posttoday

เปลือยร่างรธน. รัฐสภาเพี้ยนชูอำนาจองค์กรภายนอก

29 มิถุนายน 2559

วงเสวนา "ถกแถลงเปรียบเทียบ ร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1" จอน อึ๊งภากรณ์ มองว่า ไม่ได้คิดว่าการปราบโกงคือเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ International IDEA, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (weMove) ได้จัดเสวนา "ถกแถลงเปรียบเทียบ ร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1" ณ ห้องประชุมชั้น 16 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี

ในงานเสวนาได้มีการนำเสนอรายงานการศึกษาเปรียบเทียบ เรื่อง "รัฐสภา" โดย จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน อธิบายว่า เจตนารมณ์หลักของร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันเพื่อปราบโกง แต่ส่วนตัวได้ดูแอนิเมชั่นอธิบายร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ต่างอะไรจากโฆษณายาฆ่าแมลงที่ฉีดแล้วตายทันที

ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าการปราบโกงคือเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมคอร์รัปชั่น หากมีโอกาสก็จะทำเรื่องนี้ทุกองค์กร ไม่ใช่แค่เฉพาะนักการเมือง ซึ่งอาจจะมีในทหารแต่ตรวจสอบยากกว่า ปัญหาคือร่างรัฐธรรมนูญมีระบบตรวจสอบคนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีกลไกวิธีการตรวจสอบคนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

จอน ระบุว่า การกลัววุฒิสภาจะเป็นระบบสภาผัวเมีย แต่กลายเป็นยอมรับให้มีศาล-องค์กรอิสระ ผัวเมียแทน ดังนั้น ถ้าจะพัฒนาระบบต่างๆ ต้องพัฒนาประชาธิปไตยทางตรง ให้ตำแหน่งต่างๆ มาจากเลือกตั้งมากขึ้น โดยประชาชนเป็นผู้ถอดถอนได้ เพื่อให้มีส่วนร่วม

"สิ่งห่วงอย่างมาก คือ ร่างรัฐธรรมนูญอยู่บนพื้นฐานไม่ไว้ใจประชาชน จึงต้องมีคนกลุ่มหนึ่งคอยตัดสิน ถ้าประชาชนคิดผิดต้องมีคนกลุ่มหนึ่งทำให้คิดให้ถูก และเมื่อประชาชนเลือกคนผิด บรรดาทหารก็รัฐประหาร ซึ่งเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพวกเขาคิดถูกนี่ก็เป็นปัญหา ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตามมาก็มีแนวคิดทำนองเดียวกัน"

สำหรับเรื่องโครงสร้าง สส.ส่วนตัวไม่ติดใจ แต่เสียดายไม่มีสิทธิเลือก สส.อิสระ ซึ่งระบบเลือกตั้งแบบร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการมัดมือชก แต่คิดว่าแฟร์ที่สุด คือ ถ้าพรรคการเมืองหนึ่งมีประชาชนเลือก 57% ก็ควรมีที่นั่งตามสัดส่วนนั้น แต่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกแบบมาสะท้อนเสียงประชาชนจริงหรือไม่

ส่วนเรื่อง สว.ที่จะมาจากการเลือกกันเองจากตัวแทนฝ่ายต่างๆ แต่ตอนนี้ก็เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นผู้เลือกทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ระบุให้ชัดว่าจะแบ่งจากอะไร ปล่อยให้เป็นกฎหมายลูกกำหนด ทั้งๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าควรให้เลือกตั้ง 200 คน จะไม่เกิดสภาผัวเมีย ซึ่งถ้าจะมีจริงก็เป็นความต้องการของประชาชน

"ผมอยากเห็นประชาธิปไตยเดินหน้า ไม่ใช่ถอยหลัง ซึ่งผมคิดว่าปัญหาจริงๆ คือการไม่ปล่อยให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไปเรื่อยๆ พอเจออะไรสะดุดนิดหน่อยก็ล้มรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ เป็นวัฏจักรที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้น ผมคิดว่าเราอยากเห็นความเป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้สัมผัสกับระบอบนี้อย่างแท้จริง ไม่ไว้ใจนักการเมืองก็ดี แต่อย่าไปไว้ใจกับองค์กรอื่นเช่นกัน อย่าให้อำนาจใครจนมากไป เพราะถ้าให้มากไปเชื่อได้ว่าเขาก็จะเพี้ยนไป ผมว่าเป็นเรื่องจริง"

