดค้านได้ ในเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้พิจารณานั้นมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น

ส่วนมาตรา 12 เมื่อศาลใดมีผู้พิพากษาแต่เพียงคนเดียว ผู้พิพากษานั้นอาจถูกคัดค้านด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในมาตราก่อนนั้นได้หรือด้วยเหตุประการอื่นอันมีสภาพร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป

จึงเห็นได้ว่า ในกระบวนการยุติธรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณา การสอบสวน หรือการไต่สวนใดๆ ได้มีบทกฎหมายบัญญัติเจตนารมณ์แห่งความเป็นกลางของผู้พิจารณา ผู้สอบสวน ผู้ไต่สวนซึ่งเป็นผู้ที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ทุกฝ่าย

ดังนั้น การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้ง “วิชา” เป็นอนุกรรมการในการไต่สวนในกรณีนี้นั้น เห็นได้ชัดว่า “วิชา” เป็นผู้ที่เคยสอบสวนและพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องที่ข้าพเจ้าถูกกล่าวหามาแล้วครั้งหนึ่งในฐานะประธานอนุกรรมการ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้ง “วิชา” กลับเข้ามาเป็นอนุกรรมการไต่สวนในเรื่องเดียวกันอีก จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกระบวนการยุติธรรม

ขณะเดียวกันยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ไม่ต้องการให้ตั้งบุคคลที่เคยสอบสวน หรือพิจารณาในเรื่องเดียวกันนี้มาก่อนเป็นอนุกรรมการไต่สวน และเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 46

ดังนั้น คำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 627/2559 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2559 จึงเป็นคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 46 และเพื่อให้การรับฟังข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ถูกต้องตรงความเป็นจริง ตามเจตนารมณ์ของกระบวนการยุติธรรมและเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงขอยื่นคำคัดค้านการแต่งตั้ง “วิชา” เป็นอนุกรรมการไต่สวนดังกล่าว

ทั้งหมดนี้ต้องดูว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาทบทวนสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม คัดค้านหรือไม่ คดีนี้จะเป็นหนังยาวเพียงใด อีกไม่นานรู้กัน