posttoday

ศก.โลกวุ่นยาวหลัง‘เบร็กซิต’ แบงก์ชาติผนึกกำลังรับผันผวน

25 มิถุนายน 2559

ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกต่างเผชิญความผันผวนอย่างหนักเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียู หรือ “เบร็กซิต” ได้รับชัยชนะในการทำประชามติ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกต่างเผชิญความผันผวนอย่างหนักเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลัง ฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือ “เบร็กซิต” ได้รับชัยชนะในการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. โดยตลาดหุ้นทั่วยุโรปเปิดตลาดดิ่งลงอย่างรุนแรงมากกว่า 7% ตามหลังตลาดหุ้นทั่วเอเชียมุ่งสู่แดนลบกันถ้วนหน้าไปก่อนหน้านี้แล้ว

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ดัชนีนิกเกอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ร่วงลงไปราว 8% ก่อนปิดตลาดลดลง 7.92% หรือ 1,286.33 จุด อยู่ที่ 14,952.02 ต่ำที่สุดตั้งแต่หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 หลังความวิตกต่อเบร็กซิตทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นไปหลุดระดับ 100 เยน/เหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013

ขณะที่ค่าเงินปอนด์กำลังอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 31 ปี โดยเป็นผลมาจากเบร็กซิตและลดค่าไปมากกว่าในปี 1985 ด้านค่าเงินอื่นๆ ทั่วโลกก็ประสบความผันผวนไม่แพ้กัน โดยค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เยน/เหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 ส่งผลให้ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดแดนลบ

ศก.โลกวุ่นยาวหลัง‘เบร็กซิต’ แบงก์ชาติผนึกกำลังรับผันผวน นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน อำลาตำแหน่ง

 

จอห์น วู้ดส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิก ธนาคารเครดิตสวิส เปิดเผยว่า เบร็กซิตเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ธนาคารกลางเคลื่อนไหวรับเบร็กซิต

ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ยืนยันจะเริ่มดำเนินแผนการฉุกเฉิน รวมถึงทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังอังกฤษและธนาคารกลางประเทศอื่นอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินและการคลัง ก่อนประกาศเตรียมอัดฉีดสภาพคล่อง 2.5 แสนล้านปอนด์ (ราว 12 ล้านล้านบาท) เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ออกมาส่งสัญญาณพร้อมจะอัดฉีดสภาพคล่องทันทีหากมีความจำเป็น

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า เตรียมเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงินหลังค่าเงินฟรังก์สวิส ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงจากความกังวลเบร็กซิต โดยแข็งค่าขึ้นไป 1.06 ฟรังก์/ยูโร เมื่อเวลา 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 12.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เมื่อเทียบกับก่อนหน้านั้น 7 ชั่วโมง ที่ซื้อขายอยู่ที่ 1.10 ฟรังก์สวิส/ยูโร

ด้านธนาคารกลางสิงคโปร์ เปิดเผยว่า เตรียมจะควบคุมความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเหรียญสิงคโปร์ และจะเตรียมอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่ระบบธนาคารหากมีความจำเป็น แม้ในขณะนี้สภาพคล่องของภาคธนาคารจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากธนาคารกลางในแต่ละประเทศแล้ว รอยเตอร์สยังรายงานว่า หน่วยงานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาทิ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (จี7) ยังได้เรียกประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีช่วยการคลังของทั้ง 7 ชาติ ในเวลา18.30 น. ตามเวลาประเทศไทยเมื่อวานนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือเพิ่มเติมรับมือความผันผวนจากสถานการณ์เบร็กซิต

ศก.โลกวุ่นยาวหลัง‘เบร็กซิต’ แบงก์ชาติผนึกกำลังรับผันผวน ฝ่ายสนับสนุนอียูผิดหวังต่อผลที่ออกมา

 