ขณะที่ บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย อดีตผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิจารณ์ผลการศึกษา จากมุมมองส่วนตัวในเชิงวิชาการเมื่อเทียบกับต่างประเทศ หรือฉบับที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าระบบตัวรัฐสภามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเสรีประชาธิปไตย เช่นใน เยอรมนี ฝรั่งเศส จนต้องมาปฏิรูปเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยเอาระบบรัฐสภามาใช้ตั้งแต่ปี 2475 และมีปัญหาหลายเรื่องในวังวนเดิม คือ อำนาจเดี่ยว พรรคคุมเสียงข้างมาก ฝ่ายค้านถูกไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องสร้างองค์กรขึ้นมาถ่วงดุล คือ สว. เหมือนเช่น ฝรั่งเศส ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมท้องถิ่น เพื่อดุลอำนาจกับส่วนกลาง ซึ่งหลายประเทศมีข้อจำกัดในการออกแบบถ่วงดุลยภาพ

อย่างไรก็ดี บริบทสังคมไทย ระบบรัฐสภาในร่างรัฐธรรมนูญไทย จะเทียบอังกฤษหรือตะวันตกคงไม่ได้ เพราะไทยมีระบบอุปถัมภ์ รวมทั้ง ที่มา สส. สว. ที่ผ่านมาใช้ระบบคู่ขนาน และทิศทางการใช้ระบบจัดสรรปันส่วน ทิศทางการเมืองเสียงข้างมากอาจไม่มีความเป็นพรรค ไทยจะใช้เป็นประเทศแรกหรือไม่ ไม่ทราบ แต่เป็นปัญหาในหลักทฤษฎีพอสมควร

บรรเจิด ขยายความว่า ถ้ามองภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความพยายามให้เกิดกลไกถ่วงดุลยภาพ แต่ให้อำนาจไปอยู่องค์กรข้างนอก อาทิ กกต. ศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ อนาคตจะเห็นว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่มี อาจไปยื่นคำร้องแทน ความพยายามทำสิ่งเหล่านี้มีน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงแนวความคิดเรื่องการถอดถอนพ้นจากตำแหน่งไปใช้หลักจริยธรรมร้ายแรง

"ถ้ามองรวมเราจะเห็นว่าดุลยภาพอำนาจทั้งฝ่าย นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไม่เปลี่ยน แค่ สว.ไม่มีอำนาจถอดถอนแต่ให้ไปอยู่ศาล แล้วปรากฏการณ์หลังจากนี้เป็นอย่างไร เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายการเมือง อยากให้ย้อนดูรัฐธรรมนูญ ปี 2540 นำไปสู่อะไร และรัฐธรรมนูญนี้จะย้อนประวัติศาสตร์ชี้ไปทั้ง ครม.ได้เลย"

ด้าน พงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นการข่มขืนใจคนทั้งหมด หากเป็นวิธีเลือก คนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ เหมือนต่างประเทศใช้ น่าจะเหมาะสมกว่า

ทั้งนี้ สิ่งที่ กรธ.ต้องการเห็น คือ รัฐบาลผสม แต่สิ่งที่ตามมานอกจากบังคับใจคน จะเกิดความไม่สามัคคีของผู้สมัครในพรรคเดียวกัน ทำให้ไม่ส่งผลดีต่อประชาธิปไตย อีกทั้งจะเกิดก๊ก เกิดเหล่าในพรรคเดียวกัน เพราะความสามัคคีพรรคมีผลต่อการทำงาน

นอกจากนี้ เรื่องที่มา สว.และพยายามทำให้ปลอดอิทธิพลทางการเมือง ฟังแล้วประหลาด ฝืนธรรมชาติ แต่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ตรงนี้ไม่ค่อยมีเหตุผล โดยเฉพาะการให้มี สว.เลือกกันเองจะใช้ได้หรือไม่ และคอยดูคนเข้าสมัครมีวงจำกัด หากรวมกลุ่มสมัครช่วยกัน จะเลี่ยงปัญหาดังกล่าวไม่ได้ เพราะ สว.อำนาจเยอะ ถ้าอำนาจน้อยคนไม่ดิ้นรน