posttoday

7เงื่อนไข เผด็จการอยู่ยาว

25 มิถุนายน 2559

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาทางวิชาการ

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “84 ปี 2475 อนาคตประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย” โดย สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นว่า 84 ปี 2475 เท่ากับ 7 รอบ (ประชาธิปไตย) ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยมี 3 กลุ่ม

1.จะเอาเลือกตั้งไม่เอาเผด็จการ 2.ยังไม่เลือกตั้ง เพราะกลัวเสียของ และ 3.ไทยเฉย ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้จะชี้ชะตาในวันที่ 7 ส.ค. ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ แต่การมาถึงจุดนี้ ย้อนหลังกลับไป 48 ปี ประชาธิปไตย ตรงกับปี 2523 คือ การเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่เริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยแท้จริงไม่เคยลงเลือกตั้ง

ทว่า ช่วงครบรอบ 60 ปีประชาธิปไตยตรงกับปี 2535 ในช่วงพฤษภาทมิฬ ถือเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยให้เป็นหลักสากลมากขึ้น จนเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า 96 ปี ประชาธิปไตยจะเจอยุคเปลี่ยนผ่าน และมีปัญหาท้าทายหลายเรื่องในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ คนจนรากหญ้าตื่นรู้ทางการเมืองมากกว่าคนชั้นกลางและสูง, คนชั้นกลางสิ้นศรัทธาต่อประชาธิปไตย

สติธร ระบุว่า 7 เงื่อนไขที่ทำให้การปกครอง (ทุกรูปแบบ) “อยู่ยาว” หรือเผด็จการ อยู่ต่อไปได้ คือ 1.ทำให้ภาคประชาสังคมรู้ว่ามีพื้นที่ในการต่อสู้ และรู้สึกว่าข้อเรียกร้องบางอย่างได้รับการตอบสนองผ่านการกำหนดนโยบายของรัฐ

2.โครงสร้างสถาบันการเมือง ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอำนาจการตัดสินใจมิได้รวมศูนย์ผูกขาดอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ประชาชนมีส่วนแบ่งในการใช้อำนาจดังกล่าวบ้างในบางเรื่อง บางเวลา 3.การรักษาสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่เผชิญวิกฤตร้ายแรง เพื่อทำให้ประชาชนและนักลงทุนเกิดความมั่นใจ

4.โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่าง รัฐ เอกชน และประชาชน 5.ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยลง 6.ฉวยประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ ทำให้รู้สึกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำไม่ถูกคุกคามเกินไป และ 7.การรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวในการตอบสนองข้อเรียกร้องหรือมาตรการตอบโต้ของนานาชาติ

ด้าน สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประชาธิปไตยของประเทศไทย แบ่งได้ 3 ระลอก คือ 1.ช่วงปี 2475 2.ช่วง 14 ตุลาฯ 2516 และ 3.ช่วงพฤษภา 2535 ซึ่งหลายคนคิดว่าการรัฐประหารเมื่อปี 34 จะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ส่วนตัวไม่เคยเชื่อแบบนั้น เพราะหลายอย่างยังมีจุดอ่อน

กระทั่งการรัฐประหารล่าสุดปี 2557 เห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่มีมาก เชื่อว่าเป็นการสถาปนาอำนาจนิยมชุดใหญ่ที่สุด ดังนั้น ถ้าโลกตะวันตกกดดันไทย ก็มีทางออก คือ จีนและรัสเซีย ทั้งนี้ อำนาจนิยมที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่นั้น จะอยู่ได้นานขึ้น มีปัจจัย 3 คือ 1.เข้ามาสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ 2.ล้างการทุจริตคอร์รัปชั่น และ 3.สร้างมิติใหม่ทางสังคม แต่ถ้าให้สัญญาไว้มาก แล้วทำไม่ได้ การล่มสลายของเผด็จการในประเทศในแถบละตินอเมริกาก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง

ดังนั้น สิ่งที่ต้องตอบในขณะนี้ คือ จะจัดการกับรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะดูแล้วฝ่ายผู้มีอำนาจกลัวการสูญเสียอำนาจ

“จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย กลัวการจัดสรรอำนาจใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้ชนชั้นล่างมีอำนาจมากขึ้น และเงื่อนไขเรื่องรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การประนีประนอมได้ต้องคิดใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งครั้งใหม่ ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างในกองทัพ โดยเฉพาะขอบเขตกฎหมายทหารต้องออกแบบใหม่ ทั้งต้องจัดการมรดกของเผด็จการ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงต้องปฏิรูปการเมือง เช่น บทบาทฝ่ายค้าน ที่เคยมีปัญหา”

ขณะที่ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท้าวความว่า ภาพรวมประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ของโลกในการทำรัฐประหาร หรือประมาณ 18 ครั้งในประเทศ โดยระบอบเผด็จการทหารเริ่มตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนระบอบเปลี่ยนแปลงการเมือง

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การเมืองปี 2475-2490 มีข้อถกเถียงว่าเป็นรัฐประหารทั้งคู่ แต่มันคือเป็นการเปลี่ยนระบอบ แต่ยังมีลักษณะแบ่งปันอำนาจ แต่หลังปี 2475 มีการแบ่งปันอำนาจ ซึ่งระบอบที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นของทหาร

ทว่า การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2516 เรื่อยมาถึงปี 2519 จนกระทั่งปี 2534 มีความพยายามเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง และเกิดระบอบทหาร แต่ก็พังลงมา ดังนั้น ความไม่มีเสถียรภาพเกิดขึ้นตลอด แต่เป็นคำถามว่าเปลี่ยนผ่าน เสถียรภาพเกิดจากอะไร ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ใช่คำตอบ สรุปเผด็จการล้มยากกว่าประชาธิปไตย และจะทำอย่างไรให้ไปไกลจากวงจรอุบาทว์ ซึ่งคำถามใหญ่คือทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเป็นกติกาเดียวกันในสังคม