ขณะที่สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำระดับโลกทั้ง 3 แห่ง พร้อมใจกันแสดงความเห็นในด้านลบ โดย ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า เกือบทุกภาคส่วนในอังกฤษมีมุมมองความน่าเชื่อถือเป็นลบ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางของอังกฤษอ่อนแอลง รวมถึงความไม่แน่นอนด้านการลงทุนและการเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่ ซึ่งจะส่งผลเชิงลบปานกลางต่ออันดับเครดิตประเทศของอังกฤษ โดยฟิทช์จะปรับทบทวนในอีกไม่นานนี้

ด้าน บริษัท สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส มองว่ามุมมองความน่าเชื่อถือของอังกฤษที่ระดับ AAA ไม่มีความสมเหตุสมผล หลังจากการลงประชามติออกจากอียู ขณะที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เปิดเผยว่า เบร็กซิตเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเรตติ้งของอังกฤษ เนื่องจากจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นเวลานาน ซึ่งกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดทุน

บีโอเจพร้อมกระตุ้นหลังเยนทะลุ 100

ค่าเงินเยนถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงในระดับที่ไม่ได้เห็นมาตั้งแต่ปี 2013 จนนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ และทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ต้องออกแถลงการณ์เพื่อปลอบขวัญตลาด แสดงความกังวลต่อค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยแถลงการณ์ว่า เตรียมพร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อรับมือกับตลาดที่ผันผวนอย่างรุนแรง ซึ่งหมายรวมถึงการเตรียมการสวอปค่าเงินระหว่างธนาคารกลางของ 6 ชาติประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งหมายรวมถึงสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ยูโร ปอนด์ของอังกฤษ ฟรังก์สวิส และเหรียญแคนาดา

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระบุว่า ระดับค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นไปอยู่ระดับต่ำกว่า 100 เยน/เหรียญสหรัฐ นั้น แข็งค่ายิ่งกว่าระดับ 121 เยน/เหรียญสหรัฐ ก่อนหน้าที่บีโอเจจะตัดสินใจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงติดลบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา

ทาคุจิ โอคุโบ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทที่ปรึกษา เจแปน แมโคร แอดไวเซอร์ส เปิดเผยว่า แม้ญี่ปุ่นจะถูกนานาชาติกดดันในเรื่องการเข้าแทรกแซงค่าเงิน แต่เบร็กซิตจะช่วยให้ญี่ปุ่นมีข้ออ้างในการจัดการค่าเงินเยนที่แข็งค่าเกินไป และสามารถอ้างได้ว่าเป็นการปลอบขวัญตลาดที่
ตระหนกหลังเบร็กซิต

“แม้การเข้าแทรกแซงครั้งนี้จะไม่ได้รับผลสะท้อนกลับจากนานาชาติ แต่ญี่ปุ่นไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแก้ไขการแข็งค่าของค่าเงินในครั้งนี้” ทาคุจิ กล่าว

จับตานโยบายเฟดครึ่งปีหลัง

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ได้ยื้อการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.นี้เอาไว้ โดยเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะความเสี่ยงในการแยกตัวของอังกฤษจะทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินปอนด์และยูโร

มันซูร์ โมฮี-อุดดิน นักกลยุทธ์จากธนาคารอาร์บีเอสในสิงคโปร์ คาดการณ์ว่า ค่าเงินเหรียญสหรัฐจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลก จากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง ทำให้เฟดต้องพิจารณาผลกระทบของอังกฤษ และอาจทำให้ไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ค.

โรเบอร์โต เพอร์ลี หุ้นส่วนของคอร์เนอร์สโตน มาโคร บริษัทวิจัยข้อมูลด้านการลงทุน และอดีตเจ้าหน้าที่เฟด กล่าวว่า การตัดสินใจของเฟดขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์มีความรุนแรงมากแค่ไหน และจะดำเนินไปนานเท่าไร ปัญหาในขณะนี้คือยังมีสิ่งมากมายที่ไม่สามารถคาดเดาได